เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมประกาศจะพา “อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”
ในวันแรกของการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ก็กลายเป็นที่จับตามองว่าเขาลงนามคำสั่งบริหาร (Executive orders) ไปกี่ฉบับแล้วบ้าง แต่คาดว่ามีมากกว่า 200 ฉบับ โดยหลักๆ มีดังนี้ :
- สหรัฐฯ จะออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในอีก 12 เดือนข้างหน้า และหยุดการบริจาคเงินทั้งหมดให้กับ WHO
- เปลี่ยนชื่อ ‘อ่าวเม็กซิโก’ เป็น ‘อ่าวอเมริกา’ และเปลี่ยนชื่อ ‘ภูเขาเดนาลิ’ ในอลาสก้าเป็น ‘ภูเขาแมกคินลีย์’
- ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานระดับชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล
- ชะลอการบังคับใช้กฎหมาย ‘แบน TikTok’ เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 75 วัน
- ยกเลิกคำสั่งบริหาร 78 ฉบับในยุคของไบเดน และอีกอย่างน้อย 12 ฉบับที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและปราบปรามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีรสนิยมรักเพศเดียวกันและทรานส์เจนเดอร์
- ออกคำสั่งอภัยโทษแก่ผู้กระทำความผิดในเหตุจราจลบุกอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021
- ถอนตัวออกจาก ‘ข้อตกลงปารีส 2015’ ซึ่งมุ่งหวังที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตสภาพอากาศ
- ลงนามนโยบายรับรองแค่ 2 เพศเท่านั้น : ชาย-หญิง
- ยุติสิทธิพลเมืองโดยกำเนิดจากพ่อและแม่ที่อพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย เริ่มบังคับใช้อีก 30 วันนับตั้งแต่วันนี้
- จัดประเภทพนักงานรัฐบาลกลางหลายหมื่นคนใหม่ให้เป็นพนักงานการเมือง (ไบเดนเคยยกเลิกคำสั่งนี้ แต่ทรัมป์ลงนามใหม่)
ทั้งนี้พบว่าสมัยแรกของการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ลงนามคำสั่งบริหารไปทั้งหมด 220 ฉบับ แต่บางฉบับก็ท้าทายอำนาจศาล เพราะอยู่นอกขอบเขตกฎหมาย
แล้ว ‘คำสั่งบริหาร’ คืออะไร?
‘คำสั่งบริหาร’ เป็นคำสั่งลายลักษณ์อักษรที่ออกโดยประธานาธิบดีถึงหน่วยงานของรัฐบาลกลางซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา คำสั่งดังกล่าวมีตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญ เช่น การที่ทรัมป์อนุมัติการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน 2 แห่งที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในปี 2017 ไปจนถึงคำสั่งบริหารทั่วไป เช่น บารัค โอบามา ออกคำสั่งให้หน่วยงานรัฐปิดทำการครึ่งวันในวันคริสต์มาสอีฟเมื่อปี 2015
อำนาจในการออกคำสั่งมีรากฐานอยู่ในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า
“อำนาจบริหารจะอยู่ในมือประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา”
-ทำไมประธานาธิบดีต้องออกคำสั่งเหล่านี้-
ในอดีต คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงสงคราม หรือเพื่อป้องกันวิกฤตในประเทศ ยกตัวอย่างเคสของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ลงนามในคำสั่งบริหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1942 ให้จัดตั้งศูนย์กักขังสำหรับชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นประมาณ 120,000 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี 1952 ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน ออกคำสั่งที่ให้รัฐบาลควบคุมอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อป้องกันการหยุดงาน
วันแรกในการเข้ารับตำแหน่งของ โจ ไบเดน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2021 เขาก็ลงนามในคำสั่งเพื่อกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2015 ซึ่งก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้ถอนตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2017
-ใครที่มีอำนาจ ‘ยกเลิก’ คำสั่งบริหารได้?-
คำสั่งบริหารต้องทำงานภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ในทางทฤษฎีแล้ว คำสั่งแต่ละคำสั่งจะต้องได้รับการตรวจสอบโดย ‘สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายว่าด้วยรูปแบบและความถูกต้องตามกฎหมาย’ ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
หากคำสั่งถูกพิจารณาว่า ‘ออกนอกขอบเขตของสิ่งที่ยอมรับได้’ คำสั่งนั้นอาจถูกตรวจสอบทางกฎหมายได้ นอกจากนี้ รัฐสภายังสามารถออกกฎหมายเพื่อยกเลิกคำสั่งบริหารได้ แต่ประธานาธิบดีก็ยังคงมีอำนาจยับยั้งกฎหมายนั้นได้อยู่ดี
-บางครั้งคำสั่งบริหารก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง-
ในบางครั้งคำสั่งบริหารก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งเนื่องจากไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา ทำให้ประธานาธิบดีสามารถดำเนินการได้เอง จึงมักนำไปสู่การท้าทายทางกฎหมายและข้อพิพาททางการเมือง
ยกตัวอย่างเช่น ทรัมป์สั่งห้ามการเดินทางไม่ให้ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม 6 ประเทศเข้าสหรัฐฯ ในปี 2017 ในช่วงที่เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ส่งผลให้คำสั่งดังกล่าวเผชิญกับการตอบโต้อย่างรุนแรง แต่สุดท้ายคำสั่งนี้ก็ถูกยกเลิกโดยไบเดนที่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำประเทศในสมัยต่อมา
-ประธานาธิบดีลงนามคำสั่งบริหารได้กี่ฉบับ?-
สำหรับจำนวนคำสั่งฝ่ายบริหารที่ออกโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นไม่ได้มีกำหนดตายตัวว่าสามารถออกได้กี่ฉบับ ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีจะออกคำสั่งบริหารกี่ฉบับก็ได้ขึ้นอยู่กับการใช้สิทธิอำนาจบริหาร และปัญหาที่ประเทศเผชิญในระหว่างดำรงตำแหน่ง เช่น ความมั่นคงของชาติ การเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน
ประธานาธิบดีบางคนอาจออกคำสั่งเพียงไม่กี่ฉบับ ในขณะที่บางคนออกคำสั่งหลายร้อยฉบับตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง

(Photo by Jim WATSON / AFP)