ทอง ‘ยังอยู่’ หรือ ‘หาย’ ไปแล้ว? เจาะคลังเก็บทองคำ Fort Knox ของสหรัฐฯ ที่มีการป้องกันแน่นหนาที่สุด

15 มี.ค. 2568 - 03:00

  •   จู่ๆ ทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ ก็ตั้งคำถามในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันว่า ทองคำสำรองที่เก็บไว้ที่ฟอร์ทน็อกซ์ยังอยู่ดีหรือหายไปแล้ว และประกาศว่าพวกเขาจะเข้าไปตรวจสอบที่นั่น

  • โรงกษาปณ์สหรัฐฯ (U.S. Mint) ก่อสร้างคลังเก็บทองคำแท่งฟอร์ทน็อกซ์ในรัฐเคนทักกีเมื่อปี 1936 เพื่อเก็บทองคำสำรองของสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น

  • มีคนทราบรายละเอียดที่แท้จริงของโครงสร้างฟอร์ทน็อกซ์เพียงไม่กี่คน และไม่มีใครรู้ขั้นตอนทั้งหมดของการเปิดห้องนิรภัยแม้แต่คนเดียว

what-to-know-about-fort-knox-gold-depository-SPACEBAR-Hero.jpg

“จริงๆ แล้วเราจะไปฟอร์ทน็อกซ์เพื่อดูว่าทองคำยังอยู่หรือไม่ เพราะบางทีอาจมีคนขโมยทองไป ทองเป็นตันๆ”

โดนัลด์ ทรัมป์

“ใครจะยืนยันได้ว่าทองคำไม่ได้ถูกขโมยไปจากฟอร์ทน็อกซ์ บางทีมันอาจจะอยู่ที่นั่น บางทีอาจจะไม่อยู่ ทองคำพวกนั้นเป็นของประชาชนคนอเมริกัน เราต้องการทราบว่าทองคำยังอยู่ที่นั่นหรือไม่”

อีลอน มัสก์

คำพูดของทั้งทรัมป์และมัสก์ก็ทำให้ผู้คนกลับมาพูดถึงการมีอยู่ของทองคำสำรองในคลังสหรัฐฯ อีกครั้ง แม้แต่คำยืนยันของ สก็อตต์ เบสเซ็นต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของทรัมป์ว่า มีการตรวจสอบทุกปีและทองคำทั้งหมดยังอยู่และปลอดภัยดีก็ไม่ช่วยดับข่าวลือนี้ ประจวบกับเป็นช่วงที่ราคาทองคำพุ่งกระฉูด ขยับขึ้นกว่า 40% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และ 10% นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน 

สหรัฐฯ มีทองคำสำรองมากที่สุดในโลก โดยถือครองไว้ถึง 8,133 ตัน (หากนับตามมูลค่าปัจจุบัน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2025 จะมากกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มากกว่าทองคำของเยอรมนีที่เก็บไว้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกกว่า 2 เท่าตัว ทองคำสำรองของสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 4% ของอุปทานทองคำทั่วโลกตามข้อมูลจากองค์กรอุตสาหกรรมทองคำแท่ง World Gold Council

what-to-know-about-fort-knox-gold-depository-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: คลังเก็บทองคำแท่งฟอร์ทน็อกซ์ ถ่ายเมื่อเดือน 2011 Photo by Wikipedia/Chris Light

จุดกำเนิดฟอร์ทน็อกซ์ (Fort Knox)

โรงกษาปณ์สหรัฐฯ (U.S. Mint) ก่อสร้างคลังเก็บทองคำแท่งฟอร์ทน็อกซ์ในรัฐเคนทักกีเมื่อปี 1936 เพื่อเก็บทองคำสำรองของสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้นในพื้นที่ 441 ตารางกิโลเมตร ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันตัวอาคารก็สร้างแล้วเสร็จด้วยหินแกรนิต  16,000 คิวบิกฟุต เหล็กเสริมคอนกรีต 750 ตัน เหล็กโครงสร้าง 670 ตัน มูลค่าในการก่อสร้างทั้งหมด 560,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 12,798,256 ดอลลาร์สหรัฐตามมูลค่าเงินในปัจจุบัน 

คลังเก็บทองคำแท่งฟอร์ทน็อกซ์รับมอบทองคำครั้งแรกในปี 1937 จากโรงกษาปณ์ฟิลาเดลเฟียและหน่วยงานตรวจสอบและตีตราประทับรับรองความบริสุทธิ์ของทองนิวยอร์ก โดยขนส่งมาทางรถไฟ มีทหารกองพันทหารม้าที่ 1 คุ้มครองป้องกันแน่นหนา ฟอร์ทน็อกซ์เคยเก็บทองคำมากที่สุดเกือบ 650 ล้านทรอยออนซ์เมื่อ 31 ธันวาคม 1941 มากกว่าปริมาณปัจจุบันถึง 4 เท่าตัว 

