ไม่มีทางสกัดได้ (?) เจาะความร้ายกาจ ‘ขีปนาวุธโอเรชนิค’ ที่รัสเซียยิงใส่ยูเครน

25 พ.ย. 2567 - 09:52

  • เจาะความร้ายกาจ ‘ขีปนาวุธโอเรชนิค’ ที่รัสเซียยิงใส่ยูเครนว่ามีความเร็วแค่ไหน พิสัยการยิงเท่าไร และมีหัวรบนิวเคลียร์กี่หัว?

  • ขนาดปูตินยังอวดว่า “ไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศสมัยใหม่สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธดังกล่าวได้”

what-do-we-know-about-russias-new-ballistic-missile-oreshnik-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจากที่รัสเซียทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยกลางความเร็วเหนือเสียง ‘โอเรชนิค’ (Oreshnik) ใส่ยูเครนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตอบโต้ที่ยูเครนได้รับอนุญาตให้โจมตีรัสเซียด้วยขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ และอังกฤษ ขณะที่ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ (22 พ.ย.) ว่า จะยังคงทดสอบขีปนาวุธโอเรชนิคต่อไป และจะเริ่มผลิตขีปนาวุธระบบใหม่เป็นจำนวนมาก พร้อมให้คำมั่นว่าจะตอบโต้หากเกิด ‘การยกระดับสถานการณ์’ ขึ้นอีก 

หน่วยข่าวกรองทางทหารของยูเครน (GUR) บอกว่า ขีปนาวุธโอเรชนิคใช้เวลา 15 นาทีในการพุ่งจากฐานทัพคาปุสติน ยาร์ ในภูมิภาคแอสตราคันของรัสเซีย ไปยังเมืองดนีปรอของยูเครน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 800 กิโลเมตร โดยมีความเร็วสูงสุดมากกว่า 11 มัค 

SPACEBAR พาไปเจาะความร้ายกาจของ ‘ขีปนาวุธโอเรชนิค’ ว่ามีความร้ายกาจแค่ไหน... 

ทำความรู้จัก ‘ขีปนาวุธโอเรชนิค’

‘โอเรชนิค’ ขีปนาวุธพิสัยกลางชนิดใหม่ ถือเป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่ยังไม่ได้รับการกล่าวถึงต่อสาธารณชนมาก่อน เจ้าหน้าที่ยูเครนกล่าวว่า ขีปนาวุธดังกล่าวมีลักษณะเหมือนขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) รุ่น ‘RS-26 Rubezh’ 

-ความเร็ว-

ระบบป้องกันภัยทางอากาศยังไม่สามารถสกัดกั้นโอเรชนิคได้ เนื่องจากใช้ความเร็วในการโจมตี 10 มัค (2.5-3 กิโลเมตร) ต่อวินาที

“ระบบป้องกันภัยทางอากาศสมัยใหม่ไม่สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธดังกล่าวได้ เป็นไปไม่ได้ จนถึงวันนี้ยังไม่มีวิธีการต่อต้านอาวุธดังกล่าว”

ปูติน กล่าวอย่างอวดอ้าง

-หัวรบนิวเคลียร์-

ขีปนาวุธโอเรชนิคอาจมีหัวรบนิวเคลียร์ได้ 3-6 หัว แต่หน่วยข่าวกรอง GUR บอกว่ามี 6 หัว จากวิดีโอเผยให้เห็นถึงการโจมตีดังกล่าว และพบว่าโอเรชนิคมีหัวรบนิวเคลียร์นำวิถีอิสระหลายลูก ในกรณีนี้ ขีปนาวุธเหล่านี้เป็นแบบธรรมดา แต่ก็สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้เช่นกัน 

“การที่หัวรบนิวเคลียร์มาถึงเป้าหมายในเวลาเดียวกันแทบทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่าระบบดังกล่าวมีประสิทธิภาพอย่างมาก...โอเรชนิคเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงแห่งการก่อสร้างขีปนาวุธทางทหารเชื้อเพลิงแข็งสมัยใหม่ของรัสเซีย” อิกอร์ โคโรเชนโก บรรณาธิการวารสารการป้องกันประเทศบอกกับสำนักข่าว TASS ของทางการ 

