“สงครามคือการฆ่ากันของคนที่ไม่รู้จักกัน เพื่อผลประโยชน์ของคนที่รู้จักกันแต่ไม่ฆ่ากัน”
พอล วาลเลคี กวีชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไว้
ว่ากันด้วยเรื่องสงครามที่หากมองย้อนกลับไปก็จะเห็นว่าประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคที่ผ่านมาเต็มไปด้วยสงครามไม่ว่าจะระดับเล็กๆ ระหว่างเมืองไปจนถึงใหญ่ระดับที่กระทบถึงกันทั่วโลกอย่างสงครามโลกครั้งที่ 1-2 แต่เหตุไฉนเราถึงต้องทำสงคราม ในเมื่อเวลาที่ไม่เข้าใจกันเราก็ส่งทูตเจรจากันได้
สาเหตุส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่ลงรอยกัน การแสดงแสนยานุภาพคลังแสงของมหาอำนาจ ความขัดแย้งในอดีตจุดชนวนให้เกิดสงคราม ปัญหาการแบ่งแยกชาติพันธุ์ ประเด็นละเอียดอ่อนอย่างเรื่องศาสนา หรือว่ากันตามประวัติศาสตร์เรามักเห็นว่าการทำสงครามนั้นเป็นไปในเชิงขยายอิทธิพลอำนาจในช่วงแสวงหาอาณานิคม หรือแม้กระทั่งการแข่งกันเป็นมหาอำนาจ
รู้ทั้งรู้ว่าการทำสงครามต่อให้เป็นฝ่ายชนะยังไงก็ต้องมีการสูญเสียอยู่ดี พูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเผชิญหน้ากับมันเท่าใดนัก ไม่งั้นจะมีทหารหนีทัพบ่อยๆ ทำไม แต่ถึงกระนั้นผู้นำก็ยังเลือกที่จะใช้วิธีนี้เพราะถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดรู้แพ้รู้ชนะไปเลย
ว่าแต่ว่ามนุษย์รู้จักการทำสงครามมาตั้งแต่สมัยไหนกันแล้วทำไมพวกเขาถึงทำสงคราม?

ดูเหมือนว่า ‘สงคราม’ จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในยุคหินใหม่และทำสงครามกันมากขึ้นในช่วงยุคสำริด โดยหลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่าสงครามยุคหินใหม่พัฒนามาจากการปะทะและการสังหารหมู่ขนาดเล็กจนนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยาวนานและซับซ้อนยิ่งขึ้น
สังคมเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น = การเพิ่มขึ้นของสงคราม
เมื่อเราพัฒนาการเกษตรกรรม มนุษย์ก็สามารถสร้างชุมชนที่ใหญ่ขึ้นได้ เราจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงชนเผ่าเล็กๆ ที่เคลื่อนที่ได้อีกต่อไป ทว่าการสร้างชุมชนกลับมาพร้อมกับอันตรายบางประการ ซึ่งนั่นหมายความว่า ‘ผู้คนกำลังผลิตทรัพยากรที่คนอื่นอาจต้องการหรือจำเป็นต้องใช้ เมื่อชุมชนเหล่านี้สามารถขับไล่ผู้บุกรุกได้ พวกเขาก็เริ่มพัฒนาเครื่องมือและเทคนิคที่จะใช้เป็นพื้นฐานการทำสงครามในเวลาต่อมา’ “การแข่งขันด้านทรัพยากรและความซับซ้อนทางสังคมอาจเป็นสาเหตุของความตึงเครียด และอาจขยายไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้” เทเรซา เฟอร์นันเดซ-เครสโป นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยบัลยาโดลิดในสเปนกล่าว
บันทึกสงครามครั้งแรกที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชาวสุเมเรียนกับชาวเอลาไมต์ที่อยู่ใกล้เคียง (พื้นที่ปัจจุบันคืออิหร่าน) เราไม่สามารถพูดได้ว่าการสู้รบระหว่างสองประเทศนี้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามครั้งแรกที่เคยต่อสู้กัน โดยความขัดแย้งที่เก่าแก่ที่สุดน่าจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 10,000 ปีก่อนในช่วงปลายยุคหินเก่าหรือยุคหินใหม่ตอนต้น แต่เราไม่มีบันทึกในช่วงเวลานั้น
เมื่อประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสต์ศักราช กษัตริย์เอ็นเมบาราเกซี (Enmebaragesi) แห่งสุเมเรียนนำทหารต่อสู้กับชาวเอลาไมต์และได้รับชัยชนะ ซึ่งดูเหมือนว่าสาเหตุของสงครามในช่วงแรกสุดก็คือ ชาวเอลาไมต์อาจเป็นภัยคุกคามต่อชาวสุเมเรียน ประกอบกับพวกเขามีทรัพยากรที่ชาวสุเมเรียนต้องการด้วย
