ซีเรียอาจซ้ำรอยลิเบีย โค่น ‘กัดดาฟี’ ได้แต่ยังไร้เสถียรภาพเหมือนเดิม

10 ธ.ค. 2567 - 03:00

  • ปี 2008 มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียเอ่ยปากเตือนบรรดาผู้นำอาหรับ รวมทั้ง บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย เกี่ยวกับหายนะทางการเมืองที่พวกเขาอาจต้องเผชิญ ซึ่งตอนนั้นมีทั้งคนที่เพิกเฉยและหัวเราะใส่กัดดาฟี

  • สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คือ หลังการล่มสลายของผู้นำในตะวันออกกลางก็มักจะตามมาด้วย “อนาธิปไตย” ไร้รัฐบาล แทนที่จะเป็นความมีเสถียรภาพ

what-happened-gaddafi-fell-libya-terrible-warning-from-history-SPACEBAR-Hero.jpg

ในที่ประชุมอาหรับลีกที่กรุงดามัสกัสของซีเรียเมื่อปี 2008 มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียในสมัยนั้น เอ่ยปากเตือนบรรดาผู้นำอาหรับ รวมทั้ง บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย เกี่ยวกับหายนะทางการเมืองที่พวกเขาอาจต้องเผชิญ ซึ่งตอนนั้นมีทั้งคนที่เพิกเฉยและหัวเราะใส่กัดดาฟี  

การถูกโค่นล้มของผู้นำอาหรับหลายคนหลังการประชุมครั้งนั้น รวมทั้งตัวกัดดาฟีเองในปี 2011 และเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ ในซีเรียและอัล-อัสซาด ทำให้คำเตือนของกัดดาฟีได้รับความสนใจอีกครั้ง เหตุการณ์ที่เกิดกับกัดดาฟีทำให้เกิดการถกเถียงกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพลวัตรทางการเมืองในโลกอาหรับและชะตาของบรรดาผู้นำ 

หลังบุกยึดกรุงดามัสกัสสำเร็จ อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-โจลานี ผู้นำกลุ่มกบฏฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (Hayat Tahrir al-Sham: HTS) พยายามทำให้ทุกอย่างอยู่ในความสงบ สั่งห้ามนักรบในสังกัดยิงปืนขึ้นฟ้าฉลอง แต่คำสั่งแบบนี้มักถูกมองข้าม 

แม้ว่ารัฐบาลจะถูกโค่นล้มไปแล้ว แต่ซีเรียจะยังซวนเซไปอีกหลายปี และที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คือ หลังการล่มสลายของผู้นำในตะวันออกกลางก็มักจะตามมาด้วย “อนาธิปไตย” ไร้รัฐบาล แทนที่จะเป็นความมีเสถียรภาพ

บ้านเมืองที่ไร้ขื่อแปและการสู้รบกันเองภายในที่เกิดขึ้นหลังการโค่นล้มกัดดาฟีของลิเบียเมื่อปี 2011 เป็นตัวอย่างได้ดี

โจลานีเป็นผู้นำกองกำลังเล็กๆ ที่มีทหารไม่เกิน 20,000 นาย แต่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ครบมือ มีแรงกระตุ้นล้นหลาม มีประสบการณ์โชกโชน ผ่านการสู้รบกับศัตรูมามากมาย ตั้งแต่กองทัพของอัล-อัสซาด ไปจนถึงกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) รัสเซีย และสหรัฐฯ    

สิ่งที่กลุ่มกบฏฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชามทำสำเร็จในเวลาอันสั้น นั่นคือ การถอนรากถอนโคนระบอบอัสซาดและเข้าควบคุมเมืองสำคัญของซีเรียไว้ได้ทั้งหมด รวมทั้งกรุงดามัสกัส ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมีระเบียบวินัยและความมีระเบียบได้อย่างดี 

แต่การโค่นล้มเผด็จการเป็นเรื่องหนึ่ง การรักษาอำนาจไว้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลังระลอกแห่งสงครามการเมืองและการลี้ภัยแล้วประชากรชาวซีเรียยังเหลืออีกกว่า 20 ล้านคน มากกว่ากองกำลังของโจลานีถึง 1,000 เท่า และซีเรียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคลังอาวุธมากที่สุดในโลก ที่มาจากทั้งการสะสมของอัล-อัสซาด กลุ่มกบฏหลายๆ กลุ่ม รวมทั้งพลเรือน

เรียกได้ว่าการถือปืนในซีเรียเป็นเรื่องธรรมดาสามัญยิ่งกว่าการถือร่ม

สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ คลังแสงปืนใหญ่ ปืนครก จรวด หรือแม้แต่อาวุธเคมี อิสราเอลโจมตีคลังอาวุธยุทธภัณฑ์ในซีเรียหลายครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันไม่ให้อาวุธเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของศัตรู แต่ก็ไม่สามารถทำลายได้ทั้งหมด  

