กองทัพเกาหลีเหนือตกเป็นเป้าความสนใจ หลังถูกกล่าวหาว่าส่งทหารหลายพันนายไปรัสเซีย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสู้รบในสงครามยูเครน การที่เกาหลีเหนือมีฐานทัพในพื้นที่ที่ถูกยึดครองชั่วคราวของยูเครนนั้น ถือเป็น ‘ก้าวแรกสู่สงครามโลก’ ซึ่งจุดชนวนให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพทางทหารของประเทศอีกครั้ง
“นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการถ่ายโอนอาวุธอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการส่งผู้คนจากเกาหลีเหนือไปยังกองกำลังทหารที่ยึดครองอยู่” โวโลโดมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน กล่าว
การประกาศของเซเลนสกีเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากสำนักข่าว Kyiv Independent ของยูเครน รายงานว่าเกาหลีเหนือได้ส่งทหารราว 10,000 นายไปยังรัสเซียเพื่อเสริมการรุกรานในยูเครน
แม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธ แต่แนวโน้มที่กองทหารเกาหลีเหนือจะสู้รบเคียงข้างรัสเซียนั้นทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า กองทัพของเกาหลีเหนือแข็งแกร่งเพียงใด? และพวกเขาสามารถส่งกองกำลังไปยังยูเครนได้หรือไม่?
กองทัพใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก!!!
ว่ากันว่าเกาหลีเหนือมีกำลังพลประจำการเกือบ 1.3 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 5% ของประชากรทั้งหมด ทหารสำรองอีก 600,000 นาย รวมถึงกองกำลังพิทักษ์แดงแรงงาน/ชาวนา (Peasant Red Guard reservists) 5.7 ล้านคน และหน่วยที่ไม่มีอาวุธอีกมากมาย ส่วนกองทัพอากาศมีกำลังพลประมาณ 110,000 นาย และกองทัพเรืออีก 60,000 นาย ถือเป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เป็นรองเพียงประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก เช่น จีน และสหรัฐฯ เป็นต้น
อย่างที่ทราบกันดีว่า คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ให้ความสำคัญต่อการใช้จ่ายด้านกลาโหม โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่า 15.9% ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมดในปีนี้จะมอบให้กับกระทรวงกลาโหม แม้ว่าสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) ของรัฐบาลไม่ได้ให้ตัวเลขที่แน่ชัด แต่การประมาณการนี้ก็ใกล้เคียงกับที่ประกาศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีการประมาณการอิสระระบุอีกว่า เกาหลีเหนือน่าจะใช้จ่ายประมาณ 36.3% ของ GDP ไปกับกองทัพในปี 2023 ทำให้เป็นประเทศที่ใช้จ่ายสูงด้านกองทัพเป็นอันดับ 2 โลก แต่ในเดือนมกราคม 2024 เกาหลีเหนือบอกว่าใช้งบประมาณของรัฐเกือบ 16% สำหรับการป้องกันประเทศ
อาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือทรงพลังขนาดไหน?
เกาหลีเหนือเป็น 1 ใน 9 ประเทศในโลกที่ทราบกันว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ นับตั้งแต่ คิมจองอึน ขึ้นสู่อำนาจในปี 2011 เขาก็เร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของประเทศมาตลอด 13 ปีที่ผ่านมา และมีการทดสอบนิวเคลียร์ 4 ครั้ง ได้แก่ :
- ปี 2013 ทดสอบ 1 ครั้ง
- ปี 2016 ทดสอบ 2 ครั้ง
- ปี 2017 ทดสอบ 1 ครั้ง
คิมยังสั่งทดสอบขีปนาวุธอีก 160 ลูก ซึ่งมากกว่าที่เคยทดสอบภายใต้การนำของคิมยองอิล พ่อของเขา และ คิมอิลซุง ปู่ของเขา เชื่อกันว่าขีปนาวุธเหล่านี้สามารถไปถึงแผ่นดินใหญ่ในสหรัฐฯ ได้เลย
เท่านั้นไม่พอ ยังพบว่าการระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือแต่ละครั้งมีพลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการทดสอบนิวเคลียร์เมื่อเดือนกันยายน 2017 มีขนาดใหญ่กว่าที่คาดไว้มาก ต่อมาในในเดือนกันยายน 2022 เกาหลีเหนือได้เผยแพร่ภาพถ่ายที่เผยให้เห็นโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดความกังวลอีกครั้งทั้งในหมู่ชาวตะวันตกและนานาชาติ
เกาหลีเหนือสร้างขีปนาวุธหลายประเภทซึ่งสามารถติดระเบิดนิวเคลียร์ได้ ตั้งแต่ขีปนาวุธยุทธวิธีระยะสั้นไปจนถึงขีปนาวุธข้ามทวีปขนาดใหญ่ (ICBM) มีพิสัยการโจมตีที่อาจไปถึงได้ทุกแห่งในสหรัฐฯ
รายงานจากกองทัพเกาหลีใต้ในปี 2022 ระบุว่า กองทัพประชาชน (KPA) ของเกาหลีเหนือมีรถถังและยานเกราะมากกว่า 6,900 คัน นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ทางทหารแบบดั้งเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่จะเก่าและล้าสมัยแล้วก็ตาม เช่น รถถังสมัยโซเวียต T-34 รวมถึงรถถังที่ผลิตในประเทศอย่าง ‘ชอนมา-โฮ’ (Chonma-ho) หรือ ‘ซอนกุน-โฮ’ (Songun-ho)
ตามข้อมูลของสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (IISS) พบว่า กองทัพอากาศมี :
- เครื่องบินรบมากกว่า 400 ลำ
- เครื่องบินทิ้งระเบิดเบา 80 ลำ
- เครื่องบินขนส่งมากกว่า 200 ลำ
แต่เครื่องบินหลายลำนั้นมีอายุย้อนไปถึงยุคโซเวียต โดยบางลำคาดว่ามีอายุราว 40-80 ปีและไม่สามารถใช้งานได้ หรือเป็นส่วนหนึ่งของฝูงบินที่ประจำการอยู่
รายงานจากกองทัพเกาหลีใต้ในปี 2022 ยังระบุอีกว่า กองกำลังทางเรือของกองทัพ KPA มี :
- เรือผิวน้ำประมาณ 470 ลำ ซึ่งรวมถึงเรือติดขีปนาวุธนำวิถี เรือตอร์ปิโด เรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก และเรือสนับสนุนการยิง
- เรือดำน้ำประมาณ 70 ลำ รวมถึงเรือดำน้ำ ‘Romeo-class’ ที่ออกแบบในสมัยโซเวียตและเรือดำน้ำขนาดเล็ก
นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยังได้เคลื่อนไหวเพื่อเสริมกำลังกองทัพเรือด้วยอาวุธนิวเคลียร์ชนิดใหม่ รวมถึงโดรนใต้น้ำ เรือรบ และเรือดำน้ำติดขีปนาวุธลำแรกด้วย
รายงานระบุอีกว่า กองทัพมีเจ้าหน้าที่สงครามไซเบอร์ 6,800 นายที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเสริมกองกำลังไซเบอร์ของเกาหลีเหนือ
Photo by KCNA VIA KNS / AFP