ไปอีกราย! ปธน.เวียดนาม ‘หวอวันเถือง’ ลาออกหลังดำรงตำแหน่งได้ 1 ปี

21 มีนาคม 2567 - 06:06

vietnam-president-vo-van-thuong-resigns-after-a-year-in-office-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ประธานาธิบดีหวอวันเถืองได้รับการแต่งตั้งเมื่อปีที่แล้วเพื่อเข้ารับตำแหน่งแทนประธานาธิบดีอีกคนซึ่งถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเพราะคอร์รัปชัน

  • เชื่อกันว่า ‘หวอวันเถือง’ ลาออกเนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับเรื่องอื้อฉาวการทุจริตในจังหวัดบ้านเกิดของเขา

รัฐบาลเวียดนามแถลงการณ์หลังการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อวันพุธ (20 มี.ค.) ว่า “ประธานาธิบดีหวอวันเถือง ได้ฝ่าฝืนละเมิดกฎของพรรค ส่งผลเสียต่อความคิดเห็นของประชาชน กระทบต่อชื่อเสียงของพรรค รัฐ และตัวเขาเอง” ซึ่งส่งสัญญาณถึงความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในประเทศ 

คำแถลงของรัฐบาลไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อบกพร่องของเถือง แต่การเปลี่ยนแปลงผู้นำที่สำคัญในระบบพรรคการเมืองเดียว (one-party state) เมื่อเร็วๆ นี้ ล้วนเชื่อมโยงกับการรณรงค์ต่อต้านการติดสินบนจากนโยบาย ‘เตาไฟลุกโชน’ (blazing furnace) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปราบปรามการคอร์รัปชันในวงกว้าง  

เชื่อกันว่าเถืองลาออกเนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตในจังหวัดบ้านเกิดของเขา ทั้งนี้ เถืองได้รับการแต่งตั้งเมื่อปีที่แล้วเพื่อเข้ารับตำแหน่งแทนประธานาธิบดีอีกคนซึ่งถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเพราะคอร์รัปชัน 

‘เหงียนฟู้จ่อง’ ผู้นำพรรคให้ความสำคัญกับการทุจริตว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข การเปลี่ยนแปลงผู้นำของเวียดนามจึงมักมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ดังนั้น การลาออกของประธานาธิบดี 2 คนในเวลาเพียงปีกว่า และทั้ง 2 กรณีมาจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต แสดงให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์กำลังพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับการรับสินบนที่กลายเป็นปัญหาประจำถิ่นในประเทศ 

ขณะที่ประธานาธิบดีเถืองเองก็เป็นหนึ่งใน ‘4 เสาหลัก’ ที่เป็นแกนนำในการเมืองเวียดนาม พร้อมด้วยนายกฯ และประธานรัฐสภา โดยมีเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในบรรดาเสาหลักทั้ง 4 ตำแหน่ง  แม้ว่าประธานาธิบดีจะมีอำนาจสำคัญก็ตาม  

หลังจากเถืองได้รับเลือกเมื่อปีที่แล้ว เขาก็ถูกมองว่าเป็นประธานาธิบดีที่มีความสามารถและค่อนข้างเยาว์วัย ทั้งยังมีข้อได้เปรียบจากการเป็นบุตรบุญธรรมของ ‘เหงียนฟู้จ่อง’ หัวหน้าพรรคที่ทรงอำนาจ ซึ่งเป็นผู้นำต่อต้านการทุจริต 

และเช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดีเหงียนซวนฟุก เถืองก็ถูกบังคับให้ลาออกเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องที่ไม่ระบุรายละเอียดกับเรื่องอื้อฉาวในจังหวัดบ้านเกิดของเขา แต่รัฐบาลบอกว่ามันเป็นการกระทำที่ทำลายภาพลักษณ์สาธารณะของพรรค 

ทว่าการลาออกของเถืองต้องได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการจากรัฐสภาซึ่งจัดการประชุมขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ (21 มี.ค.) 

เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ตำรวจได้ประกาศจับกุมอดีตผู้นำจังหวัดกว๋างหงาย ทางตอนกลางของเวียดนาม ซึ่งดำรงตำแหน่งขณะที่เถืองเป็นหัวหน้าพรรคที่นั่น 

นอกจากนี้ เถืองยังเคยเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรคในศูนย์กลางเศรษฐกิจโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากกลโกงทางการเงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่ดำเนินการมายาวนาน โดยถือเป็นคดีใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเวียดนาม และขณะนี้การพิจารณาคดีอยู่ระหว่างดำเนินการ 

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนว่าการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตจะไปได้ไกลแค่ไหน และผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและความเป็นผู้นำของพรรค อาจบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเวียดนามต้องพึ่งพาการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างน่าประทับใจต่อไป 

Photo by Nhac NGUYEN / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์