‘ไอรอนโดม’ ด่านหน้าสกัดขีปนาวุธคุ้มกันน่านฟ้าอิสราเอลจากจรวดฮามาส

10 ต.ค. 2566 - 09:03

  • ‘ไอรอนโดม’ ด่านหน้าคุ้มกันอิสราเอลคืออะไร? ทำงานยังไง? ทำไมถึงช่วยคุ้มกันขีปนาวุธที่ยิงเข้ามาได้?

what-is-iron-dome-israel-anti-rocket-system-SPACEBAR-Hero.jpg

‘โดมเหล็ก’ ด่านหน้าที่คอยคุ้มกันภัยคุกคามจากขีปนาวุธ 

ฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์โจมตีอิสราเอลแบบที่ไม่ทันตั้งตัวด้วยการเปิดฉากยิงจรวดกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอลเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปีในอิสราเอลและฉนวนกาซาจนทำให้เกิดภาพการเผชิญหน้าอันน่าตกตะลึงไปทั่วน่านฟ้าของภูมิภาค 

ทว่าจรวดที่ยิงจากฉนวนกาซาส่วนใหญ่นั้นกลับก่อให้เกิดอันตรายเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เนื่องจากจรวดประมาณ 90% ถูกสกัดกั้นโดยระบบป้องกันขีปนาวุธ ‘ไอรอนโดม’ (Iron Dome) หรือ ‘โดมเหล็ก’ ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลและถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ด้านความมั่นคงของอิสราเอลด้วย 

ว่าแต่ว่า ‘ไอรอนโดม’ หลังคาเหล็กที่ป้องกันขีปนาวุธนี้คืออะไรกัน?

‘ไอรอนโดม’ (Iron Dome) เป็นระบบป้องกันขีปนาวุธทางอากาศของอิสราเอลที่สามารถป้องกันและสกัดกั้นจรวดพิสัยใกล้ในอากาศ โดยสามารถจัดการจรวดหลายลูกได้สำเร็จในแต่ละครั้ง 

โดมเหล็กดังกล่าวพัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ ‘Rafael Advanced Defense Systems’ และผู้ผลิตอากาศยานและการบินรายใหญ่ของอิสราเอล ‘Israel Aerospace Industries’ ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามจากฉนวนกาซาและเลบานอนตอนใต้ และเริ่มปฏิบัติการในเดือนมีนาคม 2011 โดยทำการสกัดกั้นจรวดจากฉนวนกาซาเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน 2011 ซึ่งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาระบบดังกล่าวก็สามารถสกัดกั้นจรวดนับพันลูกได้ 

แล้วไอรอนโดม ‘ทำงาน’ ยังไง?

Iron Dome.jpg
  • ไอรอนโดมจะใช้เรดาร์หลายภารกิจ (multi-mission radar) เพื่อตรวจจับเส้นทางของจรวด โดยจะตรวจจับจรวดที่เข้ามาซึ่งอยู่ห่างออกไป 4-70 กิโลเมตร  
  • ขณะที่ศูนย์บัญชาการและควบคุมระบบจะวิเคราะห์วิถีโคจรของจรวดและจุดปะทะ พร้อมทั้งประมวลผลข้อมูลและเชื่อมต่อกับเครื่องยิงขีปนาวุธเพื่อทำลายจรวด 
  • ระบบดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองต่อขีปนาวุธที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามเท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อศูนย์กลางประชากร 
  • โดยระบบปัญญาประดิษฐ์จะวิเคราะห์ว่าผู้คนจะตกอยู่ในอันตรายจากขีปนาวุธที่เข้ามาหรือไม่? หากพิจารณาแล้วว่าไม่เป็นภัยคุกคาม ระบบจะปล่อยให้จรวดเข้าสู่น่านฟ้า 

ทั้งนี้ ‘Raytheon Technologies’ กลุ่มบริษัทข้ามชาติด้านการบิน อวกาศและกลาโหมสัญชาติอเมริกันระบุว่า “ตัวฐานไอรอนโดมเป็นแบบเคลื่อนที่ได้ โดยช่วงกลางปี 2021 อิสราเอลมีฐานไอรอนโดม 10 ตัวที่ถูกนำมาใช้ทั่วประเทศ ฐานแต่ละตัวจะมีเครื่องยิงจรวด 3-4 เครื่องโดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องพื้นที่่ 155 ตารางกิโลเมตร และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกสภาพอากาศ” 

และเนื่องจากเป็นระบบพิสัยใกล้ ไอรอนโดมได้รับการออกแบบมาเพื่อยิงขีปนาวุธระยะที่เข้ามาในระยะ 40 ไมล์หรือน้อยกว่า นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการเคลื่อนย้าย ไม่ว่าจะขึ้นเรือหรือบนพื้นดินเพื่อให้เหมาะกับความต้องการด้านการป้องกันที่ดียิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ไอรอนเหล็กจะต้องเติมกระสุนซ้ำเพื่อสกัดกั้นขีปนาวุธที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

โดมเหล็กนี้มีมูลค่าเท่าไหร่?

ตามรายงานระบุว่า ระบบสกัดกั้นของอิสราเอลมีค่าใช้จ่ายอยู่ในหลักหมื่นถึงล้านดอลลาร์ ส่วนราคาขีปนาวุธสกัดกั้นแต่ละลูกอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 ดอลลาร์ (ราว 1.4 – 1.8 ล้านบาท) และกำลังพัฒนาระบบเลเซอร์เพื่อต่อต้านจรวดและโดรนของศัตรูโดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2 ดอลลาร์ต่อการสกัดกั้นหนึ่งครั้ง 

เดิมทีไอรอนโดมยังไม่ได้รับการพัฒนาจากความช่วยเหลือของสหรัฐฯ แต่ในปี 2011 สหรัฐฯ ก็เริ่มให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการนี้และกดดันให้มีการแบ่งปันเทคโนโลยี รวมถึงการผลิตร่วมกัน ทำให้บริษัท Raytheon เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานี้ 

ปัจจุบันฐานปล่อยขีปนาวุธต่อต้านจรวดบางส่วนผลิตในสหรัฐฯ และการสนับสนุนของสหรัฐฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิสราเอลซึ่งมีมูลค่ารวม 38,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.41 ล้านล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2019-2028

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์