ตะวันออกกลางจะลุกเป็นไฟหรือไม่หลังผู้นำฮามาสถูกลอบสังหาร

1 ส.ค. 2567 - 08:05

  • กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เพิ่มระดับเตือนภัยแก่พลเมืองที่จะเดินทางไปเลบานอนจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 คือห้ามเดินทาง 

  • อังกฤษ-ออสเตรเลีย เตือนพลเมืองเลี่ยงไปเลบานอน ส่วนที่อยู่ในเลบานอนอยู่แล้วให้เดินทางออกทันที 

  • นักวิเคราะห์ชาวปาเลสไตน์กล่าวว่า อาจมีการแก้แค้นอิสราเอลจากเวสต์แบงก์ หรือกลุ่มฮามาสในตอนใต้ของเลบานอน 

  • การสังหารฮานิเยห์อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาหยุดยิงในกาซาและการปล่อยตัวประกันทั้งหมด 

what-next-after-assassination-of-hamas-chief-haniyeh-SPACEBAR-Hero.jpg

นักวิเคราะห์การเมืองมีความเห็นว่า เหตุลอบสังหาร อิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำทางการเมืองของกลุ่มฮามาส ระหว่างที่เขาเดินทางเยือนกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่านเพื่อร่วมฉลองพิธีรับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่อาจกระตุ้นให้มุสลิมหัวรุนแรงเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้และเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแก้แค้นอิสราเอล  

การทำสงครามในกาซาดำเนินมานานเกือบ 10 เดือนแล้ว และยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงร่วมกัน และนี่เป็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาหลังการเสียชีวิตของผู้นำฮามาส  

ใครจะมาแทนที่ฮานิเยห์?  

หลังปฏิบัติการโจมตีในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน จนส่งผลให้ผู้นำฮามาสสิ้นชื่อ มีการกล่าวถึงคนสองคนที่จะมาแทนที่ฮานิเยห์ คนแรกคือ มูซา อาบู มาร์ซุก รองผู้นำฝ่ายเมืองของกลุ่มฮามาส ซึ่งมีจุดยืนแบบเดียวกับฮานิเยห์ ทั้งยังอยู่เบื้องหลังการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับอิสราเอลหลายครั้ง  

ช่วงทศวรรษ 1990  มาร์ซุกถูกจับขณะอาศัยอยู่ในสหรัฐในข้อกล่าวหาว่าสนับสนุนด้านเงินทุนแก่กลุ่มติดอาวุธของฮามาส จากนั้นเขาได้มาอาศัยอยู่ในจอร์แดน อียิปต์และกาตาร์  

ตัวเต็งคนที่สองที่คาดว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มฮามาสคือ คาลิล อัล-ฮายา ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาสอันดับ 2 ในกาซา ซึ่งมีความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาสในกาซา  

ฮายาเป็นผู้นำบรรดาส.ส.ของฮามาสในรัฐสภาช่วงสั้นๆ หลังจากคว้าชัยได้ครองเสียงข้างมากในสภาในปี 2006 ก่อนที่การร่วมกันบริหารประเทศร่วมกับประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาสของปาเลสไตน์และผู้นำกลุ่มฟาตาห์จะยุติลงและกลุ่มฮามาสเข้ายึดครองกาซาในปีต่อมา  

ฮายาเป็นผู้ที่มีแนวคิดต่อต้านอิสราเอลอย่างแข็งขัน และในปี 2007 ที่กองทัพอิสราเอลโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มฮามาสเขาสูญเสียสมาชิกครอบครัวไปหลายคน  

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่า คาเล็ด เมชาอัล  ผู้นำกลุ่มฮามาสคนก่อนหน้านี้ อาจจะหวนกลับมาเป็นผู้นำแทนที่ฮานิเยห์ โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนการฮามาส ทั้งเป็นสมาชิกของฝ่ายการเมืองประจำกลุ่มมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม  

