‘Super Scoopers’ เครื่องบินดับไฟป่าในลอสแอนเจลิสที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก

14 ม.ค. 2568 - 09:43

  • SPACEBAR พาไปทำความรู้จัก ‘Super Scoopers’ เครื่องบินที่ทางการลอสแอนเจลิสเอามาใช้ดับไฟป่า และได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องบินดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก

  • มันมีกระบวนการทำงานอย่างไร ทำไมกรมดับเพลิงเทศมณฑลลอสแอนเจลิสถึงขั้นเอ่ยปากชมว่า “เป็นเครื่องบินดับไฟป่าที่น่าทึ่งมาก”

what-are-super-scoopers-the-planes-used-to-fight-la-wildfires-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจากใช้เวลาดับไฟป่ามานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว แต่ทว่าก็ยังเหลือไฟป่าอีก 3 เขตที่ยังดับไม่หมด ขณะที่เจ้าหน้าที่เองก็เร่งดับไฟก่อนที่ลมกระโชกแรงจะพัดกลับมาอีกรอบซึ่งอาจแรงถึง 112 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 24 ราย อพยพแล้วเกือบ 200,000 ราย และทำลายอาคารบ้านเรือนไปกว่า 12,000 หลังซึ่งอาจทำให้กลายเป็นไฟป่าที่มีความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ 

นอกจากรถดับเพลิง และเฮลิคอปเตอร์ที่คอยฉีดน้ำ และปล่อยสารหน่วงไฟที่เป็นกำลังสำคัญแล้ว ก็ยังมีเครื่องบินดับเพลิง ‘CL-415 Super Scooper’ นี่แหละที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องบินดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก ถึงขนาดที่กรมดับเพลิงเทศมณฑลลอสแอนเจลิสเอ่ยปากชมว่า “Super Scooper เป็นเครื่องบินดับไฟป่าที่น่าทึ่งมาก” 

SPACEBAR พาไปทำความรู้จักกับเครื่องบิน ‘Super Scooper’ ว่ามีประสิทธิภาพช่วยดับเพลิงได้มากแค่ไหน? 

Super Scooper’ เป็นเครื่องบินแบบไหน...

what-are-super-scoopers-the-planes-used-to-fight-la-wildfires-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by DAVID MCNEW / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP

‘Super Scoopers’ เป็นเครื่องบินฉีดน้ำสะเทินน้ำสะเทินบกที่ผลิตในแคนาดา สามารถบินล่องลอยเหนือผิวน้ำด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถตักน้ำได้มากถึง 1,600 แกลลอนในเวลาต่ำกว่า 12 วินาที อีกทั้งยังสามารถทิ้งน้ำ (ที่ตักจากทะเลสาบ มหาสมุทร หรืออ่าว) เหนือเปลวไฟได้โดยตรง จากนั้นจึงบินกลับมาทำซ้ำขั้นตอนเดิมจนกว่าน้ำมันจะหมด 

เมื่อเทียบกับเฮลิคอปเตอร์ที่ติดตั้งถังน้ำ หรือเครื่องบินเติมน้ำแบบดั้งเดิม ‘Super Scoopers’ นั้นจะสามารถบรรทุกน้ำได้มากขึ้น และเติมน้ำสำรองได้โดยไม่ต้องลงจอด 

รัฐบาลควิเบกของแคนาดามักให้เจ้าหน้าที่ในลอสแอนเจลิสยืม ‘Super Scooper’ 2 ลำเป็นประจำทุกฤดูกาลไฟป่า และทำเช่นนี้มาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว อย่างไรก็ดี มีเพียงลำเดียวเท่านั้นที่ยังคงใช้งานได้ เนื่องจากอีกลำหนึ่งถูกสั่งหยุดบินชั่วคราว เพราะปีกเครื่องบินได้รับความเสียหายจากโดรนพลเรือนที่บินเหนือเขตไฟป่าพาลิเซดส์ ซึ่งการขัดขวางความพยายามดับเพลิงด้วยการบินโดรนถือเป็นความผิดทางรัฐบาลกลาง 

แล้ว ‘Super Scooper’ ทำงานอย่างไร?

