ประเทศไหนบ้าง ‘ลดอายุขั้นต่ำ’ เยาวชนทำผิดต้องรับโทษอาญา?

5 ต.ค. 2566 - 09:41

  • ประเทศไหนบ้างที่แก้กฎหมาย ‘ลดอายุขั้นต่ำ’ ความรับผิดทางอาญา?

  • จริงๆ แล้วการ ‘ลดอายุ’ มันช่วยลดปัญหาการก่ออาชญากรรมและการกระทำผิดในเยาวชนได้ไหม?

which-country-reduce-the-age-of-offenders-SPACEBAR-Hero.jpg

ประเทศไหนบ้าง ‘ลดอายุขั้นต่ำ’ ความรับผิดทางอาญา

หลังจากรู้ตัวผู้ก่อเหตุกราดยิงกลางห้างดังสยามพารากอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาว่าเป็นเยาวชนชายวัย 14 ปี ซึ่งเป็นที่รู้ดีอยู่แล้วว่าตามกฎหมายไทยสำหรับผู้กระทำความผิดที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจะไม่ได้รับโทษหนัก หรือได้รับการละเว้นโทษด้วยการเข้าบำบัดพฤติกรรมในสถานพินิจเท่านั้น 

ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้กลับพบว่ามีเยาวชนที่ทำความผิดมากขึ้น และแน่นอนว่าสุดท้ายก็จบลงที่สถานพินิจดังเดิม เมื่อมันเป็นเช่นนี้สังคมจึงตั้งคำถามว่า ‘มันยุติธรรมแล้วหรือ?’ ‘ทำไมกฎหมายถึงไม่สามารถลงโทษเยาวชนได้มากกว่าการเข้าไปบำบัดพฤติกรรมทั้งที่พวกเขาทำผิดมหันต์ ซึ่งบางรายรุนแรงถึงทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตและในหลายๆ ครั้งเป็นการกระทำโดยเจตนา?’ 

สำหรับกระบวนการกฎหมายเมืองไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้นยังไม่แน่ชัด แต่ในต่างประเทศอย่าง ‘จีน’ ‘ฟิลิปปินส์’ และ ‘สวีเดน’ แก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อจัดการเยาวชนที่ทำผิดด้วยการ ‘ลดอายุผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชน’ 

  • จีน : ลดอายุผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชนจาก 14 ปี เหลือ ‘12 ปี’

ตามการแก้ไขกฎหมายอาญาซึ่งผ่านโดยคณะกรรมาธิการสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) เมื่อปี 2020 ระบุว่า ‘ผู้ที่มีอายุระหว่าง 12-14 ปีจะต้องรับผิดทางอาญาหากพวกเขากระทำการฆาตกรรมโดยเจตนา เจตนาทำร้ายผู้อื่นโดยเจตนาเพื่อให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือทำร้ายผู้อื่นอย่างสาหัสโดยการใช้วิธีทารุณกรรมเป็นพิเศษ’ 

การแก้ไขดังกล่าวมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2021 โดยสำนักงานอัยการสูงสุดของประชาชนจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจว่าคดีดังกล่าวควรค่าแก่การดำเนินคดีหรือไม่  

ตามรายงานของสื่อรัฐระบุว่า ‘ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีคิดเป็น 20% ของอาชญากรรมเด็กและเยาวชนทั้งหมดในปี 2017 โดยเพิ่มขึ้นจาก 12.3% ในปี 2009 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (Child Rights International Network) ในลอนดอนพบว่า อายุเฉลี่ยของความผิดทางอาญาทั่วโลกคือ 14 ปี แต่ในสหรัฐฯ นั้นพบว่า 33 รัฐจาก 50 รัฐนั้นไม่มีอายุขั้นต่ำ

  • ฟิลิปปินส์ : ลดอายุผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชนจาก 15 ปี เหลือ ‘12 ปี’

เมื่อปี 2019 ฟิลิปินส์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ตัดสินใจแก้กฎหมายใหม่ หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติเสนอให้ลดอายุขั้นต่ำในการรับผิดทางอาญาจาก 15 ปีเป็น 12 ปีด้วยคะแนนเสียง 146 ต่อ 34 เสียง 

แต่ต่อมาในปี 2020 นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเด็กบางคนก็ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายนี้และร่างกฎหมายอื่นๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเยาวชนที่กระทำผิดแทน 

  • สวีเดน : ลดอายุผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชนจาก 21 ปี เหลือ ‘18 ปี’ 
  • สหราชอาณาจักร : ตามพระราชบัญญัติเด็กและเยาวชนปี 1963 ระบุว่า อายุความรับผิดทางอาญาได้รับการแก้ไขจาก 8 ปีเป็น 10 ปี ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกเลยตั้งแต่นั้นมาและยังคงเป็นหนึ่งในระดับอายุที่ต่ำที่สุดในยุโรป 
  • ออสเตรเลีย : ทางการสามารถจับกุมเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี และตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมได้ แต่จะถูกจำคุกในสถานกักกันเด็กและเยาวชน

หรือว่าการ ‘ลดอายุ’ ความรับผิดทางอาญา (อาจ) ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา?

which-country-reduce-the-age-of-offenders-SPACEBAR-Photo01.jpg

ข้อค้นพบจากการศึกษาใหม่ของศูนย์วิจัยเด็ก ‘TrygFonden’ ซึ่งดำเนินการโดยนักวิจัยจากภาคธุรกิจและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยออฮุส (Aarhus BSS) ในเดนมาร์ก และศูนย์วิทยาศาสตร์สังคมประยุกต์แห่งเดนมาร์ก (VIVE) 

ในปี 2010 เสียงข้างมากในรัฐสภาเดนมาร์กลงมติเห็นชอบให้ลดอายุขั้นต่ำสำหรับรับผิดทางอาญาลงเหลือ 14 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอาชญากรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ต่อมาในปี 2012 พบว่าเสียงข้างมากชุดใหม่ในรัฐสภาเดนมาร์กได้กำหนดอายุขั้นต่ำใหม่อีกครั้งที่อายุ 15 ปี 

แอนนา พิลล์ ดัมม์ นักวิจัยเผยว่า “เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มโดยรวมที่ลดลงของอาชญากรรมเด็กและเยาวชนในเดนมาร์ก เราไม่พบว่าสัดส่วนของเด็กอายุ 14 ปีที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาลดลง แม้ว่าพวกเขาจะถูกลงโทษทางกฎหมายในช่วงระยะเวลาการแก้กฎหมายก็ตาม”  

“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการลดอายุขั้นต่ำความรับผิดทางอาญาไม่ได้ส่งผลกระทบตามที่ตั้งใจไว้ต่อผู้กระทำความผิดอายุ 14 ปี ซึ่งคดีของพวกเขาได้รับการจัดการโดยระบบยุติธรรมทางอาญา แทนที่จะเป็นหน่วยงานทางสังคมในช่วงระยะเวลาการแก้กฎหมาย” ดัมม์กล่าวเสริม 

โดยรวมแล้ว การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงการแก้กฎหมายตั้งแต่ปี 2010 - 2012 นั้นไม่มีผลในการยับยั้งโดยทั่วไปต่อเด็กอายุ 14 ปี และไม่มีผลในการยับยั้งรายบุคคลต่อการกระทำซ้ำซ้อน  

แล้วคุณคิดว่ามันควรแก้ที่อะไรกัน? ปลูกจิตสำนึกทางสังคมให้เด็กและเยาวชน? ครอบครัวและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อพฤติกรรมของพวกเขา แน่นอนว่าสื่อเองก็มีผลต่อพฤติกรรมที่รุนแรง?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์