บังเอิญหรือตั้งใจ? ฮามาสโจมตีวันเดียวกับที่อิสราเอลถูกอียิปต์-ซีเรียถล่มเมื่อ 50 ปีก่อน

9 ต.ค. 2566 - 08:17

  • ‘สงครามยมคิปปูร์’ คืออะไร? เกี่ยวข้องกับการโจมตีของฮามาสครั้งนี้ไหม?

  • เป็นเรื่อง ‘บังเอิญ’ หรือ ‘ตั้งใจ’ ที่วันโจมตีดันไปตรงกับวันที่อิสราเอลถูกอียิปต์และซีเรียถล่มโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวในปี 1973

what-was-the-yom-kippur-war-why-hamas-attack-israel-being-compared-SPACEBAR-Hero.jpg

โจมตีครั้งนี้ ‘บังเอิญ’ หรือ ‘ตั้งใจ’? 

การโจมตีอย่างไม่คาดคิดมาก่อนของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอลเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) ที่ผ่านมา จนผลาญทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปแล้วมากกว่า 1,100 ชีวิตจะบังเอิญไปตรงกับวันครบรอบ 50 ปี ‘สงครามยมคิปปูร์’ หรือ ‘สงครามรอมฎอน’ (Yom Kippur war)  ซึ่งอิสราเอลถูกอียิปต์กับซีเรียโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวเหมือนกันในปี 1973 

ว่าแต่มันเป็นความตั้งใจของกลุ่มก่อการร้ายที่เลือกโจมตีวันนี้ หรือมันเป็นแค่เรื่องบังเอิญเท่านั้น? แล้วสงครามยมคิปปูร์ที่ว่านี้คือสงครามอะไรกัน?  

สงครามยมคิปปูร์คืออะไร?

what-was-the-yom-kippur-war-why-hamas-attack-israel-being-compared-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: AFP

‘สงครามยมคิปปูร์’ ‘สงครามเดือนตุลาคม’ หรือ ‘สงครามรอมฎอน’ เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์และซีเรียตั้งแต่วันที่ 6-25 ตุลาคม 1973 หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘สงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 4’ หลังเคยเกิดสงครามมาแล้ว 3 ครั้งในปี 1949, 1956 และ 1967 

หลังจากชัยชนะอย่างเด็ดขาดในสงคราม 6 วัน (Six-Day War of 1967) ในปี 1967 อิสราเอลได้ดินแดนจากเพื่อนบ้าน รวมถึงที่ราบสูงโกลลันจากซีเรียและคาบสมุทรซีนายจากอียิปต์ 

แต่ 6 ปีต่อมา ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมกันโจมตีอิสราเอล ถึงแม้ว่าอิสราเอลจะทราบถึงการระดมกำลังทหาร แต่ก็ไม่คาดว่าจะมีการโจมตีในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม ครั้นเมื่อต้องประหลาดใจกับการโจมตีครั้งนั้น มันจึงทำให้ต้องใช้เวลาในการระดมทหารมาต่อสู้อย่างมาก เพราะทหารหลายนายกำลังเดินทางช่วงวันหยุดเทศกาลยมคิปปูร์ การต่อสู้ในช่วงแรกจึงทำให้ทั้งซีเรียและอียิปต์เป็นฝ่ายได้เปรียบ 

ในเวลาต่อมาหลังผ่านการโจมตีไปได้ 3 วัน อิสราเอลก็สามารถสกัดกั้นการรุกคืบของทั้งฝ่ายซีเรียและอียิปต์ได้ ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็เข้ามาช่วยเหลืออิสราเอล และสหภาพโซเวียตก็เข้ามาสนับสนุนอียิปต์-ซีเรียด้วยเช่นกัน  

การเจรจาหยุดยิงที่มีสหประชาชาติเป็นคนกลางเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 1967 ไม่มีการปฏิบัติตามข้อตกลง แต่ในวันที่ 25 ตุลาคม ข้อตกลงหยุดยิงที่มีผลบังคับใช้ถาวรก็เกิดขึ้น โดยที่ชื่อเสียงเรื่องความไร้พ่ายของอิสราเอลถูกลูบคม 

หลังจากการหยุดยิง กระบวนการสันติภาพได้เริ่มขึ้นภายใต้สนธิสัญญาแคมป์เดวิด 1978 อิสราเอลคืนคาบสมุทรซีนายให้กับอียิปต์ ขณะที่สนธิสัญญาสันติภาพอียิปต์–อิสราเอล 1979 ถือเป็นกรณีแรกของประเทศอาหรับที่ยอมรับอิสราเอลในฐานะรัฐ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับซีเรียเอง สงครามดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดผลที่น่ายินดีมากนัก เพราะข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลและอียิปต์ก็ไม่ได้ก่อเกิดผลอะไรสำหรับซีเรียเลย และในความเป็นจริง อิสราเอลยังลงเอยด้วยการยึดครองที่ราบสูงโกลันของซีเรียซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และยังคงยึดครองมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย 

ทำไม ‘สงครามยมคิปปูร์’ ถึงถูกเอามาเปรียบเทียบกับการโจมตีครั้งนี้? 

  • ประการแรก นี่่เป็นการโจมตีอิสราเอลครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามยมคิปปูร์ในปี 1973 โดยมือปืนจากกลุ่มฮามาสก่อเหตุอาละวาดในเมืองต่างๆ ของอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา คร่าชีวิตชาวอิสราเอลไปแล้วอย่างน้อย 1,100 รายจนถึงตอนนี้ และยังลักพาตัวพลเรือนจำนวนมากซึ่งหนึ่งในนั้นมีแรงงานคนไทยด้วย ขณะที่สงครามยมคิปปูร์มีทหารอิสราเอลมากกว่า 2,500 นายถูกสังหาร  
  • ความคล้ายคลึงประการที่ 2 คือ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐอิสราเอลที่ไม่ได้เตรียมการรับมือต่อการโจมตีเมื่อวันเสาร์ซึ่งสร้างความประหลาดใจอย่างมาก แม้ว่าอิสราเอลจะมีระบบข่าวกรองและการสกัดกั้นขั้นสูงก็ตาม ขณะเดียวกันอิสราเอลในสงครามยมคิปปูร์เองก็ไม่ได้เตรียมพร้อมด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีทหารจำนวนมากลางานเพราะเป็นช่วงสัปดาห์วันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนายูดาห์ หรือ ‘วันแห่งการลบมลทินบาป’ (the Day of Atonement)

ทั้งนี้ การโจมตีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นในวันหยุดทางศาสนาของชาวอิสราเอลระหว่างที่ผู้คนจำนวนมากกำลังเตรียมที่จะฉลองครบรอบการอ่านหนังสือของโตราห์ (ประกอบด้วยหนังสือ 5 เล่มแรกของพระคัมภีร์ฮีบรู) ประจำปี (Simchat Torah) และเป็นการเริ่มต้นรอบใหม่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์