อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดรีโก ดูแตร์เต วัย 79 ปีถูกจับกุมและควบคุมตัวในกรุงมะนิลาเมื่อวันอังคาร (11 มี.ค.) ที่ผ่านมา ตามหมายศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในข้อหา ‘ปราบปรามยาเสพติด’ อย่างโหดร้ายมาหลายปี ซึ่งคร่าชีวิตชาวฟิลิปปินส์ไปมากกว่า 6,000 ราย
เวโรนิกา ดูแตร์เต ลูกสาวของดูแตร์เตโพสต์บนอินสตาแกรมว่า พ่อของเธอถูกส่งตัวขึ้นเครื่องบินเมื่อช่วงดึกของวันอังคาร “พวกเขาบังคับเขา (ดูแตร์เต) ขึ้นเครื่องบินโดยไม่พิจารณาถึงสุขภาพของเขา” พร้อมทั้งโพสต์คลิปวิดีโอของดูแตร์เตว่า “ผมก่ออาชญากรรมอะไร...หากผมทำผิด ขอให้ดำเนินคดีกับผมในศาลฟิลิปปินส์ โดยมีผู้พิพากษาชาวฟิลิปปินส์เป็นผู้พิพากษา แล้วผมจะยอมติดคุกในประเทศของตัวเอง”
ขณะที่ ซารา ดูแตร์เต รองประธานาธิบดี ซึ่งเป็นลูกสาวของดูแตร์เตบอกว่า พ่อของเธอถูกนำตัวไปที่กรุงเฮก “พ่อของฉันถูกนำตัวไปที่กรุงเฮกในคืนนี้ นี่ไม่ใช่ความยุติธรรม แต่เป็นการกดขี่และข่มเหง”
SPACEBAR พาไปสำรวจข้อเท็จจริงบางส่วนเกี่ยวกับ ‘การปราบปรามยาเสพติด’ ในช่วงที่ประธานาธิบดีดูแตร์เตดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2016-2022
การปราบปรามยาเสพติดที่จบลงด้วยการ ‘ฆ่า’
ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ดูแตร์เตเคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเบาทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์มาอย่างยาวนานถึง 22 ปี และเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ผู้ลงโทษ’ จากนโยบายที่รุนแรงของเขาสุนทรพจน์ที่เต็มไปด้วยคำหยาบคายและการขู่ฆ่าแก๊งค้ายากลายเป็นจุดเด่นของแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016
“ลืมกฎหมายสิทธิมนุษยชนไปซะ ถ้าผมเข้าทำเนียบประธานาธิบดีได้ ผมก็จะทำแบบเดียวกับที่ผมทำตอนเป็นนายกเทศมนตรี พวกค้ายา พวกปล้น และพวกที่ไม่ทำอะไรเลย คุณควรออกไปซะ เพราะผมจะฆ่าคุณ”
— หนึ่งในประโยคหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
การหาเสียงของเขาในเมืองดาเบาทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะปลอดภัยจากอาชญากรรม นอกจากนี้ ดูแตร์เตยังย้ำกับสำนักข่าว Reuters ถึงความตั้งใจที่จะปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรงด้วย “ผมสั่งฆ่าอาชญากรสัปดาห์ละ 5 คน เพื่อที่พวกเขาจะได้ถูกกำจัดออกไป”
ไม่นานนัก ตำรวจก็ออกปราบปรามไปทั่วประเทศ ในช่วงปี 2016 การปราบปรามยาเสพติดของดูแตร์เตดำเนินไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และจำนวนผู้เสียชีวิตก็ทำลายสถิติ ตำรวจสังหารผู้คนไปกว่า 2,000 รายในช่วงไม่กี่เดือนหลังจากดูแตร์เตเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนไปจนถึงสิ้นปี 2016
ทว่าการปราบปรามและยอดผู้เสียชีวิตเป็นพันพันรายกลับไม่ได้ทำให้ความนิยมของดูแตร์เตลดน้อยลง ผลสำรวจความคิดเห็นโดยหน่วยงานวิจัย ‘Social Weather Stations’ ในเดือนธันวาคม 2016 พบว่าชาวฟิลิปปินส์ 77% ยังคงพึงพอใจกับผลงานของดูแตร์เต
รายงานของสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าเหยื่อส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มยากจนในเมือง ขณะเดียวกัน ทางด้านตำรวจก็ไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น หรือหมายจับเพื่อเข้าตรวจค้นบ้าน พวกเขามักจะบังคับผู้ต้องสงสัยให้การที่เป็นหลักฐานกล่าวโทษตัวเอง ไม่เช่นนั้นผู้ต้องสงสัยอาจต้องเผชิญกับการใช้กำลังถึงชีวิต
