เวลาเป็นเงินเป็นทอง! สวิตเซอร์แลนด์ผุด ‘ธนาคารเวลา’ ให้พลเมืองฝาก-ถอนได้

5 ม.ค. 2567 - 23:00

  • ทำความรู้จัก ‘ธนาคารเวลา’ สวิตเซอร์แลนด์คืออะไร? กระบวนการเป็นอย่างไร?

  • นอกจากสวิสแล้วมีประเทศไหน? ที่ริเริ่มโครงการ ‘ธนาคารเวลา’ บ้าง

what-is-time-bank-switzerland-SPACEBAR-Hero.jpg

“เวลาเป็นเงินเป็นทอง”

เบนจามิน แฟรงคลิน หนึ่งในบิดาผู้สร้างชาติสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้

ใครหลายคนอาจคุ้นเคยกับวลีนี้เป็นอย่างดี เพราะเวลานั้นสำคัญไฉนอย่าได้ปล่อยเลยไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ทว่ามีเพียงไม่กี่คนที่มองว่าเวลาเป็นสิ่งทดแทนเงินสดได้อย่างแท้จริง และน้อยคนนักที่จะใช้เวลาที่เปรียบเปรยเป็นเงินๆ ทองๆ อย่างคุ้มค่าจริงๆ 

แต่มีประเทศหนึ่งที่ก้าวหน้าไปอีกขั้นแล้วในการนำแนวคิดนี้ไปใช้อย่างจริงจัง นั่นก็คือ ‘สวิตเซอร์แลนด์’ ดินแดนสวรรค์บนดินที่ผุดแนวคิดสุดเจ๋ง ‘ธนาคารเวลา’ (Time Bank) ซึ่งชาวสวิสสามารถบันทึกและฝากเวลาในธนาคารได้จริงๆ ทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการที่ต้องการได้อีกด้วย แม้ฟังดูเหลือเชื่อจะเป็นไปได้เหรอ? แต่เชื่อสิคุณอ่านไม่ผิดหรอก มันเป็นเรื่องจริงและมันเกิดขึ้นแล้ว! 

แล้ว ‘ธนาคารเวลา’ ที่ว่านี้คืออะไรกันล่ะ?

‘ธนาคารเวลา’ เป็นระบบการแลกเปลี่ยนที่ช่วยให้ผู้คน ‘ฝาก’ และ ‘ถอน’ เวลาได้ตามความสามารถและความต้องการพวกเขา

กระทรวงสาธารณสุขสวิสได้สร้างแนวคิด 'ธนาคารเวลา' ขึ้นมาเพื่อเป็นโครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุภายใต้อุดมการณ์เห็นใจผู้อื่น โดยประชาชนสามารถอาสาดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ จากนั้นจำนวนชั่วโมงที่พวกเขาใช้หรือดูแลผู้สูงอายุจะถูกฝากไว้ในบัญชีประกันสังคมส่วนบุคคล 

เมื่ออาสาสมัครเหล่านั้นเข้าสู่วัยชราและต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาก็สามารถใช้ประโยชน์จาก ธนาคารเวลาที่พวกเขาเคยฝากเวลาไว้นี่แหละ ด้วยการได้รับการดูแลจากอาสาสมัครเช่นเดียวกัน 

ในปัจจุบัน เป็นเรื่องปกติมากในสวิตเซอร์แลนด์ที่ธนาคารเวลาจะให้บริการผู้สูงอายุ นโยบายนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนการประกันภัยแห่งชาติ (national insurance) เท่านั้น แต่ยังช่วยแก้ปัญหาสังคมมากมาย  

นอกจากนี้ ชาวสวิสยังแสดงการสนับสนุนนโยบายนี้อย่างเต็มที่ โดยจากการสำรวจพบว่า ครึ่งหนึ่งของพลเมืองชาวสวิสเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ อีกทั้งรัฐบาลยังได้ออกกฎหมายนโยบาย ‘ธนาคารเวลา’ นี้ด้วย 

กระบวนการของ ‘ธนาคารเวลา’ เป็นอย่างไร?

what-is-time-bank-switzerland-SPACEBAR-Photo01.jpg

แนวคิดของธนาคารเวลานั้นก็ตรงไปตรงมาคือ บริการตามกรอบเวลา (A time-based service) โดยบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นบริการอะไรก็ได้ที่ต้องใช้เวลา ได้แก่ บริการด้านไอที การให้คำปรึกษา พี่เลี้ยงเด็ก ทำผม ทำสวน ก่อสร้าง สอนพิเศษ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลานาน 

ธนาคารจะติดตามระยะเวลาที่ใช้ในการให้บริการซึ่งจะถูกบันทึกไว้ในบัญชีเวลา และจะสะสมอยู่ในธนาคารเวลา โดยพลเมืองสามารถใช้มันเพื่อซื้อบริการเวลาจากบุคคลอื่นเมื่อยามจำเป็น หรือยามที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ 

