ญี่ปุ่นทำป้ายสถานีรถไฟอย่างไรให้ผู้โดยสารไม่หลง

5 ม.ค. 2566 - 09:23

  • ส่องโมเดลญี่ปุ่นออกแบบป้ายอย่างไร ให้ผู้โดยสารไม่หลงทาง

wayfinding_in_japan_train_station_sign_SPACEBAR_Thumbnail_6ba8414f35.jpeg
กลายเป็นเรื่องถกเถียงกันเป็นวงกว้าง หลายมุมหลายประเด็น ต่อกรณีการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็น ‘สถานีรถไฟกรุงเทพอภิวัฒน์’ ด้วยงบประมาณถึง 33 ล้านบาท ซึ่งต่อมาแม้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะออกมาชี้แจงรายละเอียดทุกส่วนของโครงการเปลี่ยนป้ายดังกล่าว แต่ก็ยังเกิดอีกหลายคำถามตามมา อาทิ หากเปลี่ยนชื่อสถานีแล้ว บรรดาป้ายบอกทางตามถนนหนทางต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนไปตามไปด้วยจะยิ่งกระทบเป็นวงกว้าง  

การใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท คุ้มค่าหรือไม่กับการยกระดับคุณภาพการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไปพร้อมๆ กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นเงา  

พูดถึงสถานีกลางบางซื่อตัวผู้เขียนเองก็เคยมีความจำเป็นต้องใช้บริการเส้นทางรถไฟสายสีแดงเข้ม หรือที่มีชื่อเป็นทางการ ‘ธานีรัถยา’ อยู่ช่วงระยะหนึ่ง  

สิ่งที่ผู้เขียนมักประสบพบเจอในระหว่างการใช้บริการบ่อยครั้งคือ บรรดาผู้โดยสารที่กำลังจะเดินไปหรือเดินทางมาจากสนามบินดอนเมือง ต่างสับสนกับป้ายนำทางผู้โดยสารภายในสถานี นี่ยังไม่นับรวมถึงขนาดสถานีที่มีขนาดใหญ่ ผู้โดยสารที่ต้องเดินทางพร้อมสัมภาระเยอะ ไม่เพียงแค่ประสบปัญหางงกับเส้นทาง แต่ยังต้องหอบสัมภาระขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ มายังสถานีกลางบางซื่อ 

สาเหตุของความไม่ลื่นไหลของระบบขนส่งมวลชนเหล่านี้ ส่วนหนึ่งผู้เขียนเข้าใจว่า อาจเพราะเป็นการบริหารงานคนละส่วนกับรถไฟฟ้าของทั้งสองสถานี ประกอบกับเมื่อมีกรณีค่าเปลี่ยนป้าย 33 ล้านบาท ทำให้ผู้เขียนก็เกิดคำถามว่า ระหว่างป้ายชื่อสถานีที่ดูอลังการสวยงาม กับป้ายบอกทางผู้โดยสาร สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน 

พูดถึงระบบขนส่งมวลชนทางรางแล้ว ประเทศที่มีการพัฒนาในด้านนี้มากที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น เมื่อหลายปีก่อนเกิดโควิดผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นหลายครั้ง แต่ได้สังเกตถึงความเจริญที่ไม่เพียงแค่ระบบขนส่งทางรางเท่านั้น แต่ญี่ปุ่นยังพัฒนาวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในฟังก์ชันการใช้งานในทุกส่วนของสถานีตั้งแต่ป้ายนำทางผู้โดยสาร ตลอดจนประตูเข้าออกระบบรถไฟฟ้า 
wayfinding_in_japan_train_station_sign_SPACEBAR_Photo01_fcab2db239.jpeg
Richard A. Brooks / AFP

เสียง-ไลน์-ป้าย-สี 

ระบบขนส่งสาธารณะในญี่ปุ่นก็คล้ายกับบ้านเรา แต่ละระบบบริหารโดยแยกส่วนจากกันซึ่งมีทั้งที่เป็นของเอกชนและเป็นของรัฐ รถไฟหัวกระสุน (Shinkansen) หรือรถไฟท้องถิ่น แต่ละเส้นทางจะถูกบริหารโดยกลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น (JR) มีทั้งหมด 7 บริษัท อาทิ  บริษัทรถไฟญี่ปุ่นตอนกลาง (JR Center) ใช้สีส้ม, บริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันออก (JR East) ใช้สีเขียวเข้ม, บริษัทรถไฟฮกไกโด (JR Hokkaido) ใช้สีเขียวอ่อน แต่แม้จะแยกกันบริหาร แต่สามารถใช้ระบบตั๋วร่วมกันได้เกือบทั้งหมด 

