เวทีประชุมเศรษฐกิจ ‘WEF’ ดาวอสที่นายกฯ เศรษฐาไปยังสำคัญอยู่ไหม?

18 ม.ค. 2567 - 07:22

  • เปิดการประชุม ‘World Economic Forum’ ครั้งที่ 54 อีกหนึ่งเวทีนานาชาติที่ทั่วโลกจับตาภายใต้หัวข้อ ‘การสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมาใหม่’

  • ปัจจุบันเวทีนี้ยังสำคัญอยู่ไหม? ปีนี้อภิปรายประเด็นใดบ้าง?

what-is-davos-and-why-is-it-important-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจากเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน พร้อมคณะเดินทางไปร่วมประชุมเวทีระดับโลกประจำปี ‘World Economic Forum (WEF)’ ณ ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยให้คำมั่นว่าจะนำประโยชน์กลับมาให้คนไทยอย่างแน่นอน ซึ่งการประชุมนี้ถือเป็นเวทีสำคัญของเศรษฐาในการพบปะผู้นำ บุคคลสำคัญ และนักธุรกิจมากมายเลยทีเดียว

งานประชุม ‘WEF’ นั้นคืออะไร? สำคัญยังไง? ปัจจุบันยังสำคัญอยู่ไหม? ทำไมผู้นำระดับโลกถึงเข้าร่วม

งานประชุม ‘World Economic Forum’ คืออะไร? 

‘World Economic Forum’ (WEF) หรือสภาเศรษฐกิจโลกเป็นองค์กรระหว่างประเทศไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1971 โดย เคลาส์ ชวับ นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกใน ‘ประเด็นทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ’ ด้วยการรวบรวมภาครัฐและเอกชนมารวมตัวกันเพื่อระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาระดับโลกเหล่านี้ ซึ่งยังคงเป็นหนึ่งในหลักการก่อตั้งและบ่งบอกถึงพันธกิจขององค์กรที่ว่า ‘มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสถานะของโลก’ 

การประชุม ‘WEF’ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 5 ทศวรรษที่แล้วที่เทศบาลดาวอส ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางของการประชุมประจำปีทุกปีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  

ใครเข้าร่วมประชุมบ้าง?

what-is-davos-and-why-is-it-important-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Fabrice COFFRINI / AFP

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ ‘WEF’ ก็คือ ‘ผู้ที่มาร่วมงาน’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้นำโลก ผู้นำสหภาพยุโรปและสหประชาชาติ ตัวแทนรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ มหาเศรษฐี นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นวัตกร องค์กรนอกภาครัฐ ภาคประชาสังคม และคณะสื่อมวลชน รวมทั้งนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเกรียตา ธุนแบรก์ โดยรายชื่อแขกอย่างเป็นทางการรวมๆ แล้วประมาณ 2,000-3,000 คน  

แม้การประชุมมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการพบปะพูดคุยของกลุ่มผู้มีสิทธิพิเศษเพียง 1% ของโลก แต่ก็ยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนพยายามล็อบบี้และชักจูงชนชั้นสูงที่ทรงอำนาจเหล่านี้ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก 

นอกเหนือจากการประชุมร่วมอภิปรายถกประเด็นเศรษฐกิจการเมืองแล้ว เวทีนี้ยังเป็นสถานที่พบปะสำหรับประเทศและภูมิภาคต่างๆ ในการนำเสนอแนวคิดและบริการ หรือดึงดูดการลงทุน

‘WEF’ พิเศษยังไงทำไมต้องไปประชุม?

หลักการก่อตั้งประการหนึ่งของ ‘WEF’ คือ ‘การมีความเป็นกลาง เป็นอิสระ และปราศจากผลประโยชน์พิเศษ’

แม้เวทีนี้จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์หลักประการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้จัดงานทุกปีซึ่งก็คือ การหยิบประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศขึ้นมาเป็นวาระการประชุม แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่ามีผู้เข้าร่วม 1 ใน 10 คนในปี 2022 เดินทางโดยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเพื่อไปที่นั่น

แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘WEF’ เป็นพื้นที่พบปะสำหรับผู้ทรงอิทธิพลของโลก นั่นจึงทำให้การประชุมนี้กลายเป็นเวทีสนทนาและอภิปรายในระดับโลกที่ไม่มีใครเทียบได้ และมีความสำเร็จที่สำคัญบางประการในประวัติศาสตร์ตลอด 50 ปี

เคยเป็นเวทีแห่งความเป็นกลาง และการบุกเบิก 

ในปี 1988 ข้อตกลงที่ลงนามในที่ประชุมซึ่งเรียกว่า ‘ปฏิญญาดาวอส’ (Davos Declaration) ได้รับการยกย่องว่าช่วยให้ตุรกีและกรีซก้าวถอยออกจากความขัดแย้งด้วยอาวุธ 

ในปี 1992 เนลสัน แมนเดลา และ เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ด้วยกันทั้งคู่ ได้ปรากฏตัวร่วมกันครั้งแรกบนเวทีระหว่างประเทศที่ดาวอส ถือเป็นก้าวสำคัญในการยุติการแบ่งแยกสีผิว และทั้งคู่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีถัดมา 

นอกจากนี้ ในปี 2000 ‘Global Alliance for Vaccines and Immunization’ (Gavi) หรือกาวี องค์กรระหว่างรัฐ-เอกชนที่เกี่ยวกับสาธารณสุขระดับโลกก็เปิดตัวที่ดาวอส และตั้งแต่นั้นมาทางองค์กรก็ได้ปรับปรุงการเข้าถึงวัคซีนสำหรับคนหลายล้านคน และมีส่วนช่วยในการฉีดวัคซีนให้กับเด็กไปแล้ว 760 ล้านคนทั่วโลก 

