‘ร่องลึกนันไก’ คืออะไร? ทำไมญี่ปุ่นกลัวจนต้องเตือนว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในอีกไม่นาน

9 ส.ค. 2567 - 08:55

  • ‘ร่องลึกนันไก’ คืออะไร? ทำไมญี่ปุ่นกลัวจนต้องเตือนว่า ‘อาจจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในอนาคตอันใกล้’

  • แผ่นดินไหวที่เกิดบริเวณดังกล่าวมักเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 8 และเกิดเป็นประจำทุก 100-200 ปีที่บริเวณรอยต่อแผ่นเปลือกโลกระหว่างอ่าวซูรูงะในจังหวัดชิซูโอกะ และทะเลฮีวงะในเกาะคิวชู

  • แผ่นดินไหวรุนแรงบริเวณร่องลึกนันไกครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1946

what-is-the-nankai-trough-earthquake-SPACEBAR-Hero.jpg

ญี่ปุ่นออกคำเตือนแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งแรกที่ ‘อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้’ และเตือนภัยสึนาม หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.1 ในจังหวัดมิยาซากิ นอกชายฝั่งเกาะคิวชูทางตอนใต้ เมื่อวานนี้ (8 ส.ค.) เวลาประมาณ 16.43 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) แม้จะมีรายงานว่าไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงใดๆ ก็ตาม 

คำเตือนดังกล่าวออกในคืนวันพฤหัสบดี (8 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อแจ้งให้ประชาชนเตรียมพร้อมแต่ไม่ต้องอพยพ และยังเน้นย้ำว่าคำเตือนนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเร็วๆ นี้ แต่ ‘มีความเป็นไปได้สูงกว่าปกติ’ 

ถึงแม้ว่าสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) ได้ยกเลิกคำเตือนสึนามิทั้งหมดแล้วเมื่อช่วงคืนวันพฤหัสบดี แต่ก็ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังไปอีก 1 สัปดาห์และไม่ควรละเลยคำเตือน เนื่องจากระดับน้ำทะเลอาจยังคงสูงอยู่ตลอดแนวชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดคาโงชิมะไปจนถึงจังหวัดวากายามะ 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่บริเวณขอบแนวร่องลึกนันไก (Nankai Trough) ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งก่อนๆ คร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นชีวิต และทอดยาวตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น 

ทำความรู้จัก ‘แนวร่องลึกนันไก’ คืออะไร?

‘แนวร่องลึกนันไก’ หรือ ‘นันไกทรัฟ’ เป็นร่องน้ำลึกใต้ทะเลที่ตั้งอยู่ทางใต้ของนันไกโด (Nankaido region) หรือภูมิภาคทะเลใต้บนนเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น ทอดตัวออกไปห่างจากชายฝั่งประมาณ 900 กิโลเมตร โดยบริเวณรอยเลื่อนนันไกเมกะทรัสต์ (Nankai megathrust) เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวนันไกเมกะทรัสต์ (การมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก) ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง  

แผ่นดินไหวที่เกิดบริเวณร่องลึกนันไกเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 8 ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุก 100-200 ปีที่บริเวณรอยต่อแผ่นเปลือกโลกระหว่างอ่าวซูรูงะในจังหวัดชิซูโอกะ และทะเลฮีวงะในเกาะคิวชู แต่ไม่สามารถคาดเดาเวลาที่แน่นอนได้ โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1946 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีโอกาส 70-80% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 8-9 ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งภายใน 30 ปีข้างหน้า ส่วนการประมาณการในกรณีเลวร้ายที่สุดเผยว่า อาจมีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหว และสึนามิตามมามากกว่า 200,000 คน 

จากการประมาณการความเสียหายที่ประกาศเมื่อ 10 ปีก่อนระบุว่า หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้น พื้นที่ทางตะวันออก และตะวันตกของญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบรุนแรง และอาจมีคลื่นสึนามิสูงกว่า 30 เมตรพัดถล่มพื้นที่ชายฝั่ง ขณะที่การประมาณการล่าสุดเผยว่า จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 230,000 ราย และอาคารประมาณ 2.09 ล้านหลังจะได้รับความเสียหายจากไฟไหม้หรือถูกทำลาย  