เสียงเตือนปิดประตูในระบบรถไฟของญี่ปุ่นจะมีเสียงเตือนก่อนปิดประตูที่ยาวและเป็นทำนอง ทำให้คุณสามารถประเมินได้ว่าจะเหลือเวลาอีกเท่าใดกว่าประตูจะปิดจริงๆ ไม่เพียงเท่านั้นในบางสถานีจะใช้เสียงสัญญาณปิดประตูที่ต่างออกไป เพื่อสร้างอัตลักษณ์เช่น สถานีรถไฟที่ใกล้กับโตเกียวดิสนีย์ จะใช้เสียงเตือนเป็นจังหวะเพลง It's a Small World 

ป้ายบอกทางถือเป็นส่วนสำคัญของระบบขนส่งมวลชนในฐานะนักท่องเที่ยว การงงกับระบบรถไฟญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกยิ่งเป็นระบบรถไฟอันซับซ้อนอย่างญี่ปุ่นด้วยแล้ว พวกเขาจึงออกแบบระบบป้ายบนพื้นฐานแนวคิดแบบ Wayfinding signage ที่เข้าใจง่ายและถูกออกแบบให้เป็นไปตามขั้นตอน เช่น ผู้โดยสารที่เพิ่งเข้ามายังสถานี ต้องหาจุดขายตั๋ว ต้องไปไปทางไหน หรือหากจะเปลี่ยนเส้นทางไปยังสายอื่น ต้องไปทางไหนชานชลาใด 

หรือหากเข้ามาในสถานีแล้วต้องการเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวต้องไปทางไหน หรือต้องการซื้อของต้องไปทางไหน ในช่วงเวลาเร่งด่วน หากลงจากรถไฟแล้ว ทางออกใกล้ที่สุดคือประตูไหน แต่ละป้ายจะเรียงลำดับจากจุดที่ใกล้ที่สุดมาก่อน

ที่ญี่ปุ่นมีป้ายนำทางผู้โดยสารทั่วไปที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ พร้อมข้อความทั้งแบบภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นอย่างเด่นชัดและรูปภาพประกอบ ตัวอย่างเช่น ป้ายบอกทางเข้าออกของรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น หรือป้ายในสถานีนัมบะ ที่โอซากา ก็ใช้ข้อความและสัญลักษณ์ขนาดใหญ่จนสามารถอ่านได้จากระยะไกล  

บางป้ายในสถานีรถไฟใต้ดินโตเกียวสายอุเอโนะ-ฮิโรโคจิ ซึ่งเป็นเส้นทางยอดนิยมของบรรดานักท่องเที่ยว นอกจากภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษที่สะกดทับศัพท์แบบโรมันจิแล้ว ยังมีภาษาจีนและเกาหลีประกอบด้วย เช่นเดียวกับบนจอบอกชื่อสถานีภายในรถไฟฟ้า ที่จะแสดงภาษาสลับกันระหว่างชื่อสถานีญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษที่เขียนทับศัพท์แบบโรมันจิ ไม่เพียงแค่ป้ายเท่านั้น ในบางสถานีจะใช้ ‘จุดนัดพบ’ ที่โดดเด่นและหาง่ายเช่น เสานาฬิกาประจำสถานี ซึ่งนอกจากใช้บอกเวลาแล้วยังเป็นฟังก์ชันจุดนัดพบภายในสถานีที่มีเส้นทางอันซับซ้อนได้ดีด้วย
wayfinding_in_japan_train_station_sign_SPACEBAR_Photo02_e110707223.jpeg
Richard A. Brooks / AFP / ชานชาลาภายในสถานีรถไฟโตเกียว เมื่อ 29 ธันวาคม 2022
ผู้เขียนสังเกตว่า ภายบนจอภายในรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มธานีรัถยา ด้านล่างของจอจะแสดงชื่อสถานีที่เป็นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก ส่วนที่พื้นที่เหลือซึ่งมีขนาดใหญ่ดูเด่นกว่าชื่อสถานีคือโลโก้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย  

