ปอดพังเหมือนกัน สูบแบบไหนก็ไม่ดี! วิจัยชี้บุหรี่ไฟฟ้าแย่พอกับบุหรี่มวน

9 ก.ย. 2567 - 10:11

  • งานวิจัยล่าสุดเผยว่า ‘การสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อปอดของคนหนุ่มสาวได้ไม่แพ้การสูบบุหรี่มวน’

  • งานวิจัยดังกล่าวได้ทดสอบและทำการเปรียบเทียบผู้คน 3 กลุ่มระหว่างผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า ผู้สูบบุหรี่มวน และผู้ไม่สูบบุหรี่ ด้วยการออกกำลังกายอย่างหนัก

  • และพบว่าผู้สูบบุหรี่ทั้งสองกลุ่มมีสมรรถภาพร่างกาย ‘น้อยกว่า’ และหายใจไม่สะดวก ‘มากกว่า’ คนที่ไม่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่เหล่านี้เลย

vaping_damages_young_peoples_lungs_as_much_as_smoking_SPACEBAR_Hero_4b3719f60a.jpg

เป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอีกครั้งในงานวิจัยที่บอกว่า ‘การสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อปอดของคนหนุ่มสาวได้ไม่แพ้การสูบบุหรี่มวน’  

งานวิจัยดังกล่าวได้ทดสอบและทำการเปรียบเทียบผู้คน 3 กลุ่มระหว่างผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า ผู้สูบบุหรี่มวน และผู้ไม่สูบบุหรี่ ด้วยการออกกำลังกายอย่างหนัก โดยพบว่ากลุ่มสูบบุหรี่ทั้งสองกลุ่มมีสมรรถภาพร่างกาย ‘น้อยกว่า’ และหายใจไม่สะดวก ‘มากกว่า’ คนที่ไม่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่เหล่านี้เลย 

ดร.อาซมี ไฟซาล และเพื่อนร่วมงานของเขาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโพลิแทน ได้ขอให้ผู้คนจำนวน 60 คนในวัย 20 ปี ทำการทดสอบด้วยการปั่นจักรยานออกกำลังกายแบบอยู่กับที่ : 

  • คนไม่สูบบุหรี่ 20 คน 
  • คนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างน้อย 2 ปี 20 คน 
  • คนสูบบุหรี่มวนมาอย่างน้อย 2 ปี 20 คน

ทั้งนี้พบว่า ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีความสามารถในการออกกำลังกายสูงสุดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 186 วัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับผู้สูบบุหรี่มวน 182 วัตต์ แต่ ‘ต่ำกว่า’ ผู้ไม่สูบบุหรี่มากอยู่ที่ 226 วัตต์ (การทดสอบนี้วัดปริมาณการออกกำลังกายสูงสุดที่บุคคลหนึ่งสามารถทำได้) 

นอกจากนี้ ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ายังมีความสามารถในการหายใจรับออกซิเจนเข้าไปได้ ‘น้อยกว่า’ ที่ปริมาณ 2.7 ลิตร/นาที ขณะที่ผู้สูบบุหรี่มวนสูดได้ 2.6 ลิตร/นาที ส่วนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เลยอยู่ที่ 3 ลิตร/นาที

“การศึกษานี้เป็นการเพิ่มหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเวลานานนั้นเป็นอันตราย และท้าทายความคิดที่ว่า ‘การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นทางเลือกที่ส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าการสูบบุหรี่มวน’ ”

ไฟซาลและผู้เขียนร่วมของการศึกษา กล่าว

“จากการตรวจเลือดและอัลตราซาวนด์ พบว่า ทั้งผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าและผู้ที่สูบบุหรี่มวนต่างก็แสดงสัญญาณว่า หลอดเลือดของพวกเขาทำงานได้ไม่ดีเท่ากับกลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่ทั้ง 2 ชนิดนี้เลย...ผู้สูบบุหรี่มวนและผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะหายใจลำบากมากขึ้น มีอาการขาล้าอย่างรุนแรง และมีระดับแล็กติกในเลือดสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณของความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ แม้ว่าจะยังไม่ถึงระดับการออกกำลังกายสูงสุดก็ตาม”  ไฟซาล กล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สัดส่วนผู้ใหญ่ในอังกฤษที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.2% ในปี 2014 เป็น 11% โดยผู้สูบบุหรี่จำนวนมากมักสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ ทั้งนี้พบว่า สัดส่วนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีอายุระหว่าง 11-17 ปีกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเดียวกันจาก 1.3% เป็น 7.6%

“บุหรี่ไฟฟ้ามีจำหน่ายในราคาถูกและมีหลากหลายรสชาติเพื่อดึงดูดใจคนรุ่นเยาว์ ส่งผลให้เราได้เห็นคนหนุ่มสาวมีพฤติกรรมเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพของพวกเขาจะเป็นอย่างไร...แพทย์และผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องทราบเกี่ยวกับความเสี่ยงของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเราควรทำทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้หลีกเลี่ยงหรือเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า”

ดร.ฟิลิปปอส ฟิลิปปิดิส ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าว

รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะใช้ร่างกฎหมายยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปราบปรามการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับเด็กที่ละเลยคำเตือนเหล่านี้ รวมถึงการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์