เปิดรายชื่อผู้นำคนไหนบ้าง? ที่ผันตัวจาก ‘นักธุรกิจ’ มาเล่นการเมือง

24 ส.ค. 2566 - 10:33

  • เมื่อผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร อำนาจ เงินตราที่เดิมพันด้วยชีวิตประชาชนและประเทศชาติ

  • จาก ‘นักธุรกิจ’ สู่ ‘ผู้นำโลก’ ในสนามการเมือง

which-businessmen-who-became-world-leaders-SPACEBAR-Thumbnail
หลังจากประเทศไทยต้องอยู่ในสภาวะรัฐบาลรักษาการณ์มานานเกือบ 3 เดือน จนกระทั่งวันอังคาร (22 ส.ค.) ที่ผ่านมา เราก็ได้นายกฯ คนที่ 30  นั่นก็คือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเราอาจรู้จักเขาคนนี้เป็นอย่างดีในฐานะนักธุรกิจเจ้าพ่ออสังหาฯ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทแสนสิริ 

ท่ามกลางกระแสตีกลับของประชาชนส่วนใหญ่ที่มองว่าเขาเป็นนักธุรกิจมาแทบทั้งชีวิตจะบริหารประเทศไปในทิศทางไหน? บ้างก็บอกว่าตอนดีเบตแทบจะไม่ไปเลย แล้วจะรับใช้ประชาชนจริงๆ หรอ? บ้างก็บอกว่าเขาเป็นเหมือนนายกฯ หุ่นเชิดที่ทางแกนนำพรรคให้เล่นเกมการเมืองเพียงเท่านั้น ทว่าทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้น คงต้องดูต่อไปว่าประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป? 

แต่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นนะที่มีผู้นำประเทศเคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน ซึ่งในกรณีนี้ทางฟากฝั่งต่างประเทศอาจเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำที่ผู้นำส่วนใหญ่ผันตัวจาก ‘นักธุรกิจ’ มาเล่นการเมือง แล้วผู้นำเหล่านี้มีใครบ้าง? 

โดนัลด์ ทรัมป์ / อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 / เจ้าพ่ออสังหาฯ แห่งอเมริกา

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3ZUb5hJzEiYrNCwyUTzEOV/7c6f3c94b5f5870ee699ae66627db3bc/which-businessmen-who-became-world-leaders-SPACEBAR-Photo01
Photo: Stefani Reynolds / AFP
อดีตประธานาธิบดีที่แบกรับความอื้อฉาวมาตั้งแต่รับตำแหน่งปีแรกๆ จนตอนนี้ก็มีเรื่องราวให้ต้องขึ้นศาลท่ามกลางกระแสโจมตีบางส่วนว่าไม่อยากให้ทรัมป์มาลงสมัครเลือกตั้งปี 2024 อีก 

หากย้อนรอยดูเส้นทางธุรกิจของเขาจะพบว่า ทรัมป์เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยและได้รับมรดกประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.3 พันล้านบาท) จากบิดาผู้ล่วงลับของเขาซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ เฟร็ด ทรัมป์ ต่อมาทรัมป์ได้กลายเป็นเจ้าขององค์กรที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘The Trump Organisation’ ในปี 1971 

รายได้และมรดกของทรัมป์ช่วยให้เขาพัฒนาบริษัทได้มากกว่า 500 แห่ง ทั้งยังถือหุ้นในสนามกอล์ฟหรูหรา ตึกระฟ้า รายการโทรทัศน์ คาสิโน หนังสือ สินค้า และตอนนี้ก็คลอบคลุมถึงวงการโซเชียลมีเดียอย่าง ‘Truth Social’ แล้ว 

อย่างไรก็ดี ทรัมป์แสดงความสนใจที่จะลงสมัครรับตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ต้นปี 1987 แล้ว และยังเข้าร่วมการแข่งขันเมื่อปี 2000 ในฐานะผู้สมัครจากพรรคปฏิรูป (Reform Party) อีกด้วย จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2015 เขาได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 

แม้การรณรงค์หาเสียงในปี 2016 จะมีกระแสโจมตีบ้าง แต่สุดท้ายเขาก็ได้รับชัยชนะ และกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งหรือรับราชการทหารเลย  

ตามรายงานของนิตยสาร Forbes ระบุว่า ปี 2022 ได้มีการประเมินทรัพย์สินสุทธิของทรัมป์อยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.04 แสนล้านบาท) แต่กลับลดลงเหลือ 2.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 87 พันล้านบาท) ในรายชื่อบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกของนิตยสารเมื่อเดือนเมษายน 2023 และในเดือนสิงหาคม 2023 ตัวเลขดังกล่าวยังคงเท่าเดิม  

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2023 พบว่า อันดับมหาเศรษฐีของทรัมป์ที่จัดโดย Forbes หล่นไปอยู่ที่ 1,222 ของโลกจากอันดับที่ 892 ก่อนหน้านี้ 

ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี / อดีตนายกฯ อิตาลี / นักธุรกิจอสังหาฯ และเจ้าพ่อสื่อ