อีกสิ่งที่น่าประทับใจคือ ภายในขบวนรถไฟโตเกียวจะบอกว่า คุณอยู่ในตู้โดยสารที่เท่าไหร่ และเมื่อคุณลงถึงสถานีต่อไป ประตูทางออกใดที่อยู่ใกล้กับตู้โดยสารที่คุณลง 

อีกสิ่งสำคัญในระบบรถโดยสารสาธารณะของญี่ปุ่นคือ ทุกคนเข้าคิวอย่างสุภาพในเส้นตามไลน์สติกเกอร์ที่ติดไว้บนพื้น ระหว่างรอรถไฟ สติกเกอร์ที่พื้นจะระบุว่าควรยืนตรงไหนโดยอิงจากตำแหน่งประตูเมื่อรถไฟจอดที่สถานี สติ๊กเกอร์จะติดไว้ที่ด้านซ้ายหรือด้านขวาของตำแหน่งประตู เพื่อให้ผู้ที่รอขึ้นเครื่องทราบว่าควรยืนตรงไหน และไม่ให้กีดขวางทางที่ผู้โดยสารจะลง บางครั้งสติกเกอร์แยกต่างหากจะทำเครื่องหมายพื้นที่ที่ไม่ควรยืนด้วย  

บางสถานีมีการใช้ป้ายสติกเกอร์แบบ 3 มิติ โดยได้แรงบันดาลใจจากการสังเกตพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนระหว่างเดินทางของผู้โดยสาร การใช้ป้ายแบบ 3 มิติบนพื้นที่ให้ผู้โดยสารเห็นเส้นทางอย่างชัดเจนขึ้น ทั้งไม่ทำให้ผู้โดยสารเสียเวลาจากการไปผิดเส้นทางอีกทั้งมีการแบ่งสีเพื่อให้ผู้โดยสารทราบเช่น ป้ายหยุดใช้สีแดง หรือป้ายทางออกใช้สีเขียวในระบบรถไฟชินคันเซนที่ชานชลาจะมีป้ายทั้งแบบสติกเกอร์บนพื้นหรือป้ายปกติ ที่บอกว่าหากยืนตรงจุดนี้จะตรงกับตู้โดยสารแบบระบุที่นั่ง ซึ่งทำให้ผู้โดยสารมีความสะดวกในการเดินทางยิ่งขึ้น  

ตอนที่ผู้เขียนมีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรก หนึ่งในผู้ร่วมทริปเคยบอกว่า “ไม่ใช่รถไฟทุกขบวนที่เราขึ้นจะถูกสาย และไม่ใช่ทุกขบวนจะจอดทุกสถานี” นั่นเป็นเหตุให้ป้ายบนชานชาลาสำคัญมาก สถานีรถไฟส่วนใหญ่มีหมายเลขกำกับพร้อมกับตัวย่อของสายโดยใช้ภาษาอังกฤษ เช่น สายยูริคาโมเมะของโตเกียว จะใช้ตัวย่อ U ตามด้วยเลขประจำสถานี พร้อมกับลูกศรชี้เส้นทางที่รถไฟสายนี้จะผ่าน ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารเข้าใจง่ายขึ้น รถไฟบางเที่ยวจะไม่ได้จอดทุกสถานีเหมือนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ดังนั้นที่ป้ายจะระบุอย่างชัดเจน เช่นหากคุณอยู่ที่สถานี U6 และต้องการจะไปสถานี U10 แต่รถไฟขบวนนี้วิ่งจาก U1-U8 นั่นหมายความว่าคุณต้องรอขบวนถัดไปที่จะวิ่งถึงสถานี U10 พร้อมแถบสีเพื่อให้รู้ว่าเป็นเส้นทางรถไฟสีใด
wayfinding_in_japan_train_station_sign_SPACEBAR_Photo03_2e3b32393f.jpeg
Richard A. Brooks / AFP / ชาวญี่ปุ่นขณะเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซ็นช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่