แม้ว่าในอดีตจะมีการบริจาคเวลาตามความสมัครใจหรือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนบ้านหรือในหมู่มวลเพื่อนฝูง แต่เทคโนโลยีได้ทำให้ธนาคารเวลากลายเป็นจริงได้ และระบบก็ง่ายขึ้นเพราะผู้คนจำนวนมากสามารถติดตามเวลาของพวกเขาได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ทั้งยังช่วยให้พลเมืองสวิสประหยัดเวลาด้วย  

นอกจากนี้ยังแปลงเป็น ‘เงินตรา’ ที่สามารถฝากเข้าบัญชีและแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการที่ต้องการได้ 

นี่คือตัวอย่างพลเรือนสวิสที่เข้าร่วมโครงการธนาคารเวลา…

what-is-time-bank-switzerland-SPACEBAR-Photo02.jpg

นักเรียนคนหนึ่งที่เคยเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์เล่าว่า “ตอนที่ฉันเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ ฉันเช่าห้องใกล้โรงเรียน ซึ่งเจ้าของห้องเช่าเป็นหญิงโสดสูงวัยอายุ 67 ปีที่เกษียณจากราชการแล้ว และสามารถอยู่ได้อย่างสบายใจด้วยเงินบำนาญของเธอ แต่หญิงสูงวัยยังทำงานให้ชายวัย 87 ปีด้วย…” 

ฉันจึงถามเธอว่า ‘คุณทำงานเพื่อเงินหรือเปล่า?’ เธอก็ตอบว่า ‘ฉันไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน ฉันซ่อนเวลาของฉันไว้ใน ‘ธนาคารเวลา’ เมื่อยามที่ฉันชราภาพ ฉันจะได้นำเวลานั้นออกมาใช้ใหม่ในสภาวะที่ฉันไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้’” 

“วันหนึ่ง ตอนที่ฉันอยู่ที่โรงเรียน หญิงสูงวัยโทรมาบอกฉันว่าเธอลื่นล้มบนเก้าอี้ขณะทำความสะอาดหน้าต่าง แต่เป็นเพราะเธอลงทะเบียนกับธนาคารไว้แล้ว จึงมีอาสาสมัครไปให้บริการเธอภายใน 2 ชั่วโมง ทั้งยังคอยดูแลเธอทุกวัน ทำอาหารอร่อยๆ และพูดคุยกันตลอดทั้งเดือน จากนั้นไม่นานเธอก็ฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตทำหน้าที่ได้ตามปกติ”

หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ เขียวขอความช่วยเหลือจากธนาคารเวลาในการขออาสาสมัครมาตัดหญ้าในสวนให้ แดงอาสามาช่วยเขียวเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จากนั้นเวลา 1 ชั่วโมงดังกล่าวจะถูกหักจากบัญชีเวลาของเขียว และโอนเข้าบัญชีสะสมเวลาของแดงนั่นเอง แต่ทั้งเขียวและแดงต้องเป็นสมาชิกของธนาคารเวลาด้วย

ประเทศใดบ้าง? ที่นำแนวคิดสุดเจ๋งนี้ไปใช้

น่าแปลกที่ ‘ธนาคารเวลา’ ไม่ใช่แนวคิดใหม่สำหรับโลก! 

นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้วก็พบว่าประมาณ 34 ประเทศได้เริ่มใช้แนวคิดนี้แล้ว รวมถึงสหราชอาณาจักรที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2000 ด้วย นอกจากนี้ยังมีสหรัฐฯ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สเปน กรีซ ฯลฯ ด้วยเช่นกัน ขณะที่สิงคโปร์กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาว่าจะทำตามแนวคิดนี้เช่นเดียวกัน 

อินเดียก็มีธนาคารเวลาด้วย… 

เมื่อปี 2018 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอแนะให้อินเดียนำโครงการธนาคารเวลามาใช้ด้วย ซึ่งมีรายงานว่ารัฐมัธยประเทศกลายเป็นรัฐแรกของอินเดียที่เปิด 'ธนาคารเวลา' ในปี 2019 และมีสมาชิกใหม่ 500 รายในปี 2021 

ในปัจจุบัน การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปของ ‘ผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียว’ กำลังกลายเป็นปัญหาสังคม แม้แต่ในประเทศแถบเอเชีย ลองคิดดูสิว่าหากประเทศไทยของเรามีนโยบาย ‘ธนาคารเวลา’ แบบสวิตเซอร์แลนด์บ้างก็คงจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเราหรือใครหลายๆ คนไม่น้อยเลยทีเดียว

เพราะสิ่งที่เราเรียกว่า ‘เวลา’ นั้นสำคัญไฉนเป็นสิ่งมีค่าที่ผ่านแล้วผ่านเลยไม่ไหลย้อนกลับ ดังที่ ธีโอเฟรตัส (Theophrastus) นักปรัชญาชาวกรีกได้กล่าวไว้ว่า “เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดที่มนุษย์สามารถใช้ได้”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์