แค่กินข้าวก็อันตราย! พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในอาหารเกือบทุกอย่าง

8 พ.ค. 2567 - 10:49

  • เพราะอาหารอาจไม่ได้สะอาดอย่างที่เราคิด! ที่เรากินอยู่ทุกวันมีอาหารประเภทไหนบ้างที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติก?

which-foods-have-the-most-plastics-SPACEBAR-Hero.jpg

คุณมั่นใจแค่ไหนกันว่าอาหารแต่ละมื้อที่กินไปสะอาดและไม่มีสิ่งเจือปน! จริงๆ แล้วมันอาจมีสิ่งเจือปนอยู่นะ ที่สำคัญคือ ‘อันตรายมาก’ ด้วย 

ตามการศึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ระบุว่า “90% ของตัวอย่างโปรตีนจากสัตว์และผักมีผลการทดสอบเป็นบวกสำหรับไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนโพลีเมอร์ขนาดเล็กที่มีขนาดตั้งแต่น้อยกว่า 0.2 นิ้วไปจนถึง 1/25,000 นิ้ว (1 ไมโครเมตร) อะไรก็ตามที่เล็กกว่า 1 ไมโครเมตรถือเป็นนาโนพลาสติกหนึ่งในพันล้านของเมตร (1 นาโนเมตร)”  

การศึกษาในปี 2021 พบว่าแม้แต่ ‘มังสวิรัติ’ ก็หนีไม่พ้น หากพลาสติกมีขนาดเล็กเพียงพอ ผักและผลไม้ก็สามารถดูดซับไมโครพลาสติกผ่านระบบรากของมัน และถ่ายโอนสารเคมีเหล่านั้นไปยังลำต้น ใบ เมล็ดพืช และผลไม้ของพืช 

หรือเม็ดเล็กๆ แบบ ‘น้ำตาล’ และ ‘เกลือ’ ก็ยังมีพลาสติกเจือปนได้ การศึกษาในปี 2023 พบว่า 

  • เกลือชมพูหิมาลายันหยาบที่ขุดจากพื้นดินนั้นมีไมโครพลาสติกมากที่สุด 
  • รองลงมาคือเกลือดำและเกลือทะเล 

แม้แต่ ‘ถุงชา’ ซึ่งหลายใบทำจากพลาสติกก็สามารถปล่อยพลาสติกจำนวนมหาศาลออกมาได้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ในควิเบก ประเทศแคนาดาพบว่า “การต้มถุงชาพลาสติกหนึ่งถุงจะปล่อยไมโครพลาสติกประมาณ 11.6 พันล้านอนุภาค และนาโนพลาสติก 3.1 พันล้านอนุภาคลงในน้ำ” 

‘ข้าว’ ที่เรากินอยู่ทุกวันก็เป็นอันตรายสำหรับเราไปซะแล้ว การศึกษาของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์พบว่า “ข้าวทุกๆ 100 กรัม (1/2 ถ้วย) ที่คนกินเข้าไปมีพลาสติก 3-4 มิลลิกรัม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 13 มิลลิกรัมต่อมื้อสำหรับข้าวสำเร็จรูป (นักวิจัยกล่าวว่าคุณสามารถลดการปนเปื้อนพลาสติกได้มากถึง 40% ด้วยการล้างข้าว นอกจากนี้ยังช่วยลดสารหนูซึ่งอาจมีอยู่ในข้าวสูง)” 

การศึกษาในเดือนมีนาคม 2024 พบว่า “ ‘น้ำดื่มบรรจุขวด’ ก็ปนเปื้อนด้วยเช่นกัน น้ำหนึ่งลิตรเทียบเท่ากับน้ำดื่มบรรจุขวดขนาดมาตรฐาน มีอนุภาคพลาสติกประมาณ 240,000 ชิ้นจากพลาสติก 7 ประเภท รวมทั้งนาโนพลาสติกด้วย” 

‘โปรตีน’ ทุกประเภทมีไมโครพลาสติก

which-foods-have-the-most-plastics-SPACEBAR-Photo01.jpg

จากการศึกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม นักวิจัยได้ศึกษาโปรตีนที่บริโภคกันทั่วไปมากกว่า 12 ชนิด รวมถึงเนื้อวัว กุ้งชุบเกล็ดขนมปัง อกไก่ นักเก็ต เนื้อหมู อาหารทะเล เต้าหู้ และเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืชหลายชนิด เช่น นักเก็ต เนื้อบดอินทรีย์ และลูกชิ้นปลาที่ทำจากพืช 

  • กุ้งชุบเกล็ดขนมปังจะปนเปื้อนพลาสติกที่มีขนาดเล็กที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วมีไมโครพลาสติกมากกว่า 300 ชิ้นต่อมื้อ 
  • นักเก็ตจากพืชมีเยอะเป็นอันดับ 2 โดยมีปริมาณไมโครพลาสติกต่ำกว่า 100 ชิ้นต่อมื้อ 
  • ตามมาด้วยนักเก็ตไก่ ปลาพอลแล็ค กุ้งขาวที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด กุ้งสีชมพูคีย์เวสต์ที่จับสดๆ และฟิชสติกจากพืช 
  • โปรตีนที่มีการปนเปื้อนน้อยที่สุดคือ ‘อกไก่’ รองลงมาคือ ‘เนื้อซี่โครงหมู’ และ ‘เต้าหู้’ 

หลังจากเปรียบเทียบผลลัพธ์กับข้อมูลการบริโภคของผู้บริโภคแล้ว นักวิจัยได้ประมาณการณ์ว่า “ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันสัมผัสไมโครพลาสติกโดยเฉลี่ยอาจอยู่ระหว่าง 11,000-29,000 อนุภาคต่อปี โดยคาดว่าจะสัมผัสไมโครพลาสติกสูงสุด 3.8 ล้านชิ้นต่อปี” 

