หน้าร้อนจะหมดกี่โมง! อะไรทำให้ปีนี้ร้อนปรอทแตกเบอร์นี้

6 พ.ค. 2567 - 02:00

  • ปีนี้มีแนวโน้มว่าจะร้อนกว่าปี 2023 ที่ครองแชมป์ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในเอเชียที่ร้อนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ แถมยังมีปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิร้อนผิดปกติอีกด้วย

  • ความร้ายกาจคือ บ้านเราทั้งร้อนทั้งชื้น เมื่อทั้งสองอย่างนี้มารวมกันถือเป็นส่วนผสมที่อันตรายมาก เนื่องจากความชื้นจะทำให้ร่างกายระบายเหงื่อซึ่งเป็นกลไกทำให้ร่างกายเย็นลงได้ช้าลง

what-is-making-southeast-asia-so-damn-hot-SPACEBAR-Hero.jpg

ปีที่แล้วอุณหภูมิโลกทุบสถิติเป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกเมื่อปี 1850 ซึ่งอาจจะร้อนที่สุดในรอบอย่างน้อย 100,000 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าปีนี้อาจจะร้อนกว่าปี 2023 โดยเฉพาะในเอเชียที่ร้อนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ แถมปีนี้ยังมีปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิร้อนผิดปกติอีกด้วย  

สำหรับประเทศไทย ดัชนี้ความร้อนซึ่งวัดอุณหภูมิอากาศและความชื้นที่ร่างกายมนุษย์รู้สึกได้ในขณะนั้นพึ่งขึ้นไปแตะที่ 52 องศาเซลเซียสซึ่งถือว่าอยู่ในระดับ “อันตรายมาก” โดย แม็กซิมิลิอาโน เฮอร์รรา นักอุตุนิยมวิทยาเผยกับสำนักข่าว CNN ว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักที่สุดหลังอุณหภูมิทะลุสถิติไม่หยุดมา 13 เดือน 

“เราคิดว่าอุณหภูมิปีที่แล้วก็เหลือทนแล้ว แต่ปีนี้ร้อนกว่านั้นอีก อุณหภูมิในกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียสเลย แม้จะเป็นตอนกลางคืนก็ตาม” และว่าเอเชียต้องเผชิญกับอุณหภูมิสุดร้อนแรงนี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 

ที่ร้ายสำหรับบ้านเราคือ ทั้งร้อนทั้งชื้น เมื่อทั้งสองอย่างนี้มารวมกันถือเป็นส่วนผสมที่อันตรายมาก เนื่องจากความชื้นจะทำให้ร่างกายระบายเหงื่อเพื่อให้ร่างกายเย็นลงได้ช้า ทำให่ร่างกายต้องขับเหงื่อมากขึ้น  

ยังไม่หมดเท่านั้น องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ยังบอกว่ามีโอกาส 1 ใน 3 ที่ปีนี้จะร้อนกว่าปีที่แล้ว และมีโอกาส 99% ที่ปีนี้จะติดโผ 1 ใน 5 ปีที่ร้อนที่สุดในโลก 

แล้วอะไรทำให้โลกเราร้อนขนาดนี้? 

โดมความร้อนที่ก่อตัวทั่วโลก 

คลื่นความร้อน (heat wave) ที่ทำให้อากาศร้อนมากกว่าปกติ เกิดจากการก่อตัวของความกดอากาศสูงในชั้นบรรยากาศ โดยความกดอากาศสูงนี้จะบีบอัดและทำให้อากาศที่อยู่ด้านล่างร้อนขึ้น เมื่ออากาศเคลื่อนตัวลงมา มันจะผลักกระแสลมที่เคลื่อนที่เร็วและเย็นกว่าออกไป และบีบเมฆออกไป ทำให้ดวงอาทิตย์ส่องถึงผิวโลกได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง

what-is-making-southeast-asia-so-damn-hot-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ความกดอากาศสูงในชั้นกลางของบรรยากาศทำหน้าที่เป็นโดมหรือฝาครอบทำให้ความร้อนสะสมที่พื้นผิวโลก Photo by NOAA