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2UnUW638Xv1sPj7D2YzSqy/dedad36badc7af7ddf191aca16df2edc/which-businessmen-who-became-world-leaders-SPACEBAR-Photo02
Photo: Filippo MONTEFORTE / AFP
ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี อดีตนายกฯ ผู้ล่วงลับวัย 86 ปีที่เกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางในมิลาน ซึ่งประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่กำลังเฟื่องฟูในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างบ้านในเขตชานเมืองทางตอนเหนือของมิลานที่เรียกว่า ‘มิลาโน 2’ (Milano 2) ตามแนวคิดที่นำเสนอบ้านมาตรฐานสูงและกว้างขวางในพื้นที่ใหม่ชานเมือง 

และนั่นทำให้โครงการนี้เป็นที่นิยม เพราะชนชั้นกลางต่างต้องการหลบหนีจากตัวเมืองออกมาอยู่ชานเมืองที่แออัดน้อยกว่า จากนั้นในช่วงกลางทศวรรษ 1970 แบร์ลุสโกนีก็เริ่มลงทุนทางสื่อโทรทัศน์ 3 ช่องทางทั่วอิตาลี (Canale 5, Italia 1 และ Rete 4) จนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของสื่อรัฐ โดยเฉพาะการนำดารามาประชาสัมพันธ์ช่อง 

นอกจากประสบความสำเร็จในธุรกิจอสังหาฯ มิลาโน 2 และเจ้าพ่อสื่อแล้ว ธุรกิจของเขายังครอบคลุมโครงการก่อสร้าง การธนาคาร การประกันภัย ทีวี โฆษณา สิ่งพิมพ์ กีฬา หรือแม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ด้วย 

หนทางสู่ ‘นายกฯ’…

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งในวงการธุรกิจอันเลื่องชื่อ แต่แบร์ลุสโกนีก็ไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีมากนักในฐานะนักการเมือง เขาเริ่มผันตัวไปเป็น ‘นักการเมือง’ ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การเมืองอิตาลีเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวติดสินบน ‘Tangentopoli’ ซึ่งเปิดโปงการคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกในหมู่นักการเมืองระดับชาติและระดับภูมิภาค 

ขณะที่นักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งหมดถูกโค่นลงจากการถูกเปิดโปง ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง จึงเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะสำหรับแบร์ลุสโกนีในการก้าวเข้ามาเติมเต็มช่องว่างนั้นด้วยการสร้างพรรคการเมืองใหม่ได้ในชั่วข้ามคืน โดยใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงจากการเป็นนักธุรกิจและเครือข่ายสื่อของเขา 

หลังจากสร้างพันธมิตร แบร์ลุสโกนีก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ เป็นครั้งแรกในปี 1994 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการครองอำนาจอันยาวนานในฐานะหัวหน้าแนวร่วมและพันธมิตรฝ่ายขวา ในท้ายที่สุดก็ลงเอยด้วยการเป็นนายกฯ ถึง 3 ครั้ง ได้แก่ 1994-1995, 2001-2006 และ 2008-2011 

บิดซินา อิวานิชวิลี / อดีตนายกฯ จอร์เจีย / เจ้าพ่อวงการธนาคาร

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/33QjNyFNG8ciN5xigFS5Io/de3f91c6c58d29ede51b19359a965d71/which-businessmen-who-became-world-leaders-SPACEBAR-Photo03__1_
Photo: VANO SHLAMOV / AFP
อดีตนายกฯ รายนี้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจอร์เจียจากการทำธุรกิจค้าโลหะและการธนาคารในรัสเซียอย่าง ‘Russian Credit Bank’ นอกจากนี้ในปี 1996 ยังจัดตั้งธนาคาร ‘Cartu Bank’ อีกด้วย 

ในปี 2012 อิวานิชวิลีตัดสินใจผันตัวเป็นนักการเมืองเต็มตัวและก่อตั้งพรรคการเมือง ‘Dream-Democratic Georgia’ จนกระทั่งในปี 2012 เขาก็ได้รับเลือกเป็นนายกฯ แห่งจอร์เจีย แต่ดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 1 ปีก็ตัดสินใจลาออกในปี 2013 โดยให้เหตุผลเพียงว่า ‘เขาได้ทำหน้าที่สำเร็จแล้ว’ 

นอกจากนี้ยังมีผู้นำคนอื่นๆ ที่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน ได้แก่
  • เซบาสเตียน พิเนรา / อดีตประธานาธิบดีชิลี / มหาเศรษฐีด้านการลงทุน 
  • นาจิบ มิกาติ / นายกฯ เลบานอน / นักธุรกิจโทรคมนาคม 
  • เปโตร โปโรเชนโก / อดีตประธานาธิบดียูเครน / นักธุรกิจ 
  • แฮร์รี เอส ทรูแมน / อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 33 / นักลงทุนด้านเหมืองแร่และน้ำมัน 
  • จอร์จ ดับเบิลยู. บุช / อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 43 / เจ้าของบ่อน้ำมัน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์