ผักและผลไม้ผ่านการทดสอบแล้วว่า ‘มีปริมาณพลาสติกสูง’

which-foods-have-the-most-plastics-SPACEBAR-Photo02.jpg

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมพบว่า “ในผักและผลไม้หลายชนิดมีอนุภาคพลาสติกระหว่าง 52,050-233,000 ชิ้นซึ่งมีขนาดต่ำกว่า 10 ไมโครเมตร โดยแต่ละไมโครเมตรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณหยดน้ำ” 

  • แอปเปิ้ลและแครอทเป็นผักและผลไม้ที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดตามลำดับ โดยมีไมโครพลาสติกมากกว่า 100,000 ชิ้นต่อกรัม 
  • ในแครอทพบไมโครพลาสติกอนุภาคที่เล็กที่สุด ในขณะที่ชิ้นพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดพบในผักกาดหอม ซึ่งเป็นผักที่มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด 

พลาสติกมีอยู่ทั่วไป…

which-foods-have-the-most-plastics-SPACEBAR-Photo04.jpg

จากการวิเคราะห์เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ามีพลาสติกจำนวนมากในโลกในปัจจุบันคือ สารเคมีพลาสติก 16,000 ชนิดจะมีอย่างน้อย 4,200 ชนิดที่ถือว่า ‘เป็นอันตรายสูง’ ต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เมื่อสารเคมีเหล่านี้สลายตัวในสิ่งแวดล้อม พวกมันก็สามารถกลายเป็นไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกได้  

การศึกษาล่าสุดโดยใช้เทคโนโลยีใหม่พบว่าจำนวนนาโนพลาสติกในน้ำ 3 ยี่ห้อยอดนิยมที่จำหน่ายในสหรัฐฯ จะอยู่ระหว่าง 110,000-370,000 ต่อลิตร ลิตรหนึ่งเทียบเท่ากับน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 16 ออนซ์ประมาณ 2 ขวด (ผู้เขียนปฏิเสธที่จะพูดถึงน้ำดื่มบรรจุขวดว่าเป็นยี่ห้อใด) 

‘ไมโครพลาสติก’ อันตรายต่อสุขภาพมากแค่ไหน?

which-foods-have-the-most-plastics-SPACEBAR-Photo03.jpg

ที่ผ่านมาไมโครพลาสติกมักถูกพบในปอดของมนุษย์ เนื้อเยื่อรกของมารดาและทารกในครรภ์ น้ำนมแม่ และเลือดของมนุษย์ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังมีงานวิจัยในเรื่องนี้น้อยมากที่ระบุว่าโพลีเมอร์เหล่านี้ส่งผลต่ออวัยวะและการทำงานของร่างกายอย่างไร

การศึกษาในเดือนมีนาคม 2024 พบว่า

“ผู้ที่มีไมโครพลาสติกหรือนาโนพลาสติกในหลอดเลือดแดงที่คอนั้นมีโอกาสเป็นโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ ก็ตามในช่วง 3 ปีข้างหน้า มากกว่าผู้ที่ไม่มีเลยถึง 2 เท่า”

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “นาโนพลาสติกเป็นมลพิษจากพลาสติกประเภทที่น่าเป็นห่วงที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ นั่นเป็นเพราะว่าอนุภาคขนาดจิ๋วของมันสามารถทะลวงเข้าเซลล์และเนื้อเยื่อแต่ละส่วนในอวัยวะสำคัญๆ ได้ ซึ่งอาจขัดขวางกระบวนการของเซลล์ และสะสมสารเคมีที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ เช่น บิสฟีนอล พทาเลท สารหน่วงการติดไฟ สารเคมีเพอร์และโพลีฟลูออโรอัลคิล (PFAS) และโลหะหนัก” 

“สารเคมีทั้งหมดเหล่านั้นใช้ในการผลิตพลาสติก ดังนั้นหากพลาสติกเข้ามาหาเรา มันก็จะบรรทุกสารเคมีเหล่านั้นไปด้วย” เชอร์รี แซม เมสัน ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนของสถาบันเพนซิลเวเนียสเตต (Penn State Behrend) ในเมืองอีรี รัฐเพนซิลวาเนียบอกกับสำนักข่าว CNN 

“และเนื่องจากอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าภายนอก สารเคมีเหล่านั้นจะละลายออกจากพลาสติกนั้นและจบลงที่ร่างกายของเรา โดยมันจะแพร่กระจายไปยังตับ ไต สมอง รกเด็ก และแทรกเข้าไปอยู่ในครรภ์ทารกอีกด้วย” เมสันกล่าว 

“ในปัจจุบันยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากอนุภาคนาโนและไมโครพลาสติก ดังนั้น รายงานของสื่อที่อิงตามสมมติฐานและการคาดเดาจึงไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการทำให้ประชาชนหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น” โฆษกของสมาคมน้ำดื่มบรรจุขวดนานาชาติบอกกับ CNN ก่อนหน้านี้ 

เราจะหลีกเลี่ยงและลด ‘พลาสติก’ อย่างไรบ้าง? 

  • พยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารใดๆ ก็ตามที่เก็บไว้ในภาชนะพลาสติก 
  • เลือกทานอาหารที่เก็บไว้ในแก้ว ภาชนะเคลือบ หรือฟอยล์ 
  • สวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าธรรมชาติและซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 
  • ห้ามอุ่นอาหารไมโครเวฟด้วยพลาสติก แต่ควรอุ่นบนเตาหรือไมโครเวฟในแก้วแทน 
  • ควรกินอาหารสดให้มากที่สุด และจำกัดการซื้ออาหารแปรรูปที่ห่อด้วยพลาสติก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์