อานิสงส์สงคราม! สหรัฐฯ โกยเงินจากการขายอาวุธทุบสถิติในปี 2023

30 มกราคม 2567 - 04:32

us-weapons-sales-abroad-hit-record-high-in-2023-ukraine-war-SPACEBAR-Hero.jpg
  • การรุกรานยูเครนของรัสเซียกระตุ้นความต้องการอาวุธที่เพิ่มขึ้นของประเทศต่างๆ ในยุโรป

  • เพื่อนบ้านของยูเครนอย่างโปแลนด์ทำการซื้อครั้งใหญ่ที่สุด เพราะพยายามขยายกำลังทหาร

  • นอกจากในยุโรปแล้วยังมีเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นที่ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มาเป็นแรงหนุน

สำนักข่าว BBC รายงานว่า การขายอาวุธของสหรัฐฯ ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่แล้ว โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 238,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.42 ล้านล้านบาท) เนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้กระตุ้นความต้องการดังกล่าว 

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ เจรจาการขายโดยตรงมูลค่า 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.86 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 56% จากปี 2022 ส่วนที่เหลือเป็นการขายตรงของบริษัทป้องกันประเทศสหรัฐฯ ไปยังต่างประเทศ” 

“ในขณะนี้เพื่อนบ้านของยูเครนอย่างโปแลนด์ซื้ออาวุธครั้งใหญ่ที่สุด เพราะพยายามขยายกำลังทหาร โดยซื้อเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่เป็นมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.24 แสนล้านบาท) และยังซื้อระบบจรวดปืนใหญ่ (High Mobility Artillery Rocket Systems / Himars) 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.53 แสนล้านบาท) และซื้อรถถังเอ็ม 1 เอบรามส์ (M1A1 Abrams) 3.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.32 แสนล้านบาท)” กระทรวงฯ ระบุ 

นอกจากนี้โปแลนด์ยังใช้เงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.41 แสนล้านบาท) ไปกับระบบบัญชาการรบป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการ โดยนายกฯ ดอนัลต์ ตุสก์ ให้คำมั่นว่าจะดำเนินโครงการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้โปแลนด์เป็น ‘กองกำลังทางบกที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุโรป’ 

ขณะเดียวกัน เยอรมนีก็ทุ่มเงิน 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 แสนล้านบาท) ไปกับเฮลิคอปเตอร์ชีนุก ส่วนบัลแกเรียซื้อยานเกราะสไตรเกอร์ (Stryker armoured vehicles) 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.3 หมื่นล้านบาท) นอร์เวย์ซื้อเฮลิคอปเตอร์หลายภารกิจมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.53 หมื่นบาท) และสาธารณรัฐเช็กซื้อเครื่องบินขับไล่ (F-35 jets) และยุทโธปกรณ์มูลค่า 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.98 แสนล้านบาท) 

“การเคลื่อนย้ายอาวุธและการค้าด้านกลาโหมเป็นเครื่องมือนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีผลกระทบระยะยาวต่อความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลก” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในบันทึกประจำปีที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (29 ม.ค.) 

นอกจากนี้ ยอดขายยังได้รับแรงหนุนจากการที่ประเทศต่างๆ หันหลังให้กับรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศขายอาวุธรายใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ มานานหลายทศวรรษ “อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของรัสเซียกำลังล้มเหลวและยังคงล้มเหลวต่อไป” มิรา เรสนิค กล่าว  

ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแย้งว่า “การสนับสนุนของอเมริกาต่อยูเครนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการขายอาวุธ ถึงกระนั้น สมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ ก็ยังเต็มใจที่จะยุติการสนับสนุนโดยตรงต่อยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ…” 

นอกจากในยุโรปแล้ว รายงานอาวุธยังเผยให้เห็นว่าเกาหลีใต้ก็ซื้อเครื่องบินขับไล่ (F-35 jets) 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.76 แสนล้านบาท) ออสเตรเลียซื้อเครื่องบินขนส่งทางทหาร (C130J-30 Super Hercules) 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.22 แสนล้านบาท) และญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงซื้อเครื่องบินแจ้งเตือนทางอากาศ (E-2D Hawkeye) มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.53 หมื่นล้านบาท)  

Photo by Genya SAVILOV / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์