บรรลุข้อตกลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับเงื่อนไข ‘แร่แรร์เอิร์ธ’ ที่สหรัฐฯ และยูเครนหารือกันอย่างดุเดือดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสุดท้ายแล้วประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนยอมแลกกับความปลอดภัยของประเทศ และจะเดินทางมายังกรุงวอชิงตันในวันศุกร์นี้ (28 ก.พ.) เพื่อลงนามในข้อตกลงดังกล่าว
SPACEBAR พาไปดูว่า ‘แร่แรร์เอิร์ธ’ มีความสำคัญอย่างไร? ทำไม โดนัลด์ ทรัมป์ ถึงอยากได้?
‘แร่แรร์เอิร์ธ’ คืออะไร?
‘แร่แรร์เอิร์ธ’ (REE) เป็นแร่ธาตุสำคัญ 17 ชนิดที่จำเป็นสำหรับโทรศัพท์มือถือ ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบนำวิถีขีปนาวุธ และการใช้งานด้านอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรม และพลังงานอื่นๆ
แม้จะมีชื่อเรียกเช่นนี้ แต่ส่วนใหญ่แล้วแร่ REE ก็ไม่ได้หายากเป็นพิเศษ แต่การสกัดและการกลั่นนั้นยากมาก และยังทำลายสิ่งแวดล้อมมากอีกด้วย ซึ่งหมายความว่าการผลิตจะกระจุกตัวอยู่ในสถานที่เพียงไม่กี่แห่ง โดยเฉพาะประเทศจีน
แร่ REE ได้แก่ :
- ยูโรเพียม เอาใช้ในแท่งควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
- ดิสโพรเซียม แกนโดลิเนียม และเพรซีโอไดเมียม ใช้เป็นส่วนผสมในแม่เหล็กในโทรศัพท์มือถือ
- แกโดลิเนียม ฮอลเมียม และอิตเทอร์เบียม นิยมใช้ในเลเซอร์ เป็นต้น
ที่ยูเครนมีแร่สำคัญอะไรบ้าง?

แร่ธาตุที่สำคัญ (Critical Minerals) คือ ธาตุที่จำเป็นต่อการทำงานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เศรษฐกิจ หรือความมั่นคงของชาติ และมีความเสี่ยงที่ห่วงโซ่อุปทานอาจหยุดชะงักได้
ยูเครนมีแร่สำรอง 22 ชนิดจากทั้งหมด 34 ชนิดที่สหภาพยุโรประบุว่ามีความสำคัญ โดย 17 ชนิดนั้นเป็นแร่ REE ตามสถาบันธรณีวิทยาของยูเครนระบุว่า ประเทศนี้มีแร่ REE เช่น :
- แลนทานัม และซีเรียม ใช้ในโทรทัศน์และแสงสว่าง
- นีโอดิเมียม ใช้ในกังหันลมและแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
- เออร์เบียม และอิตเทรียม นำไปใช้ตั้งแต่พลังงานนิวเคลียร์ไปจนถึงเลเซอร์
นอกจากนี้ ยูเครนยังอ้างสิทธิ์ลิเธียมสำรอง 500,000 ตัน และกราไฟต์ 1 ใน 5 ของโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ยูเครนมีแร่ธาตุสำคัญจำนวนมากที่สุดในบรรดาประเทศในยุโรป และตามข้อมูลของสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ยูเครนมีแร่ธาตุสำรองอยู่ประมาณ 5% ของปริมาณสำรองของโลก
ตามข้อมูลของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) รายงานว่าจีนมีปริมาณแร่ REE มากที่สุด รองลงมาคือ เวียดนาม บราซิล และรัสเซีย
ทำไม ‘ทรัมป์’ ถึงต้องการแร่ธาตุสำคัญของยูเครนมากขนาดนั้น...
มีเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทรัมป์กระตือรือร้นอยากจะครอบครองแร่ธาตุที่สำคัญของยูเครน นั่นก็คือ ‘จีน’ ในปัจจุบัน มหาอำนาจของเอเชียแห่งนี้กลายเป็น ‘โรงงานของโลก’ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าแร่ธาตุที่สำคัญจะถูกขุดขึ้นมาจากพื้นดินที่ใดในโลกก็ตาม แร่ธาตุเหล่านี้ก็ยังคงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน
ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแปรรูปแร่ธาตุที่สำคัญของโลกส่วนใหญ่ ตามข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า สัดส่วนการกลั่นของจีนอยู่ที่ประมาณ 35% สำหรับนิกเกิล, 50-70% สำหรับลิเธียมและโคบอลต์, และเกือบ 90% สำหรับแร่ REE ซึ่งจีนจีนครองตลาดอย่างล้นหลาม อีกทั้งในปี 2024 แร่ REE ของจีนยังคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณสำรองแร่ REE ของโลกด้วย
“สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าจีนครองห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุที่สำคัญของโลก โดยดำเนินการแปรรูปประมาณ 90%”
จาเร็ด มอนด์เชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่ศูนย์ศึกษาสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยซิดนีย์
ดร.โรเบิร์ต มุกกาห์ ผู้อำนวยการ ‘SecDev’ ที่ปรึกษาความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ อธิบายว่า “แร่ธาตุที่สำคัญเป็นรากฐานของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 แร่ธาตุเหล่านี้มีความสำคัญต่อพลังงานหมุนเวียน การใช้งานทางทหาร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม และมีบทบาทเชิงกลยุทธ์ที่เพิ่มมากขึ้นในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ภูมิรัฐศาสตร์”
หลังจากทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เขาก็ประกาศสงครามการค้ากับจีนด้วยการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสินค้าจีนที่สูงลิ่ว ส่งผลให้การเข้าถึงแร่ธาตุที่สำคัญของสหรัฐฯ อาจตกอยู่ในความเสี่ยง ขณะนี้โลกกำลังถูกครอบงำด้วยการแย่งชิงความมั่งคั่งจากแร่ธาตุ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจในอนาคต และหากสหรัฐฯ ไม่สามารถครอบครองได้ คนอื่นก็จะครอบครองแทน
(Photo by Alex Kent / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)