เวียดนามซื้อเครื่องบินรบ F-16 หลังบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ

23 เม.ย. 2568 - 10:35

  •  เวียดนามสานความสัมพันธ์ทางกลาโหมกับรัสเซียมายาวนานกว่า 70 ปี และรัสเซียเคยเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้เวียดนาม

  • เครื่องบิน F-16 มีราคาตั้งแต่ 25 ล้านถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเครื่อง

vietnam-reported-move-to-buy-us-f-16-jets-SPACEBAR-Hero.jpg

เวียดนามเตรียมซื้อเครื่องบินขับไล่ F-16 จากสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่และสิ้นสุดความสัมพันธ์ทางการทหารกับรัสเซีย 

มีรายงานว่าเวียดนามตัดสินใจซื้อเครื่องบินขับไล่ F-16 จากสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแนวทางยุทธศาสตร์ของฮานอย และอาจทำให้ความร่วมมือด้านกลาโหมที่ยาวนานหลายทศวรรษกับรัสเซียสิ้นสุดลง แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการเคลื่อนไหวนี้อาจเป็นเพียงการเอาใจสหรัฐฯ มากกว่าการเสริมศักยภาพทางอากาศจริงๆ 

สื่อด้านกลาโหมของสหรัฐฯ 19FortyFive รายงานว่า ฮานอยได้บรรลุข้อตกลงกับวอชิงตันในการจัดซื้อเครื่องบิน F-16 อย่างน้อย 24 ลำจากบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน โดยอ้างแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมและอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ หากได้รับการยืนยัน ข้อตกลงนี้จะเป็นการทำธุรกรรมทางทหารที่ใหญ่ที่สุดระหว่างสองประเทศ 

“หลังจากการเจรจายาวนาน เวียดนามกำลังจะกลายเป็นลูกค้ารายใหม่ของเครื่องบินขับไล่ F-16” 19FortyFive รายงาน แม้ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะมีการจัดซื้อไม่น้อยกว่า 24 ลำ 

เอียน สโตรี นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน ISEAS–Yusof Ishak ในสิงคโปร์ กล่าวว่า หากการขายนี้เกิดขึ้นจริง สหรัฐฯ จะกลายเป็น “พันธมิตรด้านกลาโหมที่สำคัญที่สุดของเวียดนาม” และจะถือเป็นการสิ้นสุดความสัมพันธ์กลาโหมกับรัสเซียที่มีมายาวนานกว่า 70 ปี โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา รัสเซียได้ลดบทบาทจากผู้นำหลักในนโยบายกลาโหมของเวียดนามเหลือเพียงผู้เล่นรายย่อย 

รัสเซียเคยเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้เวียดนามจนถึงปี 2022 โดยคิดเป็นประมาณ 80% ของการจัดซื้ออาวุธในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลของสถาบันสตอกโฮล์มเพื่อการวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศ (SIPRI) เวียดนามเคยประกาศในปี 2022 ว่าต้องการลดการพึ่งพาอาวุธจากรัสเซีย 

ในระหว่างการเยือนฮานอยของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในปี 2023 ทั้งสองประเทศเริ่มต้นการหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับการขายอาวุธครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นบทใหม่ของความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน 

อย่างไรก็ตาม สโตรีเตือนว่า ไม่ควรมองข้ามระดับความไว้วางใจที่กองทัพเวียดนามมีต่อรัสเซีย ซึ่งมากกว่าสหรัฐฯ มาก และยังมีคำถามหลายข้อที่ยังไม่ได้คำตอบ เช่น เครื่องบิน F-16 ที่จะได้เป็นเครื่องใหม่หรือมือสอง หากเป็นเครื่องใหม่ สหรัฐฯ พร้อมขายรุ่นล่าสุดให้หรือไม่ และถ้าเป็นมือสองจะสู้กับเครื่องบินล่องหนของจีนได้อย่างไร รวมถึงเหตุผลที่เวียดนามจะเสี่ยงยั่วยุจีนในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกำลังดีขึ้น 

