ในยุคที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพระบาดหนักทั่วบ้านทั่วเมืองในขณะนี้ แถมขยันทำงานแบบไม่มีวันหยุด แม้แต่วันหยุดนักขัตฤกษ์ เว็บไซต์อัลจาซีราห์ก็นำเสนอเรื่องราวชีวิตสุดโหดและแสนจะรันทดของกลุ่มนักศึกษาชาวเมียนมาที่ถูกหลอก และไปติดกับอยู่ในตึกที่ถูกใช้เป็นฐานการดำเนินงานใหญ่ของเหล่าอาชญากรทางไซเบอร์ หรือเหล่ามิจฉาชีพทางออนไลน์ที่เป็นทุนจีนสีเทาในเมืองเล่าก์ก่าย
เมื่อเดือนต.ค.ปี 2021 หล่า อัง เดินทางจากรัฐคะฉิ่นในเมียนมาไปเล่าก์ก่าย เมืองเอกของเขตปกครองพิเศษโกก้าง ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ติดกับชายแดนจีน เพื่อไปทำงานในคาสิโนแห่งหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นว่าถูกหลอกไปทำงานในธุรกิจแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของกลุ่มทุนจีนสีเทา ซึ่งตั้งอยู่ที่นั่น
สถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนพ.ค.ระบุว่า ธุรกิจหลอกลวง หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และภายในช่วงปลายปี 2023 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจหลอกลวงในภูมิภาคใช้การฉ้อฉลทางออนไลน์ปล้นเงินจากคนทั่วโลกคิดเป็นปีละ 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กลุ่มคลังสมองกลุ่มนี้ยังระบุว่า เครือข่ายอาชญากรรมมีแหล่งกำเนิดในจีนและพึ่งพาคนงานหลายแสนคนจากกว่า 60 ประเทศในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าในแต่ละวัน และส่วนใหญ่คนที่ถูกหลอกมาทำงานด้วยจะมีสภาพเหมือนถูกขังคุกและมีบางกรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางร่างกาย หรือถูกทรมานเพื่อให้คนเหล่านี้เชื่อฟัง ยอมทำตามคำสั่ง
เมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่ไร้กฎระเบียบมาตั้งแต่เดือนก.พ.ปี 2021 เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาก่อรัฐประหาร กลายเป็นศูนย์กลางการก่ออาชญากรรมที่สำคัญของโลกไปแล้ว
หล่าเหมือนกับคนงานอื่นๆ อีกหลายพันคนที่มาทำงานในเล่าก์ก่าย เขาถูกกักบริเวณในตึกสูงและถูกบังคับให้หลอกลวงเหยื่อในต่างประเทศ ด้วยวิธีที่เรียกว่า “หลอกหมูขึ้นเขียง” เป็นการโจมตีเหยื่อคล้ายวิธีการเลี้ยงหมูในฟาร์มเพื่อเป็นอาหาร โดยจะขุนเหยื่อให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ก่อนเชือดนิ่มๆ การหลอกลวงส่วนใหญ่จะเน้นที่สกุลเงินดิจิทัล แต่ก็มีบางประเภทที่เป็นการซื้อขายในรูปเงินสกุลอื่น
อาชญากรเหล่านี้คือพวกสแกมเมอร์ที่ติดต่อกับเหยื่อผ่านการส่งข้อความทาง SMS หรือผ่านเครือข่ายสังคมในโลกออนไลน์ อย่างโปรแกรมหาคู่ หรือแพลตฟอร์มสื่อสารรูปแบบต่างๆ ที่ใช้การสนทนาพื้นฐานเหมือนว่ากำลังคุยกับคนรู้จักอยู่ หากเหยื่อหลงตอบกลับไปว่าติดต่อคนผิดแล้ว ก็จะเข้าทาง เพราะอาชญากรจะฉวยโอกาสพูดคุยและแนะนำตัว โดยหลังจากสานสัมพันธ์เรียบร้อย ก็จะเดินแผนต่อด้วยการหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อว่าการลงทุนสกุลเงินดิจิทัลสามารถสร้างรายได้มหาศาล พร้อมแนะนำให้เหยื่อได้มีส่วนร่วมในสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก
หล่าอธิบายถึงขั้นตอนการทำงานที่ไร้ความปรานีต่อเหยื่อว่า “หลังจากสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อและได้ข้อมูลทุกอย่างที่จำเป็นแล้ว เราก็แนะนำคริปโทเคอร์เรนซี ถ้าเรารู้ว่าลูกค้าไม่เคยถูกล่อหลวง เราก็จะล่อลวงพวกเขาแต่ถ้าพวกเขาถูกล่อลวงมาก่อน เราก็จะล่อลวงพวกเขาอีกเพราะเราต้องการรีดทุกอย่างจากลูกค้า เราต้องทำตามคำสั่ง”
แต่ขณะที่คนงานคนอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกับเขาถูกเฆี่ยนตีและถูกทรมาน หล่าก็พยายามทำตัวอ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไว้และทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษอย่างหนัก