แล้วปัจจุบัน ‘WEF’ ยังสำคัญอยู่ไหม?

what-is-davos-and-why-is-it-important-SPACEBAR-Photo03.jpg

‘WEF 2024’ เป็นการประชุมประจำปีครั้งที่ 54 เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคมภายใต้หัวข้อ ‘การสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมาใหม่’ โดยมีเป้าหมายเพื่อหารือเกี่ยวกับ ‘หลักการพื้นฐานของความไว้วางใจ’ ได้แก่ ความโปร่งใส ความเชื่อมโยงสอดคล้อง และความรับผิดชอบ 

ทว่าผลที่ตามมาอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความขัดแย้งใหม่ๆ ทั่วโลก อาจทำให้ยากต่อการสร้างความไว้วางใจในสถาบันต่างๆ ขึ้นมาใหม่  

ผู้เข้าร่วมระดับสูงในการประชุมประจำปีมีจำนวนลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยที่บุคคลสำคัญๆ อย่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ไม่ได้มาเข้าร่วม และในปี 2023 พบว่านายกฯ เยอรมัน โอลาฟ ชอลซ์ เป็นผู้นำเพียงคนเดียวของประเทศ G7 ที่เข้าร่วม 

“ผู้นำไม่ได้หมดความสนใจในฟอรัมต่างๆ อย่าง WEF แต่พวกเขาตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ว่าการเข้าร่วมการประชุมในแต่ละปีจะเป็นประโยชน์หรือไม่” ปีเตอร์ วิลเล็ตต์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาการเมืองโลกที่ซิตี้ มหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าว 

“เช่นเดียวกับฟอรัมทางการเมืองอื่นๆ ‘WEF’ ระบุเป้าหมายในแง่ดีเกินไปในแง่ทั่วไป ถึงกระนั้นก็ถือเป็นเวทีที่มีประโยชน์สำหรับผู้นำระดับโลกบางคนที่จะ…พบปะแบบตัวต่อตัวอย่างไม่เป็นทางการนอกการประชุม” วิลเล็ตต์ตั้งข้อสังเกต 

ทว่านักวิจารณ์บางคนกลับไม่เคยเชื่อว่า ‘WEF กำลังทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น…’ และชั่งน้ำหนักว่าเวทีนี้ให้คุณค่าอะไรกับโลกบ้าง 

“…การมีส่วนร่วมส่วนใหญ่จำกัดอยู่เพียงรัฐบาล องค์กร และผู้มีบทบาทภาคประชาสังคมที่มีอำนาจเท่านั้น…” ยาน อาร์ต ชอลเตศาสตราจารย์ด้านการเปลี่ยนแปลงระดับโลกและความท้าทายด้านธรรมาภิบาลแห่งมหาวิทยาลัยไลเดนกล่าว 

ขณะที่ แจ็ค คอปลีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเดอรัมมองว่า “การวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนที่ต่อต้าน WEF นั้นค่อนข้างประหลาด เช่น การอ้างว่า WEF เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรระดับโลกที่ดำเนินเรื่องระดับนานาชาติ…การสมรู้ร่วมคิดเหล่านี้ดูเหมือนจะได้รับแรงผลักดันหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19”  

คอปลีย์เสริมว่า “การที่ WEF จะประสบความสำเร็จในปัจจุบันหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณตีความเป้าหมายของการประชุมอย่างไร มันประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนในการรวบรวมองค์กรและนักการเมืองชั้นนำจากส่วนต่างๆ ของโลกเพื่อหารือเกี่ยวกับหัวข้อเร่งด่วนในสภาพแวดล้อมที่หรูหรา ทั้งยังมีการจัดทำรายงานและผุดโครงการริเริ่มภาครัฐและเอกชนที่หลากหลาย…โครงการริเริ่มบางส่วนเหล่านี้มีผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น การรณรงค์ให้ฉีดวัคซีน”  

“แต่ผลกระทบที่แท้จริงของ WEF ยังขาดคำแถลงอันสูงส่ง” 

ประเด็นที่ ‘WEF’ ร่วมถกกันในปีนี้

what-is-davos-and-why-is-it-important-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by Fabrice COFFRINI / AFP
  • บรรลุความมั่นคงและความร่วมมือท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับวิกฤตการณ์ด้านความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ การหารือสถานการณ์ในตะวันออกกลาง สงครามรัสเซียยูเครน ประเด็นจีนไต้หวัน และการแบ่งขั้วทางการเมือง 
  • การสร้างการเติบโตและงานสำหรับยุคใหม่ การทำงานร่วมกันในกรอบเศรษฐกิจใหม่เพื่อป้องกันการเติบโตต่ำ การจัดลำดับความสำคัญความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละบุคคล ลดการแลกเปลี่ยน (minimizing trade-offs) และเพิ่มการทำงานร่วมกันให้สูงสุด 
  • ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับเศรษฐกิจและสังคม โดยจะมีการอภิปรายถึงการค้นหาวิธีควบคุม AI เพื่อประโยชน์ของทุกคน ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง AI กับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น 5G 6G คอมพิวเตอร์ควอนตัม และเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงภัยคุกคามของ AI ด้วย 
  • นอกจากจะถกประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีการอภิปรายกลยุทธ์ระยะยาวสำหรับสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และพลังงานเพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภาย (carbon neutrality) ในปี 2050 รวมประเด็นถึงการส่งเสริมโลกที่คำนึงถึงธรรมชาติ และมุ่งเป้าพัฒนากลยุทธ์เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถเข้าถึงพลังงาน อาหาร และน้ำในราคาที่เอื้อมถึง ปลอดภัย และครอบคลุม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์