ช่วงนี้หลายประเทศในเอเชีย รวมถึงจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับน้ำท่วมอย่างหนักเนื่องจากมรสุมพัดผ่าน ฝนตกต่อเนื่อง หรืออาจเป็นผลพวงจากปรากฏการณ์ลานีญาก็เป็นได้ จริงๆ แล้ว ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบกับวิกฤตน้ำท่วมแทบจะทุกปี และปัญหาส่วนหนึ่งที่พบก็มักมาจากการระบายน้ำไม่ทัน หรือฝนตกหนักจากสาเหตุภาวะโลกรวน
ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมบ่อยๆ แต่หลายๆ ประเทศเองก็เคยประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรงมาแล้ว และก็มีหลายประเทศที่สามารถแก้ปัญหารับมือไม่ให้เกิดน้ำท่วมอีกด้วยแนวคิดสุดเจ๋งที่เรียกว่า ‘เมืองฟองน้ำ’ (Sponge Cities) แล้วมันมีความพิเศษยังไง...ไปทำความรู้จักกัน
‘เมืองฟองน้ำ’ คืออะไร แล้วเจ๋งยังไง?
‘เมืองฟองน้ำ’ (Sponge Cities) เป็นพื้นที่ในเมืองที่ออกแบบให้เลียนแบบกระบวนการทางธรรมชาติในการจัดการน้ำฝนซึ่งทำหน้าที่กักเก็บ และดูดซับน้ำฝนที่ตกลงมาเหมือนฟองน้ำ จากนั้นน้ำจะถูกกรองโดยดินตามธรรมชาติและไหลลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินในเมือง แทนที่จะปล่อยให้ไหลบ่าเข้าโครงสร้างพื้นฐานของเมือง หรือโครงสร้างสีเทา เช่น ถนน ทางเท้า ตึกอาคาร ซึ่งน้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ แม้จะสร้างท่อระบายน้ำ หรือสร้างเขื่อนเก็บน้ำมาช่วยบรรเทา (แต่ก็ยังท่วมอยู่ดี)
พื้นที่ฟองน้ำเหล่านั้นเรียกว่า ‘โครงสร้างพื้นที่สีเขียวและสีน้ำเงิน’ ที่ส่วนใหญ่มักเต็มไปด้วยต้นไม้ หญ้า สวนสาธารณะ สวน ไร่นา ทะเลสาบ หรือบ่อน้ำ ถือเป็นผังเมืองที่ออกแบบเพื่อรับมือกับน้ำท่วม หรือน้ำขัง อีกทั้งยังช่วยให้เมืองเย็นลง กรองมลพิษทางอากาศ และกำจัดสารปนเปื้อนออกจากน้ำฝนก่อนที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำดื่มของเมือง
แนวคิดเมืองฟองน้ำได้รับการเสนอครั้งแรกโดยศาสตราจารย์คงเจี้ยน หยู จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งในปี 2000 และได้รับการทดสอบในช่วงทศวรรษนั้น จนกระทั่งถูกนำมาใช้ในจีนเป็นครั้งแรกในโครงการพัฒนาเมืองใหม่ทั่วประเทศเมื่อปี 2014 และได้รับความสนใจจากทั่วโลก ในปัจจุบันจีนได้ประกาศเมืองนำร่อง 16 แห่ง โดยงบแต่ละแห่งอยู่ที่ 400-600 ล้านหยวน (ราว 1.9-2.8 พันล้านบาท) แถมยังตั้งเป้าที่จะทำให้พื้นที่เขตเมือง 80% กลายเป็นเมืองฟองน้ำภายในปี 2030 อีกด้วย
“มันเป็นวิธีบูรณาการพื้นที่ในเมืองให้สามารถทำงานร่วมกับธรรมชาติเพื่อดูดซับน้ำฝนได้ แทนที่จะระบายน้ำฝนทิ้งไป เมืองฟองน้ำจะดูดซับและกักเก็บน้ำส่วนเกินที่เกิดจากฝน พายุ หรือน้ำท่วมจากพื้นที่สีเขียว ซึ่งทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำ”
หยู กล่าว
พูดให้เข้าใจหลักการของเมืองฟองน้ำง่ายๆ ก็คือ การเปลี่ยนโครงสร้างสีเทา หรือพื้นที่หลักของเมือง ให้เป็นโครงสร้างสีเขียว หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยระบายน้ำตอนฝนตกนั่นเอง
ทำไมแต่ละประเทศควรเล็งเห็นความสำคัญของแนวคิดนี้?