แต่มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงบริเวณร่องลึกนันไกประมาณ 60% ภายใน 20 ปีข้างหน้า

what-is-the-nankai-trough-earthquake-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by JAPAN POOL / JIJI PRESS / AFP

ตามงานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นปีที่แล้วระบุว่า มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหว 8-9 บริเวณร่องลึกนันไกทรัฟ นอกชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่นภายใน 20 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 60% 

นักวิจัยจะอัปเดตตัวเลขทุกปีโดยจะคำนวณความน่าจะเป็นในวันที่ 1 มกราคม และผลความน่าจะเป็นที่คำนวณไว้ช่วงต้นปีที่แล้วพบว่า : 

  • จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงบริเวณร่องลึกนันไกทรัฟประมาณ 30% ภายใน 10 ปี, 
  • 70-80% ภายใน 30 ปี, 
  • และประมาณ 90% ภายใน 40 ปีข้างหน้า 

นอกจากนี้ ยังมีการปรับเพิ่มประมาณการแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่บริเวณตอนเหนือของญี่ปุ่นอีกด้วย โดยคาดว่าแผ่นดินไหวขนาด 8-8.6 จะเกิดในบริเวณร่องลึกคูริล-คัมชัตคา (Kuril-Kamchatka Trench / หรือร่องลึกคิชิมะ) นอกชายฝั่งภูมิภาคโทคาจิ จังหวัดฮอกไกโด ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 40 ปีข้างหน้านี้ โดยปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 30% เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2022

“โอกาสที่เกิดแผ่นดินไหวบริเวณร่องลึกนันไก และบริเวณอื่นๆ ที่เราประเมินไว้มีมากขึ้นทุกปี เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ผมหวังว่าผู้คนจะเตรียมตัวโดยยึดหลักว่าแผ่นดินไหวจะต้องเกิดขึ้น”

นาโอชิ ฮิราตะ ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว และประธานคณะกรรมการวิจัย กล่าว

แล้วแผ่นดินไหวบริเวณร่องลึกนันไกเคยเกิดมาแล้วกี่ครั้ง?

what-is-the-nankai-trough-earthquake-SPACEBAR-Photo02.jpg

สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดบริเวณร่องลึกนันไกเคยเกิดขึ้นมาแล้วราว 13 ครั้ง มีดังนี้ : 

  1. แผ่นดินไหวฮาคุโฮ (Hakuho earthquake) ปี 684 / ขนาด 8.4 / มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
  2. แผ่นดินไหวนินนะ นันไก (Ninna Nankai earthquake) ปี 887 / ขนาด 8.6 / มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
  3. แผ่นดินไหวไม่ระบุชื่อ ปี 1096 / ขนาด 8.4 / ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
  4. แผ่นดินไหวโควะ นันไกโด (Kōwa Nankaido earthquake) ปี 1099 / ขนาด 8.0 / ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
  5. แผ่นดินไหวไม่ระบุชื่อ ปี 1360 / ขนาด 7.0 / ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
  6. แผ่นดินไหวโชเฮ (Shōhei earthquake) ปี 1361 / ขนาด 8.4 / ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
  7. แผ่นดินไหวเมโอ (Meiō earthquake) ปี 1498 / ขนาด 8.6 / มีผู้เสียชีวิตหลายพันราย
  8. แผ่นดินไหวเคอิโช (Keichō earthquake) ปี 1605 / ขนาด 7.9 / มีผู้เสียชีวิตหลายพันราย
  9. แผ่นดินไหวโฮเออิ (Hōei earthquake) ปี 1707 / ขนาด 8.6 / มีผู้เสียชีวิต 5,000 ราย
  10. แผ่นดินไหวโทไก (Tōkai earthquake) ปี 1854 / ขนาด 8.4 / มีผู้เสียชีวิต 2,000 ราย
  11. แผ่นดินไหวนันไก (Nankai earthquake) ปี 1854 / ขนาด 8.4 / มีผู้เสียชีวิตหลายพันราย
  12. แผ่นดินไหวโทนันไก (Tōnankai earthquake) ปี 1944 / ขนาด 8.1 / มีผู้เสียชีวิต 1,251 ราย
  13. แผ่นดินไหวนันไก (Nankai earthquake) ปี 1946 / ขนาด 8.1 / มีผู้เสียชีวิต 1,330 ราย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์