นักวิจารณ์กล่าวว่าการปราบปรามดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่พ่อค้ายาเสพติดตามท้องถนน เนื่องจากรัฐบาลดูแตร์เตไม่สามารถจับกุมพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ได้ นอกจากนี้ หลายครอบครัวยังอ้างว่าลูกชาย พี่ชาย หรือสามีของพวกเขายังไปติดอยู่ในสถานการณ์ผิดที่ผิดเวลาอีกด้วย
เมื่อรัฐบาลดูแตร์เตก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศในปี 2022 ก็พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามยาเสพติดอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า โดยทางตำรวจเผยว่าผู้ต้องสงสัย 6,200 รายถูกสังหารระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด ขณะที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามยาเสพติดแล้ว 6,248 ราย
แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวกล่าวว่าความเสียหายที่แท้จริงจากการปราบปรามนั้นมากกว่านี้มาก ในเวลาต่อมาครอบครัวของผู้เสียชีวิตบางรายและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ขุดศพขึ้นมา พร้อมกับนำศพไปเปรียบเทียบกับใบมรณะบัตรและรายงานอย่างเป็นทางการ
มีรายงานการเสียชีวิตจำนวนมากที่ใบมรณบัตรระบุว่าตายเนื่องจากสาเหตุธรรมชาติ ในเคสหนึ่ง ใบมรณบัตรระบุว่า ผู้ตายเป็นปอดบวมตาย แม้ว่ากะโหลกศีรษะของศพที่ขุดขึ้นมาจะมีรอยกระสุนปืนก็ตาม
ขณะที่อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศกล่าวว่า อาจมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของตำรวจ หรือบุคคลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้มากถึง 30,000 รายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
กระบวนการสอบสวนและหมายจับของ ICC

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 สำนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศกล่าวว่าจะดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสียชีวิตจำนวนมากของชาวฟิลิปปินส์ แต่ไม่ถึงหนึ่งเดือนต่อมา ดูแตร์เตก็บอกว่าฟิลิปปินส์จะถอนตัวจากการเป็นประเทศสมาชิกของ ICC ซึ่งการถอนตัวดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2019 ทว่าภายใต้กฎของ ICC แม้ว่ารัฐจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิก แต่ ICC ก็ยังมีเขตอำนาจศาลเหนืออาชญากรรมที่อยู่ในเขตอำนาจศาลซึ่งกระทำในช่วงระยะเวลาการเป็นสมาชิก
การสอบสวนของ ICC ถูกระงับในปี 2021 หลังจากที่ฟิลิปปินส์อ้างว่ามีระบบตุลาการที่มีประสิทธิผลในการสอบสวนและดำเนินคดีกับการละเมิดที่ถูกกล่าวหาได้ ถึงกระนั้นในปี 2023 ทาง ICC ก็กลับมาดำเนินการสอบสวนอีกครั้ง หลังจากศาลระบุว่าไม่พอใจกับการดำเนินการของฟิลิปปินส์
“อย่าตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายของผม เพราะผมไม่ขอโทษ หรือแก้ตัวใดๆ ผมทำสิ่งที่ต้องทำ และไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม...ผมทำเพื่อประเทศของผม ผมเกลียดยาเสพติด อย่าเข้าใจผิด” ดูแตร์เต กล่าวในการสอบสวนของรัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคม
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลปัจจุบันของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ บอกว่า จะ ‘ไม่ให้ความร่วมมือกับ ICC’ แต่ในช่วงปลายปี 2024 กลับบอกว่าจะปฏิบัติตามหมายจับ “รัฐบาลเปิดกว้างที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศแห่งนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวกับ Reuters เมื่อเดือนมกราคม
(Photo by JAM STA ROSA / AFP)