เมชาอัล มีสมญาว่าอาบู อัล วาลิด เกิดที่หมู่บ้านซิลวาดของเขตเวสต์แบงก์  ในปี 1956 ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่นั่น ก่อนครอบครัวจะย้ายไปคูเวต ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาสำเร็จการศึกษาชั้นประถมและมัธยมที่นั่น  

เมชาอัล ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการเมืองของฮามาส ระหว่างปี 1996-2017 และได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำขบวนการฮามาส สืบต่อจากชีคอาเหม็ด ยัสซิน ผู้ล่วงลับ ในปี 2004  

ในปี 1997 เขาตกเป็นเป้าหมายในการลอบสังหารของมอสซาด (Mossad) หรือหน่วยสายลับอิสราเอล ซึ่งดำเนินแผนดังกล่าวตามคำสั่งของเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในขณะนั้น โดยมอสซาดส่งสายลับที่ถือหนังสือเดินทางปลอมสัญชาติแคนาดาเข้าไปในจอร์แดน 10 คน ก่อนจะเข้าประชิดตัวเมชาอัลและฉีดสารพิษใส่เขา ขณะที่กำลังเดินอยู่บนท้องถนนในกรุงอัมมานของจอร์แดน  

อย่างไรก็ตาม ทางการจอร์แดนได้ทราบถึงแผนการนี้ และได้จับกุมตัวสายลับของอิสราเอลไว้ได้ 2 ราย กษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดนทรงร้องขอยาถอนพิษจากนายเนทันยาฮู เพื่อช่วยชีวิตเมชาอัลซึ่งมีสถานะเป็นพลเมืองของจอร์แดนในขณะนั้น แต่ผู้นำอิสราเอลปฏิเสธ จนอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ของสหรัฐฯ ต้องเข้าแทรกแซง จนสามารถกดดันให้นายเนทันยาฮูมอบยาถอนพิษได้สำเร็จ  

จะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อฮามาส?  

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในกลุ่มฮามาสที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีว่า ฮามาสจะมีชัยในวิกฤตครั้งนี้ เหมือนกับการลอบสังหารชีค อาเหม็ด ยาซิน ผู้ก่อตั้งกลุ่มฮามาสที่จะทำให้กลุ่มแข็งแกร่งขึ้น   

โจสท์ ฮิลเทอร์แมนน์ ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางจาก International Crisis Group กล่าวว่า “กลุ่มฮามาสประกาศชัดเจนว่าเหตุลอบสังหารฮานิเยห์ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อกลุ่ม สะท้อนความเป็นผู้นำของกลุ่มอย่างมาก  

แต่ฮิวจ์ โลแวทท์ นักวิจัยจาก European Council on Foreign Relations มองต่างมุม โดยเห็นว่า เหตุลอบสังหารนี้จะเป็นปมเจ็บปวดที่ติดค้างในจิตใจของฮามาส  

การหยุดยิงในกาซาจะเป็นอย่างไร?  

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า สงครามกาซาครั้งล่าสุดที่เปิดฉากขึ้นเพราะการโจมตีของฮามาส เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,197 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน มีการจับกุมตัวประกัน 251 คน ในจำนวนนี้ 111 คนยังคงถูกคุมขังในกาซา  

การสังหารฮานีเยห์อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาหยุดยิงที่เปราะบางที่มีเป้าหมายเพื่อยุติการโจมตีกาซาของกองทัพอิสราเอลและเพื่อให้อิสราเอลปล่อยตัวประกันทั้งหมด  

“จากข้อมูลที่เรารวบรวมได้ตอนนี้ ความเป็นผู้นำทางการเมืองของฮานีเยห์ที่มีฐานอยู่ในโดฮาสร้างแรงกดดันต่อซินวาร์ให้รับแผนหยุดยิง” โลแวทท์ กล่าว  

ขณะที่บางกลุ่มอาจจะฉลองด้วยความดีใจที่ฮานีเยห์ตายในสื่อสังคมออนไลน์ในอิสราเอล แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่กลัวว่าจะมีการตอบโต้ทางทหารเพิ่มขึ้น  

มาไคมาร์ อาบูซาดา นักวิเคราะห์ชาวปาเลสไตน์ กล่าวว่า อาจมีการแก้แค้นอิสราเอลจากเวสต์แบงก์ หรือกลุ่มฮามาสในตอนใต้ของเลบานอน  

ความขัดแย้งจะลามไปทั่วภูมิภาคหรือไม่?  

