ในวันที่ไทยอาจ ‘ปิด’ เฟซบุ๊ก ประเทศไหนเคยแบนมาแล้วบ้าง

22 ส.ค. 2566 - 10:17

  • แต่ละประเทศมีเหตุผลในการแบนที่ต่างกันไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านการเมือง ความรุนแรง หรือแม้แต่เชื้อชาติ

  • บางครั้งการแบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในบางประเทศก็ช่วยป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่เป็นภัยต่อชาติรั่วไหลออกไป หรือในบางกรณีอาจเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป

which-countries-shut-down-facebook-SPACEBAR-Thumbnail
หลังจากที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society / MDES) ขู่จะปิดเฟซบุ๊กเป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าวเอาแต่ปล่อยให้มีการหลอกลวงสร้างเพจปลอมขึ้นมาซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมากที่ไม่ได้รับการรับผิดชอบใดๆ 

ขณะที่ในบางประเทศก็เคยดำเนินการปิดเฟซบุ๊กทั้งประเทศมาแล้วด้วยเหตุผลทางด้านศาสนา ความรุนแรง ตลอดจนการประท้วง รวมถึงประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องเชื้อชาติและการเมือง 

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างประเทศที่เคยปิดเฟซบุ๊กมาแล้ว 

จีน / แบนปี 2009 - ปัจจุบัน

อีกหนึ่งประเทศที่เป็นเจ้าพ่อแห่งวงการแบน และเป็นประเทศที่ถือว่ามีระบอบเซ็นเซอร์ที่ครอบคลุมและซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย 

การแบนในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเหตุจลาจลในซินเจียง เขตปกครองตนเองพิเศษทางตะวันตกของจีน ซึ่งการปราบปรามนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการสื่อสารระหว่างนักเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพ ทำให้ทางการจีนบล็อกทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ / X และบริการของ Google ในเดือนกรกฎาคม 2009 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน 

แต่ทั้งนี้พบว่าในเขตปกครองพิเศษของจีนอย่างมาเก๊าและฮ่องกงนั้นไม่ได้ถูกแบนด้วย

เกาหลีเหนือ / แบนปี 2016 - ปัจจุบัน

ช่วงเดือนเมษายน 2016 เกาหลีเหนือได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะบล็อกเฟซบุ๊ก ยูทูบ และทวิตเตอร์ เพื่อพยายามควบคุมการเข้าถึงข้อมูลภายนอกเพิ่มเติม โดยจะมีชาวเกาหลีเหนือเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และหากพวกเขาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็จะถูกจำกัดให้ใช้เพียงระบบอินทราเน็ตที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเท่านั้น 

ใครก็ตามที่พยายามแฮกเข้าสู่แพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ดังกล่าว รวมทั้งการเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านั้นด้วยวิธีที่ ‘ไม่เหมาะสม’ และ ‘เผยแพร่ข้อมูลซึ่งเป็นอันต่อต้านสาธารณรัฐ’ จากเว็บไซต์เหล่านั้นจะต้องถูกลงโทษภายใต้กฎหมายเกาหลีเหนือ

บังกลาเทศ / แบน 1 เดือน 2 วันในปี 2015

บังกลาเทศเคยแบนเฟซบุ๊กประมาณ 1 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2015 เนื่องจากรัฐบาลบังกลาเทศที่นำโดยสันนิบาตอวามี (Awami) ประกาศห้ามใช้เฟซบุ๊กและเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ทั่วประเทศ หลังจากศาลฎีกาพิพากษาโทษประหารชีวิตของชาย 2 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในอาชญากรรมสงครามระหว่างการต่อสู้เพื่อเอกราชต่อปากีสถานในปี 1971

ทั้ง ซาลาฮุดดีน ควอเดอร์ ชาวดูรี่ และ อาลี อาซาน โมฮัมหมัด มูจาฮิด ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และข่มขืนโดยศาลอาชญากรรมสงครามพิเศษ ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ศาลอาชญากรรมสงครามว่าตัดสินไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล 

ในเวลานั้นไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ ไวเบอร์ และวอตส์แอปป์ ถูกบล็อกทั้งหมด โดยทางรัฐบาลได้สั่งยกเลิกบล็อกไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2015 

อินเดีย / แบน 3 วันปี 2017

ในช่วงปี 2017 อินเดียสั่งแบนไม่ให้ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และวอตส์แอปป์ โดยเจ้าหน้าที่ในแคชเมียร์หลังจากที่รัฐบาลอินเดียกล่าวว่า “บริการโซเชียลมีเดียถูกใช้ในทางที่ผิดเชิงต่อต้านชาติและสังคม” 

และนี่ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้ดำเนินการดังกล่าว แม้ว่าจะบล็อกสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนมือถือในหุบเขาแคชเมียร์เป็นประจำก็ตาม 

นอกจากนี้ อินเดียยังสั่งแบนเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียอื่นๆ เป็นเวลา 3 วันระหว่างเกิดเหตุจลาจลในรัฐปัญจาบ รัฐหรยาณา และจันฑีครห์ ในปี 2017 อีกด้วย  

อิหร่าน / เคยแบนปี 2009

หลังการเลือกตั้งในอิหร่านเมื่อปี 2009 เฟซบุ๊กถูกแบนเนื่องจากกลัวว่าจะมีความเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทว่าหลังจากการบล็อกเฟซบุ๊กไปเป็นเวลา 4 ปีจนกระทั่งเดือนกันยายน 2013 ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กก็จะถูกยกเลิกบล็อกโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 

นอกเหนือจากประเทศเหล่านี้ยังมีอีกหลายประเทศที่เคยประกาศแบนเฟซบุ๊ก ได้แก่
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4xmmwQj0bx3rDFDkolAq5C/c55b208416af1eaf8142cef227e673e6/which-countries-shut-down-facebook-SPACEBAR-Photo01
- รัสเซีย แบนปี 2022 - ปัจจุบัน เนื่องมาจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน 

- เมียนมาร์ แบนปี 2021 - ปัจจุบัน เนื่องมาจากเหตุความรุนแรงรัฐประหาร 

- ศรีลังกา แบนทั้งหมด 4 ครั้ง 
  • ครั้งแรกเดือนมีนาคม 2018 เป็นเวลา 3 วัน เพื่อป้องกันการสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ 
  • ครั้งที่ 2 วันที่ 21-30 เมษายน 2018 เป็นเวลา 9 วัน เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเหตุระเบิดในวันอีสเตอร์ 
  • ครั้งที่ 3 วันที่ 5-6 พฤษภาคม 2019 เป็นเวลา 1 วัน เพื่อพยายามหยุดการแพร่กระจายข่าวลือหลังจากความรุนแรงปะทุขึ้นระหว่างกลุ่มพลเรือนในเนกอมโบ ทางตอนเหนือของเมืองหลวงซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุระเบิดในวันอีสเตอร์ 
  • ครั้งที่ 4 วันที่ 13-17 พฤษภาคม 2019 เป็นเวลา 4 วัน เพื่อป้องกันการโฆษณาชวนเชื่ออันเป็นเท็จบนโซเชียลมีเดียและเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ 

- ยูกันดา แบนปี 2021 - ปัจจุบัน เนื่องมาจากความไม่โปร่งใสระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปปี 2021 

- เวียดนาม แบนช่วงพฤษภาคม 2016 เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากเกิดการประท้วงของผู้เห็นต่าง และเพื่อป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์ถึงพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์