ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเมียนมาที่ต้องเผชิญทั้งสงครามกลางเมืองและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และประเทศแอฟริกันอีกหลายประเทศ คือกลุ่มคู่ค้าที่ต้องเจออัตราภาษีสูงที่สุดจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ
นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่มีมายาวนานหลายสิบปีและสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดสงครามการค้าโลก เมื่อทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีครั้งใหญ่วันพุธที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าออกแบบมาเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ “ถูกโกง” อีกต่อไป
“นี่คือวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่ง ในความเห็นผม ในประวัติศาสตร์อเมริกัน เป็นวันประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจของเรา”
โดนัลด์ ทรัมป์
ทรัมป์ยังเรียกวันนี้ว่า “วันปลดแอก” แต่นโยบายภาษีนี้กลับต้องเผชิญเสียงคัดค้านจากบางประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอที่สุด ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งถึงกับบอกว่า ทรัมป์น่าจะพุ่งเป้าไปที่ประเทศที่ได้รับเงินลงทุนจากจีนมากกว่าจะคำนึงถึงสถานการณ์ในประเทศนั้นๆ
ภาษีศุลกากรครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังระส่ำจากการปิดหน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชนอย่าง USAID
กัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากร 17.8% อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ตามข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คือประเทศที่เจอภาษีหนักสุดในบรรดาประเทศอาเซียนด้วยกัน (49%)
รองลงมาจากกัมพูชาคือ ลาว ที่ถูกสหรัฐฯ ถล่มอย่างหนักในช่วงสงครามเย็น ถูกทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 48% และจากข้อมูลของ ADB ลาวมีอัตราความยากจนอยู่ที่ 18.3%
ที่ไม่ทิ้งห่างกันมากคือ เวียดนาม ถูกเรียกเก็บ 46% และเมียนมา ถูกเรียกเก็บ 44% ทั้งที่กำลังเผชิญกับแผ่นดินไหวและสงครามกลางเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2021
อินโดนีเซีย ประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่สุดในอาเซียนเจอภาษีศุลกากรในอัตรา 32% ขณะที่ประเทศไทย ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ในภูมิภาค ถูกเรียกเก็บ 36%
คู่แข่งสำคัญและคู้ค่าของสหรัฐฯ อย่างจีนถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ 34% นอกเหนือจากภาษี 20% ที่ทรัมป์ประกาศมาก่อนหน้านี้
รัสเซียไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่จะถูกเรียกเก็บภาษีของทำเนียบขาว โดย สกอตต์ เบสเซ็นต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า รัสเซียไม่ได้ทำการค้ากับสหรัฐฯ จีงไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว
“เราไม่ได้ค้าขายกับรัสเซียและเบลารุส ถูกมั้ย? เพราะพวกเขาถูกคว่ำบาตร” เบสเซ็นต์ระบุ และยอมรับว่าอัตราภาษีของบางประเทศ อาทิ จีน สูงกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ระบุว่า อัตราภาษีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเจรจา
“คำแนะนำของผมคือ อย่าตอบโต้ นั่งลง แล้วยอมรับมัน แล้วมาดูกันว่ามันจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าคุณตอบโต้ สถานการณ์จะยิ่งบานปลาย หากคุณไม่ตอบโต้ นี่คือระดับที่สูงที่สุดแล้ว”
สกอตต์ เบสเซ็นต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
ศิวัศ ธรรมะ เนการา นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์เผยว่า จริงๆ แล้วภาษีศุลกากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเสียหายให้จีน
“สิ่งที่ฝ่ายบริหารคิดคือ การพุ่งเป้าไปที่ประเทศเหล่านี้จะทำให้พวกเขาพุ่งเป้าไปที่การลงทุนของจีนในกัมพูชา ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย การพุ่งเป้าไปที่สินค้าของประเทศเหล่านี้อาจกระทบกับการส่งออกและเศรษฐกิจของจีน เป้าหมายที่แท้จริงคือจีน แต่ผลกระทบจริงๆ ต่อประเทศเหล่านี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะการลงทุนนี้สร้างงานและรายได้จากการส่งออก”
ศิวัศ ธรรมะ เนการา นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute
เนการากล่าวว่า การเก็บภาษีศุลกากรจากอินโดนีเซียจะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯ และรายละเอียดว่าสหรัฐฯ จะบังคับใช้อย่างไรยังไม่ชัดเจน
Quote “(บริษัท) เสื้อผ้าและรองเท้าบางแห่งเป็นแบรนด์สินค้าของสหรัฐฯ อย่าง Nike หรือ Adidas เป็นแบรนด์สัญชาติอเมริกันที่มีโรงงานในอินโดนีเซีย พวกเขาจะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรแบบเดียวกันนี้ด้วยหรือไม่?” ศิวัศ ธรรมะ เนการา นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute
ประเทศอื่นๆ ที่ต้องเจออัตราภาษีสูงๆ คือ บรรดาประเทศในแอฟริกา รวมทั้งเลโซโท ประเทศที่ทรัมป์พูดเมื่อเดือนก่อนว่า “ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อมาก่อน” ถูกเรียกเก็บในอัตรา 50% มาดากัสการ์ 47% และบอสวานา 37% ประเทศเลโซโทซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขาที่ล้อมรอบด้วยแอฟริกาใต้ มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 4 มีผลเลือดเป็นบวก
ในเอเชียใต้ ศรีลังกาถูกเรียกเก็บ 44% ในยุโรป เซอร์เบียถูกเรียกเก็บ 37%
นอกเหนือจากภาษีตอบโต้สูงๆ ที่ทรัมป์เรียกเก็บจากบางประเทศแล้ว สหรัฐฯ ยังตั้งอัตราภาษีแบบครอบจักรวาลสำหรับสินค้านำเข้าทุกชนิด 10% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย. ส่วนภาษีตอบโต้จะมีผลในวันที่ 9 เม.ย.นี้
ทรัมป์บอกว่าอัตราภาษีเหล่านี้เป็นการตอบโต้ประเทศที่ “โกง” สหรัฐฯ มายาวนาน และว่าภาษีใหม่นี้จะทำให้การจ้างงานกลับมาที่สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การเก็บภาษีแบบหว่านไปทั่วนี้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น กระทบการจ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า และแยกสหรัฐฯ ออกจากระบบการค้าโลกที่ตัวเองก่อตั้งขึ้นมา และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกหลายทศวรรษ
“นี่คือวิธีที่คุณทำลายเครื่องยนต์เศรษฐกิจของโลกในขณะที่อ้างว่ามันกำลังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้า” ไนเจล กรีน ซีอีโอ deVere Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินระดับโลกกล่าว “ความจริงนั้นชัดเจนมาก ภาษีศุลกากรเหล่านี้จะดันให้ราคาสินค้าในชีวิตประจำวันหลายพันรายการสูงขึ้น ตั้งแต่โทรศัพท์ไปจนถึงอาหาร และนั่นจะกระตุ้นให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในช่วงเวลาที่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องจนไม่สบายใจอยู่แล้ว”
Photo by Brendan SMIALOWSKI / AFP