ส่องโมเดล ‘รัฐบาลผสม’ ในต่างประเทศบริหารตลอดรอดฝั่งไหม

9 มิ.ย. 2566 - 08:40

  • นิยาม ‘รัฐบาลผสม’ ในมุมมองของต่างประเทศคืออะไร?

  • ส่องโมเดลประเทศในยุโรปที่จัดตั้งรัฐบาลผสมที่ทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว

what-is-coalition-government-SPACEBAR-Thumbnail
ช่วงนี้หลายคนคงได้ยินกระแสการจัดตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ (Coalition government) อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่าง 8 พรรคที่นำโดยพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ท่ามกลางกระแสที่ว่าจะจัดตั้งสำเร็จหรือเปล่า? ยังไม่ทันจะได้เป็นรัฐบาลก็แตกคอกันซะแล้ว? ตำแหน่งประธานสภาพรรคไหนจะได้ไปครองกันแน่? 

หากย้อนกลับไปในเส้นทางการเมืองไทยจะพบว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสมในสยามเมืองยิ้มนี้มีมานานแล้วตั้งแต่ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 1932 และปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งปี 1975 เพราะในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะไม่มีพรรคการเมืองไหนที่มีเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลได้เลย จึงจำเป็นต้องมีการรวมพรรคการเมืองหลายพรรคเพื่อให้มีเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลนั่นเอง 

ทว่าในมุมมองต่างประเทศก็มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมด้วยเช่นเดียวกัน แล้วประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลผสมไหม? ข้อดี-ข้อเสียมีอะไรบ้าง? 

‘รัฐบาลผสม’ คืออะไร?

รัฐบาลผสม คือ รูปแบบของรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองตั้งแต่ 2 พรรคขึ้นไปร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลผสมจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีพรรคใดในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนมีที่นั่งมากพอที่จะครองสภานิติบัญญัติ

พรรคร่วมรัฐบาลสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบบการเลือกตั้ง แต่จะพบได้ทั่วไปภายใต้ ‘ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน’ (proportional representation) ซึ่งมี 2 รูปแบบ ได้แก่ บัญชีรายชื่อ (Party List) และ ระบบเสริมสมาชิก (Additional Member System) ในบางประเทศทางยุโรป โมเดลรัฐบาลผสมนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ 

ส่วนสาเหตุหลักของการจัดตั้งรัฐบาลผสมคือ ระบบการลงคะแนนเสียงแบบสัดส่วน ความต้องการอำนาจ และสถานการณ์ยามวิกฤติของประเทศ ทั้งนี้ แนวร่วมรัฐบาลจะมีส่วนช่วยในการเจรจาและฉันทามติ อีกทั้งยังพร้อมสนับสนุนการแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านการประนีประนอม 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลผสมอาจถูกมองในแง่ลบเนื่องจากสามารถถูกยุบได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะส่งผลให้อำนาจหน้าที่อ่อนแอลง และอาจล้มเหลวในการดำเนินการตามสัญญาการเลือกตั้งที่เคยให้ไว้ช่วงหาเสียง ทำให้ประชาชนสงสัยถึงความชอบธรรมในการเลือกตั้ง 

กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลผสม

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/37vessIVVbHLANOGKxcOId/8c421b8920a0f76d8808d7399f8caeaa/what-is-coalition-government-SPACEBAR-Photo01
Photo: รัฐสภาสหราชอาณาจักร (UK Parliament) Photo: Andy Bailey / UK PARLIAMENT / AFP
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่ารัฐบาลผสมมักจะตั้งขึ้นเมื่อไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากในรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติของประเทศหลังการเลือกตั้งได้ และไม่ค่อยมีความจำเป็นเท่าใดนักในประเทศที่มีระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก (majoritarian electoral systems) ซึ่งแคนดิเดตจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นจึงจะได้รับการเลือกตั้ง 

แต่ในทางกลับกัน การจัดตั้งรัฐบาลผสมนั้นถือเป็นเรื่องปกติมากในประเทศที่มีระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยประชาชนจะลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองแทนผู้สมัครแต่ละคน 