จักรวาลในสถานี 

นอกเหนือจากระบบป้ายอันซับซ้อนแต่กลับให้ฟังก์ชันที่เข้าใจง่ายแล้ว ระบบรถไฟฟ้าญี่ปุ่นยังเสมือนอีกหนึ่งจักรวาลที่เป็นมากกว่าแค่สถานีรถไฟ จะสังเกตว่าตามสถานีรถไฟขนาดใหญ่ของกรุงโตเกียวจะมีลักษณะเป็น TOD หรือ Transit-Oriented Development ซึ่งหมายถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้มีการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนเพื่อลดการใช้พาหนะส่วนตัว  

ในญี่ปุ่นสถานีที่สะท้อนความเป็น TOD ได้มากที่สุดคือ สถานีโตเกียว สถานีโอซากา และสถานีนาโกยา กล่าวคือ ตัวสถานีจะมีลักษณะเหมือนศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อยู่ใกล้เคียงและมีทางเชื่อมสถานที่สำคัญโดยรอบสถานี ทั้งโรงแรม พิพิธภัณฑ์ ย่านธุรกิจ ตึกระฟ้า อาคารสำนักงานขนาดใหญ่  

ขณะที่ตัวสถานีเองก็เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางในหลายรูปแบบในหลายเส้นทาง โครงข่ายทางเดินใต้ดินที่เชื่อมระหว่างสถานีกับตึกอาคารต่างๆ กลายเป็นคอมเพล็กซ์เชิงพาณิชย์ แนวคิดนี้ยังกระจายออกไปไม่เพียงแค่สถานีใหญ่ประจำเมืองเท่านั้น แต่ยังถูกปรับใช้ในสถานีโดยรอบเมือง นั่นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การกระจายความเจริญไม่ให้ความแออัดกระจุกตัวอยู่ในเมือง 

อีกสิ่งที่น่าประทับใจในระบบรถไฟญี่ปุ่นคือ ‘เครื่องตรวจตั๋วอัตโนมัติ’ เป็นที่สังเกตว่าเครื่องตรวจตัวตามสถานีรถไฟของญี่ปุ่น มักมีลักษณะยาวกว่าปกติ ซึ่งทำให้ระยะห่างระหว่างจุดสอด/แตะตั๋วด้านหน้า และจุดรับตั๋วหรือไม้กั้นอยู่ห่างกันพอสมควร ความห่างนี้เป็นความเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญ พร้อมมันทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องชะลอหรือหยุดชะงัก ระหว่างผ่านประตูตรวจตั๋ว ผู้โดยสารสามารเดินด้วยความเร็วปกติ หยิบตั๋วมาสอด/แตะกับเครื่อง แล้วเดินผ่านไปได้อย่างง่ายดาย โดยไม่หยุดชะงักหรือเสี่ยงต่อการถูกที่กั้นประตูกระแทก  

ในช่วงโมงเร่งด่วนหากผู้โดยสารหนึ่งคนเสียจังหวะในการสอด/แตะบัตรเข้าประตู ก็จะยิ่งทำให้ผู้โดยสารด้านหลังชะลอตัวกันไปตามๆ กัน เสียจังหวะและลดทอนประสิทธิภาพในการระบายจำนวนผู้โดยสารช่วงชั่วโมงเร่งด่วน  

อีกหนึ่งความว้าวของเครื่องตรวจตั๋วรถไฟในญี่ปุ่นคือ เครื่องตรวจแบบสอดตั๋วนั้น ไม่ว่าผู้โดยสารจะสอดตั๋วในลักษณะใดก็ตาม จะกลับด้าน คว่ำ หงาย หน้า หลัง สุดท้ายเครื่องจะคืนตั๋วแบบหน้าตรงเสมอ 

นั่นทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องพะวงพลิกตั๋วให้ถูกด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักท่องเที่ยว อีกเรื่องแถบสีของเครื่องตรวจตั๋วที่จะทำให้ผู้โดยสารรู้ว่ามาถูกสายหรือไม่ ทำให้การเดินทางลื่นไหลยิ่งขึ้น เหล่านี้สอดคล้องกับแนวคิดขั้นพื้นฐานของ ‘ระบบขนส่งมวลชน’ ที่ควรอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้ลื่นไหลมากที่สุด สะท้อนถึงความใส่ใจผ่านการออกแบบและแก้ไขปัญหาจากประสบการณ์ของผู้ใช้งาน มากกว่าความสวยงามอลังการของป้ายชื่อสถานี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์