ราคาทองคำขยับขึ้นแรงแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกขยับขึ้น 1.4% มาอยู่ที่ 2,113.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม ที่ราคาแตะออลไทม์ไฮ 2,135.40 ดอลลาร์สหรัฐ
หากนับเฉพาะสัปดาห์ที่แล้ว ราคาทองคำพุ่งขึ้นมาเกือบ 50 ดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับราคาทองคำในบ้านเราที่ปรับขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ฟิลลิป สไตรเบิล นักยุทธศาสตร์การตลาดจาก Blue Line Futures ในชิคาโกผยว่า ราคาทองขึ้นทุบสถิติเดิมได้ง่ายมาก “สัปดาห์นี้ (ประธานเฟด) พาวเวลล์แถลง 2 ครั้ง และเขาอาจออกมาและมีแนวโน้มจะลดอันตราดอกเบี้ยมากขึ้น...เราอาจได้เห็นตัวเลขการจ้างงานที่พลาดเป้าในวันศุกร์นี้ ปัจจัยทั้งหมดที่จะดันราคาทอง”
ส่วน จิม วิคคอฟฟ์ นักวิเคราะหาวุโสจาก Kitco Metals มองว่า “หากตัวเลขเงินเฟ้อลดลง ทองคำก็จะอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป” ด้านเกรเกอร์ เกรเกอร์สัน ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Silver Bullion เผยกับ Channel News Asia ว่า “ราคาทองคำมักจะขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อ และวิกฤตต่างๆ เพราะเมื่อความเชื่อมั่นลดลง ผู้คนจะหันไปหาทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง การถือทองคำในระยะยาวจะให้ผลตอบแทนดีในช่วงที่เกิดวิกฤตและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อ”
แล้วปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อราคาทอง?
เงินเฟ้อ เงินเฟ้อมีบทบาทสำคัญต่อความต้องการทองคำ หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ราคาทองคำก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ราคาทองคำจะผูกอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นตัวสะท้อนความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ได้เป็นอย่างดี เมื่อใดที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำจะขยับขึ้น เพราะธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่ถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มักจะกระจายความเสี่ยงโดยแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น หรือถือสกุลเงินอื่นๆ รวมถึงทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ราคาทองคำจะลง

ความต้องการทองคำ อุปทานถือเป็นตัวกำหนดราคาของสินทรัพย์ส่วนใหญ่ รวมทั้งทองคำด้วย หากความต้องการทองคำมีมาก ราคาก็จะสูงตามไปด้วย และราคาจะลดลงเมื่อความต้องการน้อยลง
ข้อมูลของสมาคมทองคำโลกระบุว่า ปี 2022 ความต้องการทองคำเพิ่มขึ้น 18% มาอยู่ที่ 4,741 ตัน โดยความต้องการซื้อทองคำหลักๆ มาจากธุรกิจจิวเวลรีเป็นอันดับแรกคือ 44% ที่เหลือคือธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่ซื้อและสะสมทองคำเพื่อให้ทุนสำรองมีความหลากหลาย อุตสาหกรรมทางการแพทย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกสิ์ และนักลงทุน
เงื่อนไขของตลาดและเศรษฐกิจ ทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับการลงทุน ด้วยเหตุนี้บรรดานักลงทุนจึงพากันหันมาหาทองคำในช่วงที่ตลาดหรือเศรษฐกิจเกิดความไม่แน่นอน ส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นด้วย
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ก๊าซ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ด้วยเหตุนี้บรรดานักลงทุนจึงใช้ทองคำเป็นช่องทางรักษามูลค่าการลงทุนของตัวเองระหว่างที่เกิดความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์
ค่าเงินบาท ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำในประเทศไทยพุ่งด้วยเช่นกัน หากเงินบาทอ่อนค่า ราคาทองคำจะสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไทยไม่สามารถผลิตทองคำได้เอง จึงต้องนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเป็นหลัก และตลาดทองคำโดยทั่วไปมักจะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินอ้างอิงในการซื้อขาย ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำในบ้านเรา
AFP / GIUSEPPE CACACE