ในระบบการเลือกตั้งที่มีผู้แทนตามสัดส่วนอย่างสหราชอาณาจักรนั้น พรรคหรือแนวร่วมของพรรคต่างๆ (ส่วนใหญ่คะแนนเสียงมักตกเป็นของ 2 พรรคใหญ่อย่างอนุรักษนิยม และพรรคแรงงานไม่พรรคใดก็พรรคหนึ่ง) ที่มีผู้แทนได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดในรัฐสภาจะได้จัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ ส่วนพรรคเสียงข้างน้อยจะทำหน้าที่เป็น ‘ฝ่ายค้านภักดี’ และมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 

แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสมจะลดการครอบงำของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่อำนาจก็เป็นหนึ่งในแรงจูงใจหลักที่พรรคมีต่อการจัดตั้งรัฐบาลผสม และแม้จะต้องประนีประนอมกับนโยบาย แต่พรรคการเมืองก็ยอมมีอำนาจบ้างดีกว่าไม่มีเลย  

อย่างไรก็ดี รัฐบาลผสมอาจจัดตั้งขึ้นในประเทศที่ประสบกับช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของชาติหรือวิกฤติก็เป็นได้ เช่น ภาวะสงครามหรือเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นไปในลักษณะชั่วคราวมากกว่า สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลผสมในกรณีดังกล่าวนี้ก็เพื่อหวังว่าจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เอกภาพ หรือมีความชอบธรรมทางการเมืองในระดับสูง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเองก็สามารถมีบทบาทในการลดความไม่สงบทางการเมืองภายใน ยกตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรที่นำโดยรัฐบาลผสมหลายพรรคในช่วงสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง 

เมื่อไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมาก รัฐบาลของฝ่ายเสียงข้างน้อยมักจะถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีพรรคฝ่ายค้านหนึ่งพรรคหรือมากกว่าตกลงที่จะลงคะแนนเสียงสนับสนุนกฎหมายที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อให้รัฐบาลทำงานได้ตามปกติ 

เพื่อให้ประสบความสำเร็จสำหรับการคงอยู่ในอำนาจ รัฐบาลผสมต้องเป็นประโยชน์ต่อพรรคร่วมทั้งหมด ต้องเคารพและเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่ละฝ่ายต้องแสดงความเข้าใจมุมมองของผู้อื่น เปิดใจประนีประนอมแม้ว่าจะมีความเห็นไม่ตรงกันก็ตาม 

ตัวอย่างประเทศที่จัดตั้งรัฐบาลผสม

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4L1GxWhfiDg4Z58pYW9AHA/ad0f9ec1333800e69c0d87154060d9a2/what-is-coalition-government-SPACEBAR-Photo02
นอกจากประเทศไทยที่จัดตั้งรัฐบาลผสมมาอย่างยาวนานแล้วก็มีตัวอย่างของประเทศต่างๆ แถบยุโรป เช่น ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลีที่จัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งมีทั้งอ่อนแอและยั่งยืนยงด้วยเหมือนกัน  

ฟินแลนด์ 
ตั้งแต่ฟินแลนด์ประกาศเอกราชจากรัสเซียในปี 1917 ก็ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้อีกเลยซึ่งส่งผลให้ฟินแลนด์จัดตั้งรัฐบาลผสมตั้งแต่นั้นมาจนกลายเป็นรากฐานของรัฐบาลฟินแลนด์ไปแล้ว 

นอกเหนือจากข้อยกเว้นทางประวัติศาสตร์บางประการแล้ว รัฐบาลมักประกอบด้วยตัวแทนพรรคใหญ่ 2 พรรคและพรรคเล็กอีกจำนวนหนึ่ง 

ในปี 2019 หลังจากที่พรรคฝ่ายซ้ายอย่างพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) ได้รับการเลือกตั้งในรัฐสภา ทางพรรคก็เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคกลาง พรรค Green League พรรคพันธมิตรฝ่ายซ้าย และพรรคพลังประชาชนสวีเดน  

พันธมิตรกลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นก็เพื่อกันพรรคฟินน์ (Finns Party) ซึ่งเป็นประชานิยมฝ่ายขวาออกจากรัฐบาลหลังจากที่พรรคนี้ได้รับผลประโยชน์จากการเลือกตั้งนั่นเอง 

สวิตเซอร์แลนด์ 
ปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์ถูกครอบครองโดยรัฐบาลผสม 4 พรรคที่ยังคงครองอำนาจอยู่มาตั้งแต่ปี 1959 ประกอบด้วยพรรคประชาธิปไตยเสรี พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคประชาธิปไตยคริสเตียน และพรรคประชาชนสวิส 

ลักษณะการจัดตั้งนี้ก็จะคล้ายกับฟินแลนด์ โดยที่สมาชิกรัฐสภาของสวิสจะได้รับการเลือกตั้งตามระบบสัดส่วน ซึ่งในสวิตเซอร์แลนด์จะรู้จักหลักการนี้ดีเรียกว่า ‘สูตรมหัศจรรย์’ เนื่องจากระบบจะกระจายตำแหน่งรัฐมนตรี 7 ตำแหน่งในแต่ละพรรคหลัก 

อิตาลี 
การเลือกตั้งในอิตาลีมีความซับซ้อนมากขึ้น หลังจากการล่มสลายของระบอบฟาสซิสต์ของ เบนิโต มุสโสลินี ในปี 1943 ตั้งแต่นั้นมาระบบการเลือกตั้งในอิตาลีก็ได้รับการพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้มีรัฐบาลผสม 

สิ่งนี้เรียกว่า ‘ระบบการเลือกตั้งแบบผสม’ (Mixed Electoral System) ซึ่งประกอบด้วยระบบเสียงข้างมากและแบบสัดส่วน โดยในระหว่างการเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเขตขนาดเล็กซึ่งใช้หลักเสียงข้างมาก ส่วนเขตการเลือกตั้งขนาดใหญ่จะใช้ระบบแบบสัดส่วน และสำหรับชาวอิตาลีที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศก็จะมีการลงคะแนนเสียงโดยใช้ระบบสัดส่วนแทน  

อย่างไรก็ดี แม้ว่าระบบการเลือกตั้งของอิตาลีจะสนับสนุนรัฐบาลผสม แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลผสมเหล่านั้นจะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้พบว่า อายุขัยเฉลี่ยของรัฐบาลผสมอิตาลีนั้นน้อยกว่า 1 ปี 

ข้อดี VS ข้อเสีย ของ ‘รัฐบาลผสม’

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7zkKDoXbVbT6GFXMn1ETn6/8a9ceb04de4debf5d4a9dd1c98e439b1/what-is-coalition-government-SPACEBAR-Photo03
รัฐบาลผสมมักถูกมองว่าเป็นรูปแบบของรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ และจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างพรรคการเมืองที่มีอำนาจเหนือกว่าทั้งหมดในขณะที่จัดตั้งรัฐบาลผสม อีกทั้งผู้บริหารพรรคร่วมรัฐบาลต้องรับฟังข้อเรียกร้องของพรรคเหล่านี้ 

ดังนั้น การตัดสินใจโดยใช้เสียงข้างมากในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงทำได้ยากขึ้น เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างกันของพรรคการเมืองและความกลัวว่ารัฐบาลอาจถูกยุบได้ทุกเมื่อ  

ข้อดี 
รัฐบาลผสมเป็นเหมือนตัวแทนของประชาชนในวงกว้างและมีมุมมองที่หลากหลาย จึงทำให้รัฐบาลดูมีความเป็นประชาธิปไตยและยุติธรรมมากขึ้น  

ทั้งนี้ รัฐบาลผสมยังเปิดโอกาสให้ผู้สนับสนุนพรรคอื่นได้เป็นตัวแทนในรัฐบาล เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชื่อว่าพรรคเล็กๆ อาจเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลและอาจมีโอกาสได้รับอำนาจทางการเมือง พวกเขาก็อาจมีแนวโน้มที่จะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นตัวแทนของพวกเขาจริงๆ แทนที่จะเลือกระหว่าง 2 พรรคหลัก 

ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งสำหรับรัฐบาลผสมก็คือ เมื่อมีความคิดเห็นที่หลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องของนโยบายก็มีแนวโน้มที่แต่ละพรรคจะถกเถียงกันในมุมมองต่างๆ ก่อนที่พิจารณาว่านโยบายนั้นผ่านหรือไม่ผ่านนั่นเอง 

นอกจากนี้ยังพบว่า รัฐบาลผสมมีความต่อเนื่องในการบริหารที่ราบรื่นมากขึ้น เนื่องจากพรรคเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะแสดงมุมมองที่กว้างขึ้นซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ 

“อาจเป็นเรื่องยากสำหรับรัฐบาลที่มีพรรคเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวในการผลักดันกฎหมายที่เข้มงวดโดยไม่ก่อให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนและพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างที่มักเกิดขึ้นในสหรัฐฯ บ่อยๆ แต่ในรัฐบาลผสม พรรคต่างๆ จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจเหล่านั้น” ริชาร์ด ไวเนน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากคิงส์คอลเลจลอนดอนกล่าว 

ข้อเสีย 
รัฐบาลผสมอาจถูกมองว่าเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่า เนื่องจากพรรคขนาดเล็กสามารถเจรจาต่อรองเพื่อรับการสนับสนุนมากกว่าที่พวกเขาได้รับตามสัดส่วน หมายความว่าพรรคที่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงเล็กน้อยอาจเสนอตำแหน่งอำนาจที่พวกเขาไม่สามารถทำได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และอาจกำหนดมุมมอง รวมถึงนโยบายของตนต่อเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งอาจทำให้การทำงานตามระบอบประชาธิปไตยน้อยลงในบางครั้งด้วย 

ทั้งนี้ พรรคเสียงข้างน้อยอาจพยายามเล่นเป็น ‘kingmaker’ (พยายามสืบทอดอำนาจ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ใกล้เข้ามา  

ปัญหาอีกประการหนึ่งสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลคือ เวทีของพรรคและคำสัญญาที่นำเสนอในระหว่างการหาเสียงมักจะเป็นพื้นฐานเพียงเล็กน้อยในการหาคะแนนเสียงของประชาชนในตอนแรก และส่วนใหญ่มักไม่เกี่ยวข้องและไม่สมจริงหลังจากจัดตั้งรัฐบาล กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ‘ทำไม่ได้อย่างที่หาเสียงไว้’ 

ในระหว่างข้อตกลงหลังการเลือกตั้งซึ่งมีการเจรจาระหว่างพันธมิตร โดยส่วนใหญ่พบว่า พรรคต่างๆ มักจะละทิ้งคำสัญญาที่พวกเขาได้ให้ไว้กับประชาชนช่วงหาเสียง 

ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาลผสมคือ รัฐบาลอาจไม่มีความมั่นคงและไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากพันธมิตรทางการเมืองอาจไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ซึ่งกันและกัน และแน่นอนว่ารัฐบาลผสมอาจถูกยุบเมื่อใดก็ได้ 

“รัฐบาลผสมเป็นรูปแบบของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ…แม้แต่ในเยอรมันเอง ผมขอยืนยันว่าในแง่ของประสิทธิภาพทางการเมืองและการดำเนินการตามวาระที่สอดคล้องกัน รวมถึงการพยายามตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจนั้นเป็นปัญหาอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” คริสเตียน ชไวเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านกิจการรัฐบาลและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย เดอรัมของสหราชอาณาจักรกล่าว 

แล้วคุณล่ะชอบรัฐบาลแบบไหน? คุณอยากให้ประเทศไทยหลุดจากรากฐานรัฐบาลผสมที่มีมาอย่างยาวนานเช่นนี้ไหม? หรือการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่เป็นอยู่แบบนี้ก็ดีแล้ว?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์