‘พาเวล ดูรอฟ’ เจ้าของฉายา ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กแห่งรัสเซีย’ ซีอีโอ Telegram ที่เพิ่งถูกจับคือใคร?

26 ส.ค. 2567 - 06:33

  • ‘พาเวล ดูรอฟ’ มหาเศรษฐีชาวรัสเซียผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันส่งข้อความ ‘เทเลแกรม’ (Telegram) ถูกจับกุมที่สนามบินบูร์เกต์ ฝรั่งเศส

  • ทำให้ในเวลานี้แอปฯ ส่งข้อความ ‘Telegram’ ซึ่งได้รับความนิยมทั่วโลกกำลังถูกตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น หลังแอปฯ ถูกกล่าวหาว่า มีการนำไปใช้ในทางอาชญากรรม

who_is_pavel_durov_ceo_of_messaging_app_telegram_SPACEBAR_Hero_b6b9467291.jpg

‘พาเวล ดูรอฟ’ มหาเศรษฐีชาวรัสเซียผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันส่งข้อความ ‘เทเลแกรม’ (Telegram) ถูกจับกุมที่สนามบินบูร์เกต์ ฝรั่งเศส หลังจากเดินทางมาด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเมื่อวันเสาร์ (24 ส.ค.) ที่ผ่านมา การสืบสวนมุ่งเน้นประเด็นที่แอปฯ ขาดการกำกับควบคุมดูแล ซึ่งอาจทำให้แอปฯ ดังกล่าวถูกนำไปใช้ในทางอาชญากรรม 

เมื่อวันอาทิตย์ (25 ส.ค.) แหล่งข่าวใกล้ชิดกับทีมสอบสวนเปิดเผยว่า “ดูรอฟถูกควบคุมตัวต่อ ช่วงเวลาการควบคุมตัวเบื้องต้นเพื่อสอบปากคำอาจกินเวลานานสูงสุด 96 ชั่วโมง” แต่หลังผ่านไป 96 ชั่วโมง ผู้พิพากษาจะตัดสินใจว่าจะปล่อยตัวเขา ดำเนินคดี หรือว่าส่งตัวกลับเพื่อควบคุมตัวต่อไป 

Telegram กล่าวในแถลงการณ์เมื่อเย็นวันอาทิตย์ว่า “Telegram ปฏิบัติตามกฎหมายของสหภาพยุโรป รวมถึงกฎหมายบริการดิจิทัล การควบคุมดูแลอยู่ในมาตรฐานอุตสาหกรรมและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง...ดูรอฟ ซีอีโอของ Telegram ไม่ได้ปิดบังอะไรและมักเดินทางไปทั่วยุโรปบ่อยครั้ง เป็นเรื่องไร้สาระที่จะอ้างว่าแอปฯ หรือเจ้าของแอปฯ เป็นผู้รับผิดชอบต่อการละเมิดดังกล่าว เรากำลังรอการแก้ไขสถานการณ์นี้โดยเร็ว” 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษก็ประกาศว่าจะสั่งแบน Telegram เนื่องจากมีบัญชีเครือข่ายของกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด ‘Terrorgram’ อยู่บนแอปฯ Telegram เยอะ โดยอ้างว่าเครือข่ายดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีนองเลือดหลายครั้งทั่วโลก และยังส่งเสริมอุดมการณ์การก่อการร้ายแบบนีโอฟาสซิสต์ (neo-fascist) ด้วย 

และนี่คือสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับซีอีโอรายนี้ และแอปฯ Telegram ของเขา 

‘พาเวล ดูรอฟ’ เจ้าของฉายา ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งรัสเซีย’

ดูรอฟ มหาเศรษฐีชาวรัสเซียวัย 39 ปีเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Telegram แอปฯ ส่งข้อความฟรีคู่แข่ง WhatsApp, Facebook Messenger, Wechat, Instagram และ TikTok  

