เวียดนามปฏิรูปประเทศยุบจังหวัด-หน่วยงานท้องถิ่นกว่าครึ่ง หวังลดรายจ่ายรัฐบาล

19 มี.ค. 2568 - 09:09

  • จำนวนหน่วยงานบริหารระดับจังหวัดในเวียดนามจะลดลงเกือบ 50% และจำนวนหน่วยงานระดับท้องถิ่นจะลดลงมากกว่า 70% ตามร่างข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการทำงานของรัฐบาล

  • นายกฯ เวียดนามกล่าวว่า “การปรับโครงสร้างหน่วยงานบริหารมีเป้าหมายเพื่อให้รัฐบาลใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ปรับปรุงกระบวนการทำงาน และปรับปรุงบริการสาธารณะ”

vietnam-to-reduce-provincial-level-administrative-units-by-50-percent-SPACEBAR-Hero.jpg

จำนวนหน่วยงานบริหารระดับจังหวัดในเวียดนามจะลดลงเกือบ 50% และจำนวนหน่วยงานระดับท้องถิ่นจะลดลงมากกว่า 70% ตามร่างข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการทำงานของรัฐบาล 

นายกฯ ฝั่มมิญจิ๊ญ กล่าวว่า “การปรับโครงสร้างหน่วยงานบริหารมีเป้าหมายเพื่อให้รัฐบาลใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ปรับปรุงกระบวนการทำงาน และปรับปรุงบริการสาธารณะ” พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับโครงสร้างใหม่ที่ต้องการสร้างรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ปัจจุบัน เวียดนามมีจังหวัดและเมือง 63 แห่ง หน่วยงานบริหารระดับอำเภอ 696 แห่ง และหน่วยงานบริหารระดับตำบล 10,035 แห่ง   

“จังหวัดเล็กๆ ควรจะรวมกันเป็นจังหวัดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ได้ทรัพยากรด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงพื้นที่พัฒนาใหม่ๆ มากขึ้น” รองศาสตราจารย์เจิ่นดึ๊กกึง ประธานสมาคมวิทยาศาสตร์ประวัติศาสตร์เวียดนาม กล่าว  

รองศาสตราจารย์เจิ่นดึ๊กกึง เล่าว่า “ที่ผ่านมา มีการปฏิรูปการบริหารหลายครั้งในประวัติศาสตร์เวียดนาม ยกตัวอย่างในศตวรรษที่ 19 เมื่อจักรพรรดิมิญหมั่งได้ดำเนินการปฏิรูปการบริหารจากส่วนกลางเป็นระดับท้องถิ่น โดยแบ่งประเทศออกเป็น 30 จังหวัดและอีกหนึ่งเขตเถื่อเทียนเว้ การปฏิรูปดังกล่าวทำให้ระบบมีความเข้มงวดและคล่องตัวมากขึ้น”  

ในปี 2017 รัฐบาลได้ลงมติฉบับที่ 18 เกี่ยวกับการปรับปรุงและปรับโครงสร้างกลไกการเมือง แต่ด้วยเหตุผลหลายประการ จึงยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร 

ในปัจจุบัน พรรคการเมืองและรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินการปรับปรุง และปรับโครงสร้างใหม่ เนื่องจากงบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการบำรุงรักษาระบบบริหาร จึงเหลืองบเพียงเล็กน้อยในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น เราจึงต้องปรับโครงสร้างองค์กร ลดหน่วยงานบริหาร และรวมหน่วยงานที่มีหน้าที่คล้ายคลึงกัน 

ตัวอย่างเช่น การควบรวม ‘กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท’ เข้ากับ ‘กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ นั้นถือว่าสมเหตุสมผล ส่วนกระทรวงแรงงาน ผู้ทุพพลภาพ และกิจการสังคม ที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากสงครามต่อต้านเพื่อแก้ไขนโยบายของทหารผ่านศึก แต่ 50 ปีหลังจากการรวมประเทศ การปรับโครงสร้างและการยุบกระทรวงดังกล่าวก็ถือว่าสมเหตุสมผลเช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้ คาดว่าแผนริเริ่มดังกล่าวจะสร้างพื้นที่สำหรับการพัฒนา ปลดล็อกศักยภาพในท้องถิ่น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเสริมสร้างหลักการพึ่งพาตัวเองและความยืดหยุ่นของหน่วยงานบริหารท้องถิ่นในทุกระดับอีกด้วย 

การปรับโครงสร้างจะต้องดำเนินการให้เกินกรอบเกณฑ์ด้านจำนวนประชากรและขนาดที่ดิน โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ ตลอดจนภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเศรษฐกิจ 

รองศาสตราจารย์เจิ่นดึ๊กกึง กล่าวว่า “ในความคิดของผม เราไม่สามารถกำหนดจำนวนจังหวัดได้ตามอำเภอใจ แต่ควรรวมพื้นที่ที่มีขนาดเล็กเกินไป มีทรัพยากรด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ-สังคม และทรัพยากรบุคคลอย่างจำกัด ซึ่งจะทำให้จังหวัดมีพื้นที่ในการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดำเนินการควบรวม จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และแม้แต่จิตวิทยาชุมชน” 

“การตั้งชื่อจังหวัดที่ควบรวมต้องมีการอภิปรายอย่างรอบคอบ เนื่องจากเชื่อมโยงกับปัจจัยทางวัฒนธรรมที่กล่าวถึงข้างต้น สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ และมีศักยภาพในการพัฒนาที่แข็งแกร่ง จำเป็นต้องศึกษาและชั่งน้ำหนักการควบรวมอย่างรอบคอบ” รองศาสตราจารย์เจิ่นดึ๊กกึง กล่าว

“ชื่อจังหวัดใหม่ควรคงความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์เอาไว้ ขณะที่การตัดสินใจเกี่ยวกับศูนย์กลางการบริหารและการเมืองควรพิจารณาปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ศักยภาพในการพัฒนา การป้องกันประเทศ ความมั่นคง และการบูรณาการระดับโลก” ฝั่มมิญจิ๊ญ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างจะทำให้เจ้าหน้าที่จำนวนมากต้องออกจากงาน “เราต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าการปรับโครงสร้างจะทำให้มีเจ้าหน้าที่ส่วนเกินจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน ซึ่งผู้ที่ตอบสนองความต้องการก็็จะได้รับมอบหมายบทบาทตั้งแต่ระดับส่วนกลางไปจนถึงระดับตำบล...” รองศาสตราจารย์เจิ่นดึ๊กกึง กล่าว  

(Photo by Nhac NGUYEN / AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์