จากการศึกษาในปี 2022 พบว่า ผู้คน 1.8 พันล้านคนได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงและการขยายตัวของเขตเมืองอย่างต่อเนื่อง
รายงานล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า มีประชากร 700 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและรุนแรงมากขึ้น และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น
แนวคิดเมืองฟองน้ำจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่นักวางผังเมืองใช้รับมือกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมถึงเพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานในเมืองและชีวิตของผู้คน
ตัวอย่างเมืองฟองน้ำ
-เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน-
‘สตาร์รี่ สกาย’ (Starry Sky) สวนสาธารณะฟองน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเซี่ยงไฮ้ที่เพิ่งเปิดตัวไปในปี 2021 ซึ่งผสมผสานระบบระบายน้ำแบบยั่งยืน และมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านความบันเทิง รวมถึงแนวคิดรักษ์โลกด้วยการออกแบบทางเดินที่น้ำสามารถซึมผ่านได้
นอกเหนือจากคุณลักษณะในการบำบัดน้ำกลับมาใช้ใหม่แล้ว ตัวสวนสาธารณะยังผสมผสานแนวคิดดาราศาสตร์ท้องฟ้ายามค่ำคืนด้วยการสร้างอาคารสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะโค้งมน 8 หลังเอาไว้สำหรับดูดาวด้วย
จริงๆ แล้วจีนมีโครงการพื้นที่สีเขียวเพื่อรับมือน้ำท่วมอีกมากและมีอยู่หลายเมือง สำหรับสวนสตาร์รี่ สกาย เป็นแค่บางส่วนของโครงการเท่านั้น
-เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน-
พื้นที่ย่านรุมเมิลส์บวร์ก (Rummelsburg) ทางตะวันออกของกรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นต้นแบบแนวคิดเมืองฟองน้ำในเยอรมันถูกสร้างขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว
อาคารต่างๆ จะถูกโอบล้อมด้วยกำแพง และหลังคาสีเขียว แล้วก็มีลานสวนที่มีชั้นดินหนาถึง 80 ซม. นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำในเมืองขนาดเล็กอยู่บริเวณร่องข้างถนนระหว่างทางเท้าและถนน ซึ่งช่วยกักเก็บน้ำไว้เหมือนฟองน้ำ และปล่อยให้น้ำไหลซึมลงใต้ดิน จากนั้นก็ระเหยออกเพื่อรักษาอุณหภูมิในเมืองให้เย็นสบาย แถมในช่วงที่ฝนตกหนัก ชั้นต้นไม้สีเขียวหนาๆ ก็ยังช่วยดูดซับน้ำได้ดีกว่าคอนกรีตและระบบระบายน้ำทั่วไปภายในเมือง ทำให้ปัญหาการอุดตันของท่อระบายน้ำจนน้ำล้นออกมามีน้อยลง
อย่างไรก็ดี แนวคิดเมืองฟองน้ำถูกนำมาใช้ในกรุงเบอร์ลินอย่างจริงจังหลังจากประสบเหตุน้ำท่วมฉับพลันในปี 2017 และนับแต่นั้นเป็นต้นมา แนวคิดนี้ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายการพัฒนาเมืองใหม่ และเบอร์ลินก็เป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองที่่สร้างพื้นที่ฟองน้ำเพื่อกรองน้ำฝนที่ปนเปื้อนไม่ให้ไหลเข้าไปในแหล่งน้ำดื่มของเมืองซึ่งอยู่ใต้ดินอีกด้วย
-โอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์-
การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ของบริษัทด้านวิศวกรรม ‘Arup’ เกี่ยวกับความเป็นฟองน้ำของเมืองใหญ่หลายแห่งพบว่า เมืองโอ๊คแลนด์เป็นเมืองที่มีคะแนนความเป็นฟองน้ำสูงถึง 35% ซึ่งความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์และการออกแบบผังเมือง อีกทั้งพื้นที่เมือง 50% ยังเป็นพื้นที่โครงสร้างสีเขียว และสีน้ำเงินด้วย
โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในลองเบย์ (Long Bay residential development) เป็นหนึ่งในโปรเจกต์เมืองฟองน้ำที่สภาเมืองโอ๊คแลนด์ออกแบบเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการใช้ที่ดิน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้ดีขึ้น
ภายในโครงการที่อยู่อาศัยยังมีสวนสาธารณะ และพื้นที่สีเขียว รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำเต็มไปหมด ซึ่งสามารถช่วยดูดซับน้ำฝน นอกจากนี้ ยังมีร่องระบายน้ำเปิดตามแนวคิด ‘bioswale’ มีลักษณะเป็นหลุมลึกซึ่งขุดไว้รองรับน้ำ โดยภายในหลุมจะมีการจัดเรียงชั้นหินเพื่อให้น้ำไหลผ่านและกักเก็บน้ำเอาไว้ข้างใต้ ส่วนด้านบนของหลุมจะสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกหญ้าหรือพืชประเภททนแฉะ แนวคิดนี้จะช่วยดูดซับน้ำฝน และกักเก็บคาร์บอนได้ด้วยด้วย