-พิสัยการยิง-

โอเรชนิคเป็นขีปนาวุธ ‘พิสัยกลาง’ ซึ่งโดยทั่วไป ขีปนาวุธพิสัยกลาง (IRBM) มีพิสัยการยิงอยู่ที่ 1,000-5,500 กิโลเมตร ซึ่งต่ำกว่าขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) เล็กน้อย แต่พิสัยการโจมตีของโอเรชนิคอาจอยู่ที่ระดับสูงสุดของพิสัยกลางที่ประมาณ 3,000-5,000 กิโลเมตร 

“ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราได้เห็นการใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางในการรบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัสเซีย” ดมิทรี คอร์เนฟ บรรณาธิการเว็บไซต์ Military Russia กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Izvestia 

แล้ว ‘ขีปนาวุธโอเรชนิค’ มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน?

what-do-we-know-about-russias-new-ballistic-missile-oreshnik-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ภาพชิ้นส่วนของขีปนาวุธพิสัยกลาง ‘โอเรชนิค’ ที่ถูกเก็บรวบรวมบริเวณจุดที่ตกในเมืองดนีปรอของยูเครน เพื่อทำการตรวจสอบ หลังรัสเซียยิงโจมตีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา / Photo by Roman PILIPEY / AFP

โอเรชนิคมีความสามารถในการเอาชนะระบบป้องกันขีปนาวุธสมัยใหม่ที่มีอยู่ทั้งหมดได้...มันยังสามารถทำลายบังเกอร์ที่ได้รับการปกป้องอย่างดีในระดับความลึกมากได้โดยไม่ต้องใช้หัวรบนิวเคลียร์ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกใต้ดินถูกทำลายที่โรงไฟฟ้าดนีปรอก็ตาม” วลาดิสลาฟ ชูริกิน นักวิเคราะห์ทางการทหารบอกกับ Izvestiya 

“ขีปนาวุธดังกล่าวมีศักยภาพที่จะท้าทายระบบป้องกันทางอากาศของยูเครนได้อย่างจริงจัง...ขีปนาวุธพิสัยใกล้ของรัสเซียถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อยูเครนในความขัดแย้งครั้งนี้...ระบบที่เร็วและก้าวหน้ากว่าจะทำให้สิ่งนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น” จัสติน ครัมพ์ อดีตทหารผ่านศึก และผู้ก่อตั้ง ‘Sibylline’ บริษัทข่าวกรองและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ บอกกับสำนักข่าว BBC 

ทำไมรัสเซียถึงใช้ขีปนาวุธรุ่นนี้ในเวลานี้...

ในเวลานี้ รัสเซียอยู่ในโหมดตอบโต้ การยิงขีปนาวุธดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากยูเครนยิงขีปนาวุธที่สหรัฐฯ และอังกฤษส่งมาให้ในดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรก ส่งผลให้ความตึงเครียดในสงครามที่ดำเนินมานานเกือบ 3 ปีทวีความรุนแรงมากขึ้น 

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ อนุมัติให้ยูเครนยิงระบบขีปนาวุธยุทธวิธีกองทัพบก (ATACMS) เพื่อโจมตีเป้าหมายในรัสเซีย ซึ่งทางการรัสเซียระบุว่า ขีปนาวุธ ATACMS ที่ผลิตในสหรัฐฯ จำนวน 6 ลูกถูกยิงไปที่รัสเซียเมื่อวันอังคาร (19 พ.ย.) ขณะที่ขีปนาวุธร่อน ‘Storm Shadow’ ของอังกฤษ และขีปนาวุธไฮมาร์ส (HIMARS) ที่ผลิตในสหรัฐฯ ก็ถูกยิงไปที่รัสเซียเมื่อวันพฤหัสบดี (21 พ.ย.) เช่นกัน 

รัสเซียกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศตะวันตกที่อนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธของตัวเองในการโจมตีรัสเซียนั้นกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในความขัดแย้ง 

“ไม่มีข้อสงสัยเลย สหรัฐฯ เข้าใจว่าการโจมตีเมืองดนีปรอเป็นเพียงการเตือนเท่านั้น...สารสำคัญคือการตัดสินใจและการกระทำที่ไม่รอบคอบของประเทศตะวันตก ซึ่งผลิตขีปนาวุธส่งมอบให้ยูเครน และต่อมามีส่วนร่วมในการโจมตีดินแดนรัสเซียนั้น ไม่สามารถคงอยู่ต่อไปได้หากปราศจากปฏิกิริยาจากฝ่ายรัสเซีย” ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบสภาเครมลิน กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์