ฟอร์ทน็อกซ์ปลอดภัยแค่ไหน

ตัวอาคารปลอดภัยขั้นสุด มีคนทราบรายละเอียดที่แท้จริงของโครงสร้างฟอร์ทน็อกซ์เพียงไม่กี่คน และไม่มีใครรู้ขั้นตอนทั้งหมดของการเปิดห้องนิรภัยแม้แต่คนเดียว ทองคำสำรองจะถูกเก็บไว้ในกำแพงหินแกรนิตขนาดใหญ่ หลังคากันระเบิด และประตูห้องนิรภัยน้ำหนัก 22 ตัน หนา 21 นิ้ว ที่ต้องผ่านการไขถึง 14 ครั้งกว่าจะเปิดได้

นอกจากนี้ ยังมีตำรวจโรงกษาปณ์สหรัฐฯ และกองกำลังทหารขนาดใหญ่คุ้มกัน รวมทั้งมีลวดหนามหีบเพลงและกับระเบิดป้องกันอีกชั้นหนึ่งตามที่ Diehl ระบุ จึงเรียกได้ว่า "แทบจะแทรกซึมเข้าไปไม่ได้" เลยทีเดียว

what-to-know-about-fort-knox-gold-depository-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: รถไฟขนทองคำที่ฟอร์ทน็อกซ์กำลังเตรียมขนย้ายทองคำใส่รถบรรทุกก่อนนำไปเก็บไว้ที่คลังเก็บทองคำแท่งสหรัฐฯ Photo by Wikipedia/United States Post Office Department

ทำไมต้องเป็นที่ฟอร์ทน็อกซ์

โรงกษาปณ์สหรัฐฯ ระบุว่า ทองคำสำรองของประเทศถูกนำมาเก็บไว้ที่ฟอร์ทน็อกซ์เพราะตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทั้งสองฝั่ง เสี่ยงต่อการถูกประเทศอื่นโจมตี ทั้งยังอยู่ใกล้กับค่ายทหาร และติดกับปลายทางรถไฟเพื่อการขนส่ง 

นอกจากเก็บทองคำสำรองแล้ว ฟอร์ทน็อกซ์ยังถูกใช้เป็นที่เก็บสิ่งของสำคัญทางประวัติศาสตร์ชั่วคราว อาทิ คำประกาศอิสรภาพสหรัฐฯ  รัฐธรรมนูญ และบัญญัติว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งสิ่งของมีค่าของรัฐบาลต่างประเทศ เช่น กฎบัตรแมกนา คาร์ตาของอังกฤษ

what-to-know-about-fort-knox-gold-depository-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ภาพถ่ายทางอากาศจากเฮลิคอปเตอร์คลังเก็บทองคำแท่งฟอร์ทน็อกซ์ Photo by Wikipedia/Work permit

เคลื่อนย้ายทองคำครั้งสุดท้ายเมื่อไร

โรงกษาปณ์สหรัฐฯ ระบุว่า “ทองคำที่ถูกนำออกมานั้นมีปริมาณน้อยมากซึ่งนำออกมาตรวจสอบความบริสุทธิ์ของทองคำในระหว่างการตรวจสอบตามปกติ” นอกเหนือจากนี้ก็ไม่มีการเคลื่อนย้ายทองคำอื่นๆ ออกจากห้องนิรภัยมาหลายปีแล้ว  

ฟอร์ทน็อกซ์ยึดนโยบายไม่ให้คนนอกเข้าอย่างเด็ดขาด มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้เห็นทองคำที่เก็บไว้ที่ฟอร์ทน็อกซ์ด้วยตาตัวเอง แม้แต่ประธานาธิบดีก็ยังไม่ได้ไป 

ที่ผ่านมามีการเปิดฟอร์ทน็อกซ์ให้บุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าเพียง 3 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกเมื่อปี 1943 สำหรับอดีตประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ครั้งต่อมาในปี 1974 เพื่อให้นักข่าวและสมาชิกสภาคองเกรส 10 คนได้เห็นทองคำสำรองหลังมีข่าวลือว่าทองคำไม่ได้อยู่ที่นั่น ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2017 ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 โดยครั้งนั้น สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น และมิตช์ แม็คคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาในสมัยนั้น ร่วมคณะเยี่ยมชมด้วย

what-to-know-about-fort-knox-gold-depository-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: สตีเวน มนูชิน รมว.คลังในห้องนิรภัยของคลังเก็บทองคำแท่งฟอร์ทน็อกซ์ Photo by Wikipedia/Work permit