ในช่วงที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เยือนฮานอยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาได้เรียกร้องความร่วมมือทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างเวียดนามและจีน ทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือหลายสิบฉบับ ขณะที่จีนกำลังเผชิญกับภาษีนำเข้าสูงถึง 145% จากสหรัฐฯ เวียดนามเองกำลังเจรจาลดภาษีที่อาจถูกบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากช่วงระงับภาษีชั่วคราว 90 วันสิ้นสุดลง 

เหงียนเถเฟือง นักศึกษาปริญญาเอกด้านความมั่นคงทางทะเลและกิจการกองทัพเรือจาก UNSW Canberra กล่าวว่า ข้อเสนอซื้อ F-16 อาจเป็น “กลยุทธ์ในการเจรจา” กับรัฐบาลทรัมป์ โดยก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ฝั่มมิญจิ๊ญ ของเวียดนามก็ประกาศว่าเวียดนามจะซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดุลการค้าระหว่างสองประเทศ 

เหงียนเถเฟืองเผยว่า เวียดนามกำลังมองหาทางเลือกแทนเครื่องบิน MiG-21 ที่ปลดประจำการไปแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่เหนือเสียงที่ออกแบบโดยโซเวียต “แต่การจัดซื้อ F-16 ในเวลานี้เป็นการตัดสินใจทางการเมืองเพื่อเอาใจรัฐบาลทรัมป์มากกว่าการเสริมสร้างกองทัพอากาศจริง” 

แม้รายงานนี้จะเป็นความจริง เหงียนเถเฟืองก็เห็นว่าเป็นไปได้ยากที่เวียดนามจะซื้อถึง 24 ลำ เพราะจำนวนนี้ดู “มากเกินไปและมีค่าใช้จ่ายสูง” ทั้งด้านการฝึกอบรม การบำรุงรักษา และระบบอาวุธที่เกี่ยวข้อง “จำนวนที่เหมาะสมกว่าน่าจะอยู่ที่ 6-8 ลำ” เขากล่าว 

เครื่องบิน F-16 มีราคาตั้งแต่ 25 ล้านถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเครื่อง ขึ้นอยู่กับการอัปเกรด 

อับดุล เราะห์มาน ยาคอบ นักวิจัยจากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบันโลวีกล่าวว่า จีนอาจมองว่าการซื้อเครื่องบินรบ F-16 ของเวียดนามเป็นการเคลื่อนไหวที่ก้าวร้าว “ฮานอยจะต้องระมัดระวังมากในการตัดสินใจซื้อ F-16 เหล่านี้”  

เราะห์มานยังชี้ว่า เวียดนามต้องพิจารณาประเด็นทางเทคนิค เช่น ความเข้ากันได้ระหว่างระบบรัสเซียและอเมริกัน และเสริมว่าเวียดนามน่าจะสนใจจัดซื้อเครื่องบินลำเลียง C-130 จากสหรัฐฯ ซึ่งมีความอ่อนไหวน้อยกว่า F-16 

เครื่องบิน F-16 เป็นเครื่องบินขับไล่ขนาดเล็กและคล่องตัว ออกแบบสำหรับการต่อสู้ทางอากาศและโจมตีพื้นดิน ขณะที่ C-130 เป็นเครื่องบินลำเลียงทหารใช้สำหรับเคลื่อนย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และเสบียง 

เราะห์มานยังกล่าวว่า แม้เวียดนามจะพึ่งพาอาวุธรัสเซียเป็นหลัก แต่ก็มีแหล่งจัดหาอาวุธและพันธมิตรด้านกลาโหมอื่นๆ เช่น อินเดียและอิสราเอล โดยเวียดนามเคยติดตั้งขีปนาวุธที่ผลิตในอิสราเอลบนเกาะที่เวียดนามควบคุมในทะเลจีนใต้ 

นอกจากนี้ เวียดนามยังไม่มีปัญหาเรื่องอุปกรณ์รัสเซีย แม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรที่จำกัดการนำเข้าอะไหล่จากรัสเซีย เนื่องจากสัญญาที่เวียดนามทำไว้กับรัสเซียครอบคลุมการจัดหาอะไหล่และการบำรุงรักษา 

 Photo by Idrees MOHAMMED / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์