ในปัจจุบัน นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ประเมินทรัพย์สินของดูรอฟไว้ที่ 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.2 แสนล้านบาท) ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดอันดับที่ 120 ของโลก และบางครั้งยังได้รับฉายาว่า ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งรัสเซีย’ อีกด้วย 

ดูรอฟ ออกจากประเทศในปี 2014 ทั้งที่เพิ่งเปิดตัว Telegram ในปี 2013 หลังจากที่บริษัทปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามความต้องการของรัฐบาลในการปิดเครือข่ายคอมมูนิตี้ฝ่ายค้านบน ‘โวฟคอนทักเท’ (VKontakte / VK) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรัสเซียที่เขาก่อตั้งร่วมกับพี่ชายเมื่อปี 2006 แต่ต่อมาเขาก็ขายออกไป 

สื่อรายงานว่า ดูรอฟ ย้ายไปอยู่ดูไบในปี 2017 พร้อมทั้งตั้งสำนักงานใหญ่ที่นั่น จากนั้นก็ได้รับสัญชาติฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคม 2021 รวมถึงได้สัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และยังได้เป็นพลเมืองของเซนต์คิตส์และเนวิส ประเทศที่มี 2 เกาะในทะเลแคริบเบียนด้วย 

“ผมขอเป็นอิสระมากกว่าต้องรับคำสั่งจากใครก็ตาม” ดูรอฟ บอกกับ ทักเกอร์ คาร์ลสัน นักข่าวชาวอเมริกันเมื่อเดือนเมษายน เกี่ยวกับประเด็นการออกจากประเทศของเขา 

ความนิยมของ ‘Telegram’ ทำให้มีการตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น

who_is_pavel_durov_ceo_of_messaging_app_telegram_SPACEBAR_Photo01_2243155a16.jpg

  Telegram มีอิทธิพลในรัสเซีย ยูเครน และสาธารณรัฐต่างๆ ของอดีตสหภาพโซเวียต ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสงครามของรัสเซียในยูเครน โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ทั้งในมอสโกและเคียฟจำนวนมากใช้แอปฯ ดังกล่าว ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเรียกแอปฯ นี้ว่า ‘สนามรบเสมือนจริง’

อย่างไรก็ตาม รัสเซียเริ่มบล็อกแอปฯ ดังกล่าวในปี 2018 หลังจากบริษัทปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการอนุญาตให้หน่วยงานความมั่นคงของรัฐเข้าถึงข้อความเข้ารหัสของผู้ใช้ การกระทำดังกล่าวมีผลเพียงเล็กน้อยต่อความพร้อมใช้งานของ Telegram ในประเทศ แต่ได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงมอสโกและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรนอกภาครัฐ (NGOs) 

บริษัทระบุว่า Telegram ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และปัจจุบันติดอันดับ 5 แอปฯ ที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดทั่วโลก ในปี 2023 แอปฯ ดังกล่าวมีผู้ใช้งานรายเดือนมากกว่า 700 ล้านคน และมีเป้าหมายที่จะทะลุ 1 พันล้านคนภายใน 1 ปี 

ทว่าความนิยมที่เพิ่มขึ้นกลับส่งผลให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้นจากหลายประเทศในยุโรป รวมถึงฝรั่งเศส เกี่ยวกับข้อกังวลด้านความปลอดภัยและการละเมิดข้อมูลที่อาจเกิดขึ้น 

“Telegram มุ่งมั่นที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้และสิทธิมนุษยชน เช่น เสรีภาพในการพูดและการชุมนุม Telegram มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั่วโลก รวมถึงในอิหร่าน รัสเซีย เบลารุส เมียนมา และฮ่องกง” บริษัทระบุ 

หลังจากที่ ดูรอฟ ถูกจับกุม นักเคลื่อนไหวหลายคนได้รวมตัวกันประท้วงบริเวณหน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงมอสโกเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวดูรอฟ โดยหนึ่งในผู้ประท้วงคนหนึ่งได้ถือป้ายเรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศส “ไม่เดินตามรอยปูติน” และเคารพเสรีภาพในการพูด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์