บัตรเครดิตไร้ค่า เมื่ออัตราเงินเฟ้อทะลุเพดาน

12 พ.ค. 2566 - 07:21

  •  เมื่อรายได้ลดลงและค่าครองชีพสูงขึ้น บัตรเครดิตจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวเวเนซุเอลาในการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยา แต่มันกำลังจะไร้ค่า

  • รัฐบาลเวเนซุเอลาออกคำสั่งให้ธนาคารท้องถิ่นปล่อยกู้ได้สูงสุดแค่ 27% ของกระแสเงินสดที่ผู้กู้มีอยู่ในธนาคาร

  • เงินเฟ้อต่อปีของเวเนซุเอลาอยู่ที่ 234%

venezuelans-inflation-credit-card-useless-SPACEBAR-Thumbnail
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า บัตรเครดิตในเวเนซุเอลา กลายเป็นสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้เลยสักนิดเดียว เนื่องจากรัฐบาลออกมาตรการคุ้มเข้มการปล่อยสินเชื่อ และอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานสูงมาก ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย 

รัฐบาลเวเนซุเอลาออกคำสั่งให้ธนาคารท้องถิ่นปล่อยกู้ได้สูงสุดแค่ 27% ของกระแสเงินสดในธนาคาร ทำให้บรรดาธุรกิจท้องถิ่นต้องไปขอสินเชื่อในต่างประเทศ และแม้ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร จะผ่อนคลายการควบคุมสกุลเงินในปี 2019 และอนุญาตให้ธนาคารในประเทศเปิดบัญชีสกุลเงินดอลลาร์ได้ แต่ข้อจำกัดด้านสินเชื่อก็ยังมีอยู่มาก 

เนื่องจากรายได้ลดลงและค่าครองชีพสูงขึ้น บัตรเครดิตจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหลายๆ คนในการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยา แต่ธนาคารก็ไม่ให้วงเงินสินเชื่อเพิ่ม แถมธนาคารบางแห่งตัดสินใจเลิกใช้บัตรเครดิต 

ทางการเวเนซุเอลา ระบุว่า บัตรเครดิตมีสัดส่วนเพียง 2% หรือเทียบเท่ากับประมาณ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐของพอร์ตสินเชื่อของธนาคารทุกแห่งในประเทศ  นับจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.ปี 2022 เทียบกับปี 2012 ที่ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 12% 

รัฐบาลของมาดูโรดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ เช่น เพิ่มอุปทานของเงินตราต่างประเทศ จำกัดสินเชื่อ ลดการใช้จ่ายสาธารณะ และเพิ่มภาษี ตามมาด้วยการที่ธนาคารกลางสั่งให้สถาบันการเงินแช่แข็งเงินฝาก 73% ของที่มีอยู่ แม้จะมีมาตรการต่างๆ แต่ราคาก็พุ่งสูงขึ้นเมื่อสิ้นปี 2022 ทำให้อัตราเงินเฟ้อต่อปีอยู่ที่ 234% 

ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขนาดนี้ บวกกับข้อจำกัดของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนหาหนทางเลี้ยงปากท้องด้วยค่าจ้างเพียงหยิบมือ บัตรเครดิตจึงกลายเป็นสิ่งไร้ค่าบนแผ่นดินเวเนซุเอลาไปโดยปริยาย 

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2023 เดลซี โรดริเกซ รองประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ระบุว่า เงินเฟ้อเวเนซุเอลา แตะ 234% ในปี 2022 แสดงถึงการชะลอตัวจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ประเทศในอเมริกาใต้กำลังต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่ลึกและยาวนาน 

ในการประชุมกับผู้นำทางธุรกิจของตุรกีและเวเนซุเอลา ธนาคารกลางของเวเนซุเอลาได้เผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้เห็นไม่บ่อยนัก และไม่ได้ให้ข้อมูลเงินเฟ้อตั้งแต่เดือนต.ค. และเป็นเวลาหลายเดือนที่ประธานาธิบดีมาดูโร สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคได้ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่เข้มงวด รวมถึงการยึดอัตราแลกเปลี่ยน การจำกัดการใช้จ่ายของประชาชน และเพิ่มภาษี 

แต่กลยุทธ์ดังกล่าวก็สะท้อนถึงรอยร้าวตั้งแต่เดือนพ.ย. เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากสกุลเงินโบลิวาร์ของประเทศอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ การใช้จ่ายของรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน และความต้องการเงินดอลลาร์ก็แซงหน้าเงินสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลาง 

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งให้ความเห็นว่า เวเนซุเอลามีความเสี่ยงที่จะกลับเข้าสู่ช่วงของภาวะเงินเฟ้อรุนแรงอีกครั้ง โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 2021 สูงกว่า 686% 

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุว่า ที่ผ่านมา เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ราคาอาหารแพงที่สุดในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและนับจนถึงเดือนก.ย.ปี 2022 (ข้อมูลที่หาได้ล่าสุด) ระบุว่า ราคาอาหารในประเทศนี้เพิ่มขึ้น 110.4%  และมีอาร์เจนตินาตามมาเป็นอันดับ 2 คือ 86.6%
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2487l6RWKuyz7DKo1FUaWO/88b9cf0078e8b6ee9039cc8e543a094e/info_venezuelans-inflation-credit-card-useless__1_
ส่วนสามประเทศที่มีราคาอาหารถูกที่สุดในช่วงเวลาเดียวกันคือโบลิเวีย 2.2% ปานามา 5% และเอกวาดอร์ 7.1% ขณะที่อัตราเฉลี่ยราคาอาหารรายปีในภูมิภาคละตินอเมริกาอยู่ที่ 43.9% ในเดือนก.ย.ปี 2022 ส่วนทั่วโลกไม่เกิน 23%

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์