มกราคม 2024 ร้อนทุบสถิติ และ 12 เดือนที่ผ่านมาสูงเกิน 1.5 องศาแล้ว

15 กุมภาพันธ์ 2567 - 10:59

Warmest-January-on-record-12-month-average-over-1.5-degree-celcius-above preindustrial-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เดือนมกราคม 2024 อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงที่สุดทำลายสถิติของเดือนมกราคมทุกปี

  • เป็นครั้งแรกที่ตลอด 1 ปี โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

มกราคมปีนี้ เป็นมกราคมที่ร้อนที่สุด (อีกแล้ว) ตั้งแต่มีการบันทึกมา ยิ่งไปกว่านั้นรวม 12 เดือนที่ผ่านมา อุณหภูมิพุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามข้อตกลงปารีส ที่ทั่วโลกพยายามร่วมมือกันควบคุมมาโดยตลอด 

 ถ้าใครได้ติดตามข่าวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรู้ว่าหลายเดือนที่ผ่านมาในปีที่แล้ว (แทบทุกเดือนในช่วงปลายปี) เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดจากที่มีการบันทึกสถิติมา...และมกราคม 2024 ก็ทำลายสถิติอีกแล้ว (บันทึกข้อมูลของ ERA5 ตั้งแต่ปี 1940) อุณหภูมิอากาศพื้นผิวอยู่ที่ 13.15 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนมกราคม ปี 1991-2020 อยู่ที่ 0.70 องศาเซลเซียส และสูงกว่าเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดปี 2020 อยู่ที่ 0.12 องศาเซลเซียส  

ทำให้เมื่อคำนวณแล้วค่าเฉลี่ย 12 เดือนล่าสุด อุณหภูมิโลกสูงสุดทำลายสถิติสูงกว่าค่าเฉลี่ย ปี 1991-2020 อยู่ที่ 0.64 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงปี 1850-1900 อยู่ที่ 1.52 องศาเซลเซียส 

ซามานธา เบอร์เกส รองผู้อำนวยการ Copernicus Climate Change Service (C3S) หน่วยงานด้านสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป กล่าวว่า “ปี 2024 เริ่มต้นด้วยเดือนทำลายสถิติอีกครั้ง ไม่ใช่แค่เป็นเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดจากการบันทึก แต่เรายังประสบกับช่วง 12 เดือนที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ย มากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วเป็นทางเดียวที่จะหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก” 

ส่วนอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในเดือนมกราคมนอกภูมิภาคขั้วโลกก็พุ่งไปแตะ 20.97 องศาเซลเซียสแล้ว ซึ่งสูงที่สุดจากการบันทึกของเดือนมกราคม และเป็นอุณหภูมิรายเดือนที่สูงเป็นอันดับสองจากข้อมูลของ ERA5 ในแต่ละเดือน ซึ่งน้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2023 ที่สูงที่สุด เพียง 0.01 องศาเซลเซียส

Screenshot 2567-02-15 at 15.36.01.png
Photo: อุณหภูมิผิวน้ำทะเลรายวันเฉลี่ย พื้นที่ละติจูด 60 องศาเหนือ ถึง 60 องศาใต้ เส้นสี ปี 2015 (สีฟ้า) 2016 (สีเหลือง) 2023 (สีแดง) และ 2024 (เส้นสีดำ) ส่วนเส้นสีเทาที่เหลือ เป็นช่วงปี 1979 ถึง 2022 แหล่งข้อมูล : ERA5 ที่มา : Copernicus Climate Change Service/ECMWF

แต่หลังวันที่ 31 มกราคม ระหว่างเตรียมการทำรายงานรายเดือนฉบับล่าสุดของ C3S อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลรายวันได้ทำลายสถิติสูงกว่าจุดสูงสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ไปแล้ว ข้อมูลของ C3S ชี้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นมีบทบาทที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงในหลายเดือนที่ผ่านมา และอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลยังสูงในพื้นที่นอกเขตศูนย์สูตรมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ  

ความร้อนผิดปกติที่พบในมหาสมุทรมีส่วนสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิอากาศพื้นผิวของโลกทำลายสถิติในเดือนมกราคม  

รายงานรายเดือนฉบับล่าสุดของ C3S ยังเผยการวิเคราะห์ที่แสดงการคาดการณ์ของ C3S ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวของโลก ปี 2023 สูงกว่าช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม (1850-1900) อยู่ที่ 1.48 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับข้อมูลหลักอื่นๆที่ถูกนำไปใช้ในการเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศและใช้วิเคราะห์อีกครั้ง 

เราจะยังสามารถจำกัดโลกร้อนได้หรือไม่ 

สำหรับอัตราการปล่อยก๊าซในปัจจุบัน ซึ่งเป้าหมายของข้อตกลงปารีสคือจำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเฉลี่ยในระยะยาวมากกว่าเพียงแค่ปีเดียว ยังสามารถนำไปคิดในช่วงทศวรรษถัดไปได้ นี่น่าจะเป็นจุดสำคัญเชิงสัญลักษณ์ที่ใหญ่มาก แต่นักวิจัยกล่าวว่ามันน่าจะไม่ได้อยู่ตรงเลยขอบหน้าผา ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเหนือการควบคุม 

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้จะเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทีละน้อย อย่างคลื่นความร้อนรุนแรง ภัยแล้ง ไฟป่า และน้ำท่วม ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาก็ทำให้เรารู้รสชาติของมัน แม้จะเพิ่มขึ้นเพียงครึ่งองศา อย่างความแตกต่างระหว่าง 1.5 องศาเซลเซียส กับ 2 องศาเซลเซียส ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่เรียกว่าจุดพลิกผันได้ 

จุดเปลี่ยนเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในระบบสภาพภูมิอากาศ ถ้ามาผสานกันก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นไปได้ที่จะไม่สามารถเอาคืนกลับมาได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกตะวันตกไปถึงจุดพลิกผัน การพังทลายที่เป็นไปได้ว่าควบคุมไม่อยู่จะเป็นเหตุให้เกิดหายนะอย่างใหญ่หลวงจากระดับน้ำทะเลโลกสูงขึ้นตลอดหลายศตวรรษที่ตามมา 

แต่นักวิจัยพยายามที่จะเน้นว่ามนุษย์สามารถสร้างความแตกต่างให้กับเส้นทางของโลกร้อนได้  

การลดการปล่อยก๊าซลงครึ่งหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพภายในทศวรรษนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์