ฟอร์ทน็อกซ์เก็บทองไว้มากแค่ไหน

โรงกษาปณ์สหรัฐฯ ระบุว่า ณ วันที่ 31 มกราคม 2025 ห้องนิรภัยฟอร์ทน็อกซ์ที่รักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนานี้เก็บทองคำแท่งไว้ราว 147.3 ล้านออนซ์ (ราว 5,000 ตัน) หรือราว 59% ของทองคำสำรองทั้งหมดของสหรัฐฯ   

ทองคำแท่งขนาดมาตรฐานที่เก็บไว้ที่ฟอร์ทน็อกซ์ 1 ก้อน น้ำหนักราว 12.4 กิโลกรัม 

ด้วยมูลค่าทองคำที่ซื้อขายกันที่เกือบ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยออนซ์ นั่นหมายความว่าทองคำที่ฟอร์ทน็อกซ์มีมูลค่าตามราคาตลาดเกือบ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ กำหนดมูลค่าทางบัญชีทองคำเหล่านี้ไว้ที่ 42.22 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เท่ากับว่ารัฐบาลตีมูลค่าทองคำไว้เพียง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

what-to-know-about-fort-knox-gold-depository-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: ภาพกราฟฟิกแสดงจำนวนทองคำสำรองที่ฟอร์ทน็อกซ์ เดนเวอร์ และเวสต์พอยต์ โดยใช้ตัวเลขจากเว็บไซต์ข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ Photo by US Mint

สหรัฐฯ เก็บทองคำสำรองไว้ที่ไหนบ้าง 

นอกจากฟอร์ทน็อกซ์ โรงกษาปณ์สหรัฐฯ ยังกระจายเก็บทองคำสำรองไว้ที่เดนเวอร์และเวสต์พอยต์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งนิวยอร์กก็ถือครองทองคำไว้จำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับฟอร์ทน็อกซ์ 

ข่าวลือว่าทองคำที่ฟอร์ทน็อกซ์สูญหายหรือถูกขโมยไปเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่มีมายาวนานหลายทศวรรษ Washington Post รายงานว่า ในปี 1971 ปีเตอร์ บีเตอร์ ทนายความและที่ปรึกษาด้านการเงินของอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี อ้างว่าสายลับชาวอังกฤษบอกเขาว่าทองคำที่ฟอร์ทน็อกซ์ถูกเคลื่อนย้ายอย่างลับๆ  

หนังสือเรื่อง The Conspiracy Against the Dollar ของบีเตอร์ เดินหน้ากล่าวอ้างว่าทองคำหายไป หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเปิดฟอร์ทน็อกซ์ให้นักข่าวและสมาชิกสภาคองเกรสเยี่ยมชมเพื่อยืนยันเมื่อปี 1974  

ปี 1964 ภาพยนตร์เรื่อง James Bond: Goldfinger ก็ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มลักลอบค้าทองคำที่กำลังถูกสอบสวนในข้อหาวางแผนบุกเข้าไปในฟอร์ทน็อกซ์เพื่อพยายามทำให้ทองคำในนั้นปนเปื้อน 

ปี 2010 รอน พอล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐเท็กซัสในขณะนั้น ออกมาพูดเรื่องที่เจ้าตัวตั้งข้อสงสัยว่าทองคำยังอยู่ที่ฟอร์ทน็อกซ์หรือไม่

“ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ไม่ได้แพร่กระจายด้วยตัวเอง ความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดนี้เกิดจากการที่นักการเมืองและผู้ทรงอิทธิพลด้านสื่อเผยแพร่แนวคิดเหล่านี้ไปยังผู้ฟังที่มีแนวโน้มจะเชื่อทฤษฎีเหล่านี้”

โจเซฟ อุสชินสกี ศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีสมคบคิดจากมหาวิทยาลัยไมอามี เผยกับ ABC News

อุสชินสกีเผยอีกว่า “ทรัมป์และพันธมิตรของเขาเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดหลายครั้งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดระหว่างทรัมป์กับมัสก์ที่ตั้งตัวเองขึ้นมาในฐานะคนที่เปิดโปงการฉ้อโกงของรัฐบาล” 

และสำหรับกรณีทองคำที่ฟอร์ทน็อกซ์ล่าสุด มัสก์ยังเรียกร้องให้มีการไลฟ์ระหว่างที่เข้าไปตรวจดูทองคำ 

“ถ้ามีการไลฟ์ระหว่างเยี่ยมชมที่ฟอร์ทน็อกซ์จะดีมาก...ทองคำยังอยู่ที่นั่นหรือเปล่า? พวกเขาบอกว่ายังอยู่ มันจริงมั้ย? หรืออาจจะมีบางคนเอาสีสเปรย์มาพ่นให้ดูเหมือนทอง?”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์