เลือกตั้งครั้งนี้ มีความหมายอย่างไรกับวิทยาศาสตร์!?

22 พ.ค. 2566 - 06:52

  • ผลการเลือกตั้งออกมาในขณะที่ประเทศกำลังดำเนินการตามแผนที่จะย้ายจากเศรษฐกิจที่ใช้อุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่มุ่งสู่นวัตกรรมหรือที่เรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 แต่รัฐบาลใหม่จะมีความหมายอย่างไรต่อแผนเหล่านั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจน

what-thailands-election-radical-new-government-science-SPACEBAR-Thumbnail
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยสนับสนุนการปฏิรูปอย่างสุดโต่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา  โดยมอบชัยชนะให้กับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่เน้นเยาวชนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงแบบเบ็ดเสร็จต่อระบบราชการ เศรษฐกิจ การทหาร และสถาบันกษัตริย์ของประเทศ  

Nature ระบุว่า ผลการเลือกตั้งออกมาในขณะที่ประเทศกำลังดำเนินการตามแผนที่จะย้ายจากเศรษฐกิจที่ใช้อุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่มุ่งสู่นวัตกรรมหรือที่เรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 แต่รัฐบาลใหม่จะมีความหมายอย่างไรต่อแผนเหล่านั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจน 

ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของทหารตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2014 ต่อมามีการเลือกตั้งในปี 2019 ส่งผลให้รัฐบาลที่ปกครองโดยทหารดำเนินต่อไป แต่พรรคก้าวไกล ได้ที่นั่ง 152 จาก 500 ที่นั่งในสภาล่างและเดินหน้าระบุจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทยและพรรคเล็กอื่นๆ 

ไทยแลนด์ 4.0 

เสาหลักของไทยแลนด์ 4.0 คือแนวคิดเศรษฐกิจแบบ Bio-Circular-Green (BCG เศรษฐกิจหมุนเวียน) ซึ่งนำเสนอมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับการวิจัยและแนะนำการแบ่งเขตพิเศษเพื่อพัฒนาพื้นที่บางส่วนให้เป็นเขตอุตสาหกรรม ความพยายามนี้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมใน 10 ภาคส่วน ได้แก่ เกษตรกรรม อุปกรณ์การแพทย์ พลังงาน และเคมีภัณฑ์ 

โครงการดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในระหว่างที่ประเทศไทยพัฒนาวัคซีน mRNA ที่ผลิตเองในประเทศเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระตุ้นความทะเยอทะยานของประเทศในการเป็นศูนย์กลางชีวการแพทย์ 

รัฐบาลไทยได้ส่งเสริม BCG ในระดับนานาชาติ และได้กลายเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ของประเทศกับธนาคารโลกและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายชื่อโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเป้าหมายและเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจน 

ผลักดันให้เกิดนวัตกรรม 

ประเทศไทยได้แนะนำแนวทาง BCG ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เมื่อปีที่แล้วที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้นำมาใช้เป็นนโยบายอย่างเป็นทางการสำหรับการพัฒนาต่อไป 

มาร์ก โคแกน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหวทางสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยคันไซ ไกได ในเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ยอมรับว่าการศึกษาและการฝึกอบรมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย 

โคแกนกล่าวว่า ไทยสามารถเรียนรู้บทเรียนจากเวียดนาม ซึ่งกำลังลงทุนในการฝึกอบรมและการศึกษา เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หลายบริษัทต้องการขยายการผลิตในประเทศไทย แต่แรงงานไม่พร้อม การศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยก้าวตามไม่ทันนวัตกรรมทางเทคโนโลยี  

อุปสรรคการบริหาร 

แม้ว่าการลงทุนด้าน R&D ของไทยเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศระหว่างปี 2014 – 2017 และจำนวนพนักงานในภาคส่วนนี้เพิ่มขึ้น 65% แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าจำนวนบริษัทนวัตกรรมในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อย โดยสิทธิบัตรส่วนใหญ่ถือครองโดยบริษัทต่างประเทศ แรงจูงใจด้านภาษี R&D มีผลจำกัดต่อนวัตกรรม 

BCG และ ไทยแลนด์ 4.0 ได้รับความสนใจน้อยในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ฝ่ายส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการครองชีพ 

ความช่วยเหลือจากภายนอก 

จากการที่พรรคก้าวไกล บรรลุข้อตกลงร่วมกับพรรคเพื่อไทยและฝ่ายอื่นๆ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ธนาคารโลกก็เพ่งเล็งความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อดำเนินการทบทวนคุณภาพการลงทุนภาครัฐด้านเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม 

“ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถออกแบบกลไกและมาตรการที่เกี่ยวข้องด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เหมาะสมกับการสร้างความสามารถทางนวัตกรรมของภาคเอกชนไทยในระดับที่กว้างขึ้น” ปัทมวดี โพชนุคุลิน ประธานคณะวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวพร้อมเสริมว่า หน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมคือปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย 

แต่โคแกนเตือนว่ารัฐบาลปฏิรูปใหม่อาจพบว่าเป็นการยากที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของนโยบายวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ถูกครอบงำโดยกองทัพ รวมถึงโครงการด้านวิทยาศาสตร์ เพราะกองทัพมีอิทธิพลอย่างมาก กองทัพอาจจะยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น 

โคแกนคาดการณ์ว่า พรรคก้าวไกลจะ ‘ก้าวไปอย่างแผ่วเบา’ และ ‘ไม่ทะเยอทะยานอย่างที่สัญญาไว้’ เนื่องจากการปฏิรูปในวงกว้าง ‘มักไม่ค่อยเป็นไปด้วยดีในประเทศไทย’ ปัญหาที่ไม่มีใครอยากพูดถึงคือ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหารอีกครั้งหรือการยุบพรรคการเมือง 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์