สงครามในกาซาจุดชนวนทำให้เกิดความขัดแย้งทั่วภูมิภาค โดยมีอิหร่านเป็นผู้สนับสนุน รวมถึงการปะทะกันบริเวณชายแดนตอนเหนืออิสราเอลกับเลบานอน  

 ลินา คาทิบ จาก Chatham House เตือนว่า “ความขัดแย้งในทุกสถานการณ์เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอยู่บานปลายจนควบคุมไม่ได้”  

แต่บรรดานักวิเคราะห์ก็มองว่า อิหร่านไม่น่าจะเอาตัวเองเข้าไปพัวพันกับการทำสงครามกับอิสราเอล  

“ถ้าอิหร่านรู้สึกว่าผลประโยชน์ของประเทศได้รับผลกระทบ อาจจะเคลื่อนไหว แต่เหตุลอบสังหารผู้นำฮามาสครั้งนี้ไม่น่าจะนำไปถึงจุดนั้น” ฮิลเทอร์แมนน์ กล่าว  

หลายประเทศเตือนพลเมืองเลี่ยงไปเลบานอน  

ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายประเทศเตือนพลเมืองของตนให้เร่งเดินทางออกจากเลบานอนด่วน  

เพนนี หว่อง รมว.ต่างประเทศออสเตรเลีย เตือนชาวออสเตรเลียให้เดินทางออกจากเลบานอนทันที พร้อมทั้งแชร์คลิปวิดีโอทางโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่า ข้อความจากฉันถึงพลเมืองออสเตรเลีย และชาวออสเตรเลียที่พำนักอยู่ในเลบานอน ตอนนี้ ต้องเดินทางออกจากเลบานอน เพราะมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางทวีความรุนแรงมากขึ้น   

คำเตือนนี้มีขึ้นหลังจากอิสราเอลโจมตีทางอากาศถล่มกรุงเบรุต ปลิดชีพ ฟูอัด ชุกร์ ผู้บัญชาการระดับสูงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เสียชีวิตเมื่อ 30 ก.ค.   

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีพลเมืองเชื้อสายเลบานอนพำนักอาศัยอยู่กว่า 248,000 คน ถือเป็นประเทศที่มีพลเมืองเชื้อสายเลบานอนอาศัยอยู่มากที่สุด นอกประเทศเลบานอน  

ส่วนเดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เรียกร้องให้ชาวอังกฤษหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเลบานอน ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ทั้งยังเตือนให้ชาวอังกฤษที่ยังคงอยู่ในเลบานอนรีบเดินทางออกจากประเทศทันที  

“คุณควรรีบเดินทางออกในขณะที่ยังคงมีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์อยู่” แถลงการณ์ ระบุ  

นอกจากนี้ แลมมี ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลอังกฤษจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อป้องกันมิให้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ลุกลามกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ  

ขณะที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ยกระดับการใช้ความพยายามทางการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในระดับภูมิภาค หลังผู้นำของฮิซบอลเลาะห์และผู้นำของฮามาสเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน เพราะอาจนำไปสู่การทำสงครามเต็มรูปแบบในภูมิภาคตะวันออกกลาง  

ด้านกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ เพิ่มระดับเตือนภัยแก่พลเมืองสหรัฐฯ ในการเดินทางไปเลบานอนจากระดับ 3 คือระดับให้พิจารณาให้รอบคอบในการเดินทางเป็นระดับ 4 ซึ่งเป็นการเตือนภัยระดับสูงสุดคือไม่เดินทาง   

ส่วนชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในเลบานอนในตอนนี้ ควรเตรียมพร้อมและอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆระหว่างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และอิสราเอล  

Photo by SAID KHATIB / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์