‘Super Scooper’ มีปีกกว้าง 93 ฟุตและยาว 65 ฟุต ถูกออกแบบมาเพื่อทิ้งน้ำในปริมาณมากเหนือไฟป่าได้โดยตรง และในบางครั้ง เจ้าหน้าที่จะผสมน้ำกับสารโฟมเข้มข้นเพื่อให้การควบคุมไฟป่า และการทิ้งน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

แต่สิ่งที่ทำให้ ‘Super Scooper’ แตกต่างจากเครื่องบินดับเพลิงอื่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะทิ้งสารหน่วงไฟ ก็คือ ‘ความสามารถในการเติมน้ำในถังโดยไม่ต้องลงจอด และสามารถตักน้ำจากผิวมหาสมุทรหรือแหล่งน้ำจืดได้โดยตรง’ 

สำหรับการเติมน้ำในถัง นักบินจะบินผ่านผิวน้ำด้วยความเร็วประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และตักน้ำใส่ให้น้ำเต็มถังภายใน 12 วินาที นอกจากนี้ นักบินยังสามารถเติมน้ำด้วยสายดับเพลิงที่สนามบินก่อนขึ้นบินได้เลย ซึ่งช่วยให้เครื่องบินบินตรงไปยังจุดดับไฟได้ทันที 

เมื่อเติมน้ำเต็มถังแล้ว (และมีน้ำหนักเพิ่มอีก 6,100 กิโลกรัม) เครื่องบินจะบินไปในบริเวณที่เกิดไฟป่าด้วยความเร็วประมาณ 354 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อทิ้งน้ำจากความสูง 30-45 เมตร จากนั้น นักบินจะกดปุ่มบนพวงมาลัยเพื่อเปิดถังน้ำ โดยเทน้ำทั้งหมดลงในครั้งเดียว (แบบปล่อยแบบรัวๆ) หรือเปิดประตูทั้ง 4 บานตามลำดับเพื่อกระจายน้ำเป็นบริเวณกว้างอย่างทั่วถึง 

ความท้าทายที่ ‘Super Scooper’ ต้องเผชิญ

แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘เครื่องบินดับไฟป่าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก’ แต่การบินด้วยเครื่องบิน ‘Super Scooper’ นั้นต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการโดยเฉพาะทัศนวิสัยที่ลดลงจากควันหนาและความปั่นป่วนที่เกิดจากความร้อนของไฟป่าซึ่งอาจทำให้เกิดสภาพการบินที่อันตรายได้

“ไฟสามารถสร้างความปั่นป่วนและลมได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ขรุขระ เช่น ภูเขา ทำให้นักบินต้องควบคุมเครื่องให้ดี เพราะหากผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจกลายเป็นอันตรายได้ภายใต้สภาวะเช่นนี้”

แดเนียล บับบ์ อดีตนักบินพาณิชย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการบินบอกกับนิตยสาร Newsweek

นอกจากอันตรายจากสิ่งแวดล้อมแล้ว นักบินยังต้องรับมือกับน้ำหนักของเครื่องบินอีกด้วย ซึ่งจะเพิ่มขึ้นถึง 6,100 กิโลกรัมเมื่อบรรทุกน้ำเต็มลำ ซึ่งจำเป็นต้องคำนวณอย่างแม่นยำก่อนทำการบินแต่ละครั้ง “นักบินต้องทราบน้ำหนักขึ้นบินที่แน่นอนเพื่อความปลอดภัย การคำนวณผิดพลาดอาจนำไปสู่การสูญเสียแรงยก หรือเครื่องบินตก ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นแล้วในอดีต” บับบ์ กล่าว 

การบินในภารกิจเหล่านี้ยังต้องประสานงานกับหน่วยควบคุมการจราจรทางอากาศ โดยเฉพาะในน่านฟ้าของลอสแอนเจลิสที่มีเครื่องบินดับเพลิงอื่นๆ บินบนน่านฟ้ากันอย่างคับคั่ง “แม้แต่นักบินดับเพลิงก็ยังต้องติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศอยู่ตลอดเวลา” บับบ์ เสริม 

เครื่องบินหลายลำติดตั้งระบบป้องกันการชนกันในอากาศ แต่บรรดานักบินจะต้องคอยระวังตัวตลอดเวลา ไม่เพียงแต่ต้องพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศเท่านั้น แต่ยังต้องสื่อสารกันด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการชนกันกลางอากาศเกิดขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์