ผิวโลก ไม่ว่าจะเป็นดิน ทราย คอนกรีต หรือแอสฟัลต์จะได้รับแสงอาทิตย์ไปเต็มๆ และยิ่งในช่วงที่กลางวันยาวนานกว่ากลางคืน พลังงานความร้อนก็ยิ่งสะสมได้เร็วขึ้นจนอุณหภูมิสูงขึ้นตาม  

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “โดมความร้อน” เนื่องจากความร้อนจะถูกกักเก็บอยู่ในโดมของแรงกดอากาศ 

อุณหภูมิผิวน้ำทะเล 

ขณะนี้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในภูมิภาคเอเชียสูงกว่าปกติหลายองศาเซลเซียส ส่งผลให้อุณหภูมิช่วงกลางคืนบนแผ่นดินสูงกว่าปกติ เมื่อกลางคืนอุณหภูมิสูง อุณหภูมิในช่วงกลางวันจึงเริ่มต้นจากฐานอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย 

เกาะความร้อน 

ปรากฏการณ์ “เกาะความร้อนในเมือง” (Urban Heat Island) ที่พื้นที่เขตเมืองจะร้อนกว่าพื้นที่รอบๆ เกิดจากโครงสร้างในเมืองอย่างอาคาร ถนน เหล็ก และยานพาหนะกักเก็บและปล่อยความร้อนสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน

what-is-making-southeast-asia-so-damn-hot-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ก้นแม่น้ำยมุนาที่แห้งผากจนแตกระแหงในช่วงฤดูร้อนของอินเดีย Photo by Sajjad HUSSAIN / AFP

ปีแห่งเอลนีโญครั้งใหญ่ 

ปรากฏการณ์เอลนีโญนำพาทั้งความร้อนและความแล้งมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันเนื่องมาจากอุณหภูมิพื้นผิวและลมพื้นผิวของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้น องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมาว่า แม้เอลนีโญจะเริ่มอ่อนกำลังลงแล้ว แต่ยังส่งผลให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ย และปรากฏการณ์เอลนีโญนี้อาจเป็นที่มาของฤดูร้อนที่มาเร็วในเอเชียด้วย 

คริสโตเฟอร์ ฮิวอิตต์ หัวหน้าฝ่ายภูมิอากาศระหว่างประเทศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเผยว่า “มีความเป็นไปได้สูงที่เอลนีโญจะอยู่ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม และหลังจากนั้นเราก็ยังไม่แน่ใจ มันเริ่มไม่ค่อยแน่นอน” 

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ร้อนรุนแรงขึ้น 

นอกจากเอลนีโญแล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศคืออีกสาเหตุหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอยู่ก่อนแล้วก่อนที่เอลนีโญจะเข้ามาสมทบให้ความร้อนยิ่งทวีคูณ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้คลื่นความร้อนเกิดนานขึ้น เกิดบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และยังทำให้ผลกระทบของเอลนีโญรุนแรงขึ้นด้วย   

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศบวกกับปรากฏการณ์เอลนีโญดันให้อุณหภูมิโลกเข้าสู่จุดที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” 

ทั้งนี้ แม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นทุกทศวรรษมาตั้งแต่ปี 1960 แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสิ่งที่น่ากังวลสำหรับคลื่นความร้อนที่กำลังปกคลุมทั้งภูมิภาคนี้อยู่คือ การที่คลื่นความร้อนนั้นเกิดขึ้น “ยาวนาน” อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ปรากกฏการณ์นี้ทำให้ทั้งภูมิภาคอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  

รายงานของ IQ Air ที่สำรวจคุณภาพอากาศทั่วโลกระบุว่า “ขณะนี้ยังไม่ทราบวันสิ้นสุดที่แน่นอน เนื่องจากการลดความร้อนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น รูปแบบสภาพอากาศ และความพยายามในการบรรเทาผลกระทบ (ของรัฐบาล)” 

Photo by Fida HUSSAIN / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์