โจลานีแสดงท่าทีให้เห็ว่าเขาเลือกเดินทางสายกลาง พินอบพิเทากับรัฐบาลและสื่อตะวันตก รวมทั้งให้สัมภาษณ์กับสื่ออิสราเอล จุดยืนของโจลานีคือ ต่อต้านอิหร่าน ต่อต้านฮิซบุลเลาะห์ ต่อต้านการก่อการร้าย

what-happened-gaddafi-fell-libya-terrible-warning-from-history-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: อาบู โมฮัมเหม็ด โจลานี ผู้นำกลุ่มกบฏฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม Photo by Aref TAMMAWI / AFP

แต่ในเมื่อโจลานีได้อำนาจมาด้วยมือที่เปื้อนเลือด การเป็นนักการเมืองแบบคนทั่วไปจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขา โจลานีอาจต้องการสันติ แต่นักรบที่หนุนหลังเขาอาจไม่ต้องการ พวกเขาสู้รบในสภาพหฤโหดกับโอกาสที่ยากจะเกิดขึ้นมาหลายปี หลังผ่านการเสียสละมามากมาย นักรบเหล่านี้น่าจะไม่ได้นึกถึงการสงบศึกหรือจะต้องอดทนกับอะไรอีก  

กลุ่มต่างๆ จะพากันแย่งชิงความมีอิทธิพลในซีเรีย โดยหลายกลุ่มมาจากอุดมการณ์และศาสนาที่ขัดแย้งกัน ความไม่สงบภายในที่ยืดเยื้อยาวนานจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

โจลานีเป็นผู้นำกลุ่มฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม องค์กรเพื่อการปลดปล่อยแห่งลีแวนต์ ซึ่งแยกมาจากกลุ่มแนวหน้าเพื่อพิชิตลีแวนต์ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ 

ขณะที่ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เอร์โดอาน ของตุรกี สนับสนุนกองทัพแห่งชาติซีเรีย หรือชื่อเดิมคือ กองทัพปลดปล่อยซีเรีย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามกองกำลังประชาธิปไตยซีเรียทีมาจากชาวเคิร์ดที่อยู่ตามแนวชายแดน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มรัฐอิสลาม กลุ่มกบฏชาวดรูซอีกหลายกลุ่ม รวมทั้ง Men of Dignity Movement และ Mountain Brigade Gathering 

สำหรับยุโรปตะวันตกต้องปวดหัวเป็น 2 เท่าจากทั้งการก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรม ไม่มีใครรู้ว่ามีนักรบญิฮัดต่างชาติอยู่ในซีเรียเท่าไร นักรบเหล่านี้บางคนมาจากเติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน จีน และอัฟกานิสถาน แต่ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ที่ชาวมุสลิมอาศัยอยอย่างู่เชชเนีย และดาเกสถานในรัสเซีย 

สำหรับคนเหล่านี้ความมุ่งมั่นของพวกเขาไปไกลกว่าการโค่นล้มอัล-อัสซาด บางคนเริ่มพูดถึงการขยายการสู้รบไปทางตะวันออกไปถึงจีน ขณะที่โจลานีกำลังมองหามหาอำนาจอย่างจีนให้ช่วยสนับสนุนรัฐบาลของเขาในเวทีโลก อาทิ องค์การสหประชาชาติ และอาจต้องการกำจัดกลุ่มคนบ้าระห่ำสุดโต่งเหล่านี้ 

และหากถูกขับไล่ออกมา กลุ่มคนหล่านี้ก็มีแนวโน้มย้ายมายังอังกฤษและสหภาพยุโรปและเดินหน้าทำสงครามต่อต้านตะวันตกต่อไป 

นอกจากนี้ ซีเรียยังเป็นแหล่งยาเสพติดแหล่งใหญ่ไปยังตะวันออกกลางและเริ่มกระจายไปยังตะวันตก และไม่ว่าใครก็ตามที่ได้ควบคุมการค้ายาเสพติด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นธุรกิจของมาเฮอร์ น้องชายของอัล-อัสซาด จะมีบทบาทสำคัญในตลาดยาเสพติดที่ผิดกฎหมายของยุโรปซึ่งมักใช้เส้นทางอพยพกระจายสินค้า 

การต่อสู้แย่งชิงอำนาจจากหลายฝ่าย และแก๊งอาชญากรต่างๆ จะทำให้ความวุ่นวายในซีเรียขยายออกไปนอกพรมแดนในไม่ช้า 

Photo by U.S. Navy photo by Mass Communication Specialist 2nd Class Jesse B. Awalt/Released

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์