หล่าเปิดใจกับอัลจาซีราห์ว่า เขาติดกับดักในธุรกิจนี้มานานสองปีครึ่งแล้ว ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และถลำลึกอยู่ในวังวนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องราวของหล่าเป็นส่วนแรกในซีรีส์ที่มีทั้งหมดสองส่วน เน้นนำเสนอสภาพความเป็นจริงในเมืองเล่าก์ก่าย หนึ่งในศูนย์กลางอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่เมืองนี้จะตกไปอยู่ภายใต้การครอบครองของกลุ่มพันธมิตรชาติพันธุ์ติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ในเดือนม.ค.และการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งตัวหล่าและคนงานอื่นๆ ต่างใช้นามแฝงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พวกเขาตกเป็นเป้าการแก้แค้นจากกลุ่มต่างๆ หรือจากกลุ่มติดอาวุธ
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือในเมียนมา ช่วงหลังเกิดการรัฐประหาร นักศึกษาหลายล้านคนพร้อมใจกันบอยคอตไม่เข้าเรียนและตลาดแรงงานอยู่ในภาวะระส่ำระสาย คนหนุ่มสาวเมียนมาจำนวนมากจึงถูกล่อลวงให้เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงเงินจากเหยื่อ
อีกกรณีคือ Htun อดีตครูสอนภาษาอังกฤษจากภูมิภาคสะกาย ทางตอนกลางของเมียนมา ที่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาหางานในตำแหน่งบริการลูกค้าในเมืองเล่าก์ก่ายในเดือนก.พ.ปี 2022
ระหว่างสัมภาษณ์งาน เจ้าหน้าที่บริษัทบอกเขาว่า งานที่ทำเป็นงานเกี่ยวกับการพูดคุยกับชาวต่างชาติทางโทรศัพท์และด้วยความที่เขามีทักษะด้านภาษาอังกฤษและใช้คอมพิวเตอร์เป็น เขาจึงได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่เดือนละ 1.5 ล้านจ๊าต (715 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งอดีตครูคนนี้บอกว่า “เงินเดือนที่บริษัทให้มาเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เขาตัดสินใจทำงานกับบริษัทนี้”
กว่าที่ Htun จะรู้ตัวว่าถูกหลอกให้มาทำงานหลอกลวงเหยื่อชาวต่างชาติให้ติดเบ็ดก็สายไปเสียแล้ว และถึงแม้เขาจะไม่พอใจแต่บรรดาเจ้านายของเขาก็บอกว่าจะอนุญาตให้เขาลาออกพร้อมทั้งจ่ายเงินชดเชยให้สองเดือน ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่น่าเชื่อถือในความคิดของเขา
การอาศัยอยู่ในตึกที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพร้อมอาวุธครบมือคุ้มกันอย่างแน่นหนา ทำให้ Htun ไม่สามารถหนีไปไหนได้เลย เขาเลยจำยอมทำงานที่นี่ต่อไปตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเที่ยงคืนสัปดาห์ละ7วัน
“ผมอยากกลับบ้าน แต่เป็นไปไม่ได้ ผมรู้สึกกดดันมาก” อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ กล่าว
ส่วนบรัง จากรัฐคะฉิ่นอีกคน เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ถูกล่อลวงให้มาทำงานลักษณะเดียวกันนี้ โดยมีหน้าที่ค้นหาหญิงมีฐานะอายุประมาณ 30-40 ปีบนสื่อโซเชียลของจีนและวีแชท แอพพลิเคชันส่งข้อความ จากนั้นก็แสดงความเห็นเกี่ยวกับโพสต์ของผู้หญิงเหล่านี้โดยใช้แอพฯแปลภาษา พร้อมทั้งส่งข้อความส่วนตัวไปหาพวกเธอ
ผู้หญิงที่ตอบรับบรังเป็นเพื่อนจะช่วยให้บรังได้รับเงิน 300 หยวน (42 ดอลลาร์สหรัฐ)และจะได้โบนัส ถ้าหากว่าการเริ่มต้นสัมพันธ์นี้นำไปสู่การล่อลวงที่ครบวงจร แต่ถ้าเขาติดต่อหญิงสาวได้ไม่ถึง10 คนต่อวัน เขาจะถูกลงโทษ
“เราได้ยินเสียงร้องครวญครางทั้งวันจากคนงานที่ถูกลงโทษหรือถูกทรมาน ถ้าวันไหนไม่ได้ยินก็จะรู้สึกแปลก และมีครั้งหนึ่งที่บรรดาเจ้านายตัดหูคนงานคนหนึ่งที่พยายามหลบหนีให้เห็นจะๆ”หล่า กล่าว
หล่าเล่าต่ออีกว่า บรรดานายจ้างที่ทำธุรกิจในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเล่าก์ก่ายมีกรงขังสิงโต เสือ หมีและนกขนาดใหญ่ ทั้งยังขู่คนงานที่ไม่เชื่อฟังว่าจะเอามาขังในกรงพวกนี้
ทั้งหล่าและบรังเชื่อว่า คนงานบางคนที่ทำงานด้วยและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ถูกนายจ้างที่พวกเขาทำงานให้ฆ่าตายและเผาร่างเพื่อทำลายหลักฐาน
Photo by KHIN MAUNG WIN / POOL / AFP