ตามที่วารสารวิทยาศาสตร์ ‘Scientific Reports’ ระบุไว้ในการศึกษาเดือนพฤศจิกายน 2023 พบว่า “ความขัดแย้งยุคหินใหม่ดังกล่าวสันนิษฐานว่าเป็นการผสมผสานระหว่างการโจมตีอย่างรวดเร็วหรือการจู่โจมระยะสั้น โดยทั่วไปจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 วันและส่งผลกระทบต่อบุคคลไม่เกิน 20 หรือ 30 คน”
เมื่อยุคหินใหม่ก้าวหน้ามากขึ้น นั่นก็หมายความว่า การเกษตรก็ก้าวหน้าตามไปด้วยและอาจพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับความก้าวหน้าในการทำสงครามด้วย “แน่นอนว่า พวกเขามีหลายอย่างที่ต้องปกป้อง และพวกเขาต้องปกป้องพื้นที่เพาะปลูกของพวกเขา” อัลเฟรด เอส แบรดฟอร์ด ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์โบราณแห่งมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมากล่าว
ขณะที่เครื่องมือและอาวุธที่ทำจากทองแดงเริ่มเข้ามาแทนที่หัวลูกศรหิน ปลายหอก ใบมีดและขวานในตะวันออกกลางและที่อื่นๆ ทว่าเมื่อถึงยุคสำริดประมาณ 3,300 ปีก่อนคริสตกาล อารยธรรมยุคแรกในเมโสโปเตเมียและแอฟริกาเหนือก็ได้พัฒนากองทัพขนาดใหญ่ที่มีผู้นำอย่างเป็นทางการ มีสายบังคับบัญชา มีหน่วยที่แตกต่างกัน และมีกองกำลังจัดหาเสบียง
แล้วทำไมมนุษย์ถึงทำสงครามกันล่ะ?

ดูเหมือนว่าโลกในปัจจุบันของเราจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งมากมายในห้วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 2 หรือสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ดำเนินมาเกือบ 2 เดือนแล้ว อีกทั้งการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฏเมียนมา ไหนจะกรณีละเอียดอ่อนอย่างดินแดนไต้หวันที่ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็ซ้อมรบกันไปมาระหว่างดินแดนอยู่เรื่อยๆ
แล้วเหตุใดจึงดูเหมือนว่ามนุษย์ไม่สามารถหยุดการต่อสู้ในสงครามได้? ในกรณีส่วนใหญ่ สงครามมักเริ่มต้นโดยรัฐบาล ไม่ใช่จากประชาชน และส่วนใหญ่เป็นผลมาจากข้อพิพาทเรื่องทรัพยากรและที่ดิน หรือความปรารถนาของรัฐบาลในการเพิ่มอิทธิพลและอำนาจของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของสงครามก็จะพบว่า ‘สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดคือความเต็มใจของคนส่วนใหญ่ที่จะต่อสู้ในสงคราม หรืออย่างน้อยพวกเขาก็สนับสนุนรัฐบาล’
แอนโทนี โลเปซ นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตต (WSU) กล่าวว่า “การทำสงครามสำหรับมนุษย์ยุคแรกเหล่านี้จะคุ้มค่าต่อการขยายอาณาเขต…มนุษย์พัฒนาไปสู่การรุกรานภายนอกกลุ่มแต่ได้รับความร่วมมือภายในกลุ่ม เพราะมันเป็นประโยชน์ระยะยาวในการอยู่รอดและการขยายอาณาเขต…ในช่วงเวลาที่นานพอสมควร แนวโน้มความสามัคคีภายในกลุ่มต่อภัยคุกคามจากภายนอกจึงได้พัฒนาไปสู่การปรับตัวทางจิตวิทยาที่มนุษย์ใช้ในปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสงคราม”
เมื่อนำหลักจิตวิทยาสงครามมาอธิบาย…
โลเปซได้กล่าวไว้อีกว่า ‘แรงผลักดันทางจิตวิทยาในการแก้แค้นเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวของมนุษย์ แท้จริงแล้ว ความปรารถนาที่จะแก้แค้นเคยนำไปสู่สงครามที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มาแล้ว’
“การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์เป็นตัวอย่างที่รู้จักกันดีของความสามารถในการแก้แค้นเพื่อบังคับใช้ความรุนแรงขนาดใหญ่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยกตัวอย่างปฏิกิริยาของชาวอเมริกันที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ อย่างการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์แบบไม่คาดคิด และการโจมตีของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001” โลเปซกล่าว
ขณะที่ วิลเลียม เจมส์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันยุคแรกเคยเสนอว่า “สงครามเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมาก เนื่องจากเป็นผลทางจิตวิทยาเชิงบวก มันสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันเมื่อเผชิญกับภัยคุกคามโดยรวม มันเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่กองทัพที่เข้าร่วมการรบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนทั้งหมดด้วย นอกจากนี้ มันยังสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนแต่ละคน (ไม่ใช่แค่ทหาร) ให้ประพฤติตนอย่างมีเกียรติและไม่เห็นแก่ตัว เพื่อรับใช้สิ่งที่ดีกว่า
ทว่าข้อโต้แย้งของเจมส์ก็คือ ‘มนุษย์จำเป็นต้องค้นหากิจกรรมที่ให้ผลเชิงบวกแบบเดียวกันจากการทำสงคราม’ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายล้างแบบเดียวกัน หรือที่เขาเรียกมันว่า ‘คุณธรรมที่เทียบเท่ากับสงคราม’ กล่าวอีกนัยหนึ่งให้เข้าใจง่ายๆ คือ เราต้องหากิจกรรมทางเลือกเพื่อให้เรารู้สึกถึงการมีชีวิตอยู่ การเป็นเจ้าของ และเพื่อจุดประสงค์อะไร
เจมส์กล่าวอีกว่า “การทำสงครามอาจทำหน้าที่เป็นลักษณะร่วมของคนในกลุ่มเดียวกันที่ต่ำที่สุดเพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกทางจิตวิทยาขึ้นมา” นี่ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายที่ทำสงครามอาจไม่มีสาเหตุที่ยุติธรรม และการโต้แย้งนี้ไม่ได้สำรวจปัจจัยทางสังคมและจิตวิทยาที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม
อย่างไรก็ตาม มันแสดงให้เห็นว่าสันติภาพที่มั่นคงและยั่งยืนนั้นขึ้นอยู่กับการสร้างสังคมที่มีโอกาสมากมายและความหลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ ความจริงที่ว่าสังคมจำนวนมากทั่วโลกล้มเหลวในการทำเช่นนี้ กำลังทำให้แนวโน้มสันติภาพในอนาคตของเราดูสิ้นหวังมาก
ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำสงครามแม้ผลตัดสินออกมาจะดูเด็ดขาดรู้แพ้รู้ชนะ แต่ระหว่างทางนั้นกลับสร้างบาดแผลและความเจ็บปวดมากมายโดยเฉพาะประชาชนที่ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย สุดท้ายชีวิตของเราก็เหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้ายในเส้นทางของผู้นำที่กระหายในอำนาจและผลประโยชน์เพื่อพวกพ้อง หากแต่มองอีกมุมหนึ่งมันกลับกลายเป็นเหมือนดาบสองคม เป็นเหมือนหน้าที่ในฐานะพลเมืองต้องภักดีต่อประเทศชาติ
แต่ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็ตาม สำหรับในยุคนี้โลกปัจจุบันของเราก็ไม่ควรทำสงครามอยู่ดี เรามีบทเรียนจากสงครามความขัดแย้งจากอดีต เราเรียนรู้ เราพูดคุยและเจรจากันได้ เพราะทุกฝ่ายต่างรู้ดีว่าต่อให้สู้กันไปแม้จะเป็นผู้ชนะก็สูญเสียไม่น้อยเลย
เพราะงั้น ‘การทำสงคราม’ ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ผู้นำจะเลือกทำ แต่ในท้ายที่สุดแล้วหากมันไม่เกิดขึ้นเลยคงจะดีกว่า