เปิดตำนานอื้อฉาวว่าที่ ปธน.อินโดฯ อดีตนายพลที่อาจนำพาประเทศสู่ร่มเงา ‘เผด็จการ’ อีกครั้ง

15 กุมภาพันธ์ 2567 - 09:11

who-is-prabowo-subianto-indonesias-next-president-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เปิดเรื่องราวและตำนานอื้อฉาวของ ‘ปราโบโว ซูเบียนโต’ ว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนใหม่!

  • ที่ว่ากันว่าอดีตเคยร้าย แต่สร้างภาพลักษณ์ใหม่เป็น ‘คุณปู่น่ากอด’ ท่ามกลางความกังวลว่าเขาอาจนำพาประเทศเข้าสู่ร่มเงา ‘เผด็จการ’ อีกครั้ง

ปิดฉากลงไปแล้วเมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) สำหรับการเลือกตั้งทั่วไป 2024 ของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่าง ‘อินโดนีเซีย’ ท่ามกลางการจับตามองว่า ‘ปราโบโว ซูเบียนโต’ จากพรรคขบวนการอินโดนีเซียยิ่งใหญ่ (Great Indonesia Movement Party / Gerindra) อดีตลูกเขยของจอมเผด็จการซูฮาร์โตผู้ล่วงลับที่เคยพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 จะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่หรือไม่? 

แต่ดูเหมือนว่าอินโดนีเซียจะกลับเข้าสู่ใต้ร่มเงา ‘เผด็จการ’ อีกครั้ง หลังผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมาเกินครึ่งปราโบโวโกยคะแนนไป 58.84% โดยผู้สมัครคนใดคนหนึ่งได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 50% ของคะแนนเสียงสุดท้าย เขาจะกลายเป็นประธานาธิบดี ซึ่งตอนนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าปราโบโวจะได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศคนใหม่อย่างแน่นอน 

และนี่คือเรื่องราวที่น่าสนใจของผู้นำเผด็จการวัย 72 ปีรายนี้ 

1. มาจากครอบครัวที่ยึดมั่นในการเมืองและสถาบันชั้นนำของประเทศ 

ว่ากันว่าปู่ของปราโบโวก่อตั้งธนาคารรัฐแห่งแรกของอินโดนีเซีย และมีบทบาทสำคัญในขบวนการเรียกร้องเอกราชของประเทศ ในขณะที่พ่อของเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญและดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง 

ส่วนอดีตภรรยาของเขาคือ ‘ติเตียก ซูฮาร์โต’ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘สิติ เฮเดียติ ฮาริยาตี’ ลูกสาวคนที่ 2 ของอดีตผู้นำเผด็จการทหาร ‘ซูฮาร์โต’ ของอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 1968-1998 ปราโบโววแยกทางกับติเตียกไม่นานหลังจากที่ซูฮาร์โตถูกขับไล่ในปี 1998 หลังเกิดวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1997  

2. ภูมิหลังทางทหาร กับ ‘เรื่องอื้อฉาว’

ปราโบโวเข้าร่วมกองทัพอินโดนีเซียไม่นานหลังจากสำเร็จการศึกษาจากสถาบันกองทัพบกในปี 1974 ซึ่งเขาไต่ระดับจากการรับใช้ในกองกำลังพิเศษมาเป็น ‘ผู้บัญชาการกองหนุนยุทธศาสตร์กองทัพบก’ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘โคสตราด’ (Kostrad) ในปี 1998 

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ การขาดแคลนอาหาร การว่างงานจำนวนมาก และการคอร์รัปชันทำให้เกิดจลาจลทั่วประเทศอินโดนีเซียในปี 1998 กองกำลังภายใต้คำสั่งของปราโบโวถูกกล่าวหาว่า ‘ลักพาตัวและทรมานนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างน้อย 9 คน’ 

จากนั้น เขาก็ถูกปลดออกจากกองทัพอย่างไร้ศักดิ์ศรีจากข้อกล่าวหาเหล่านี้ในปี 1998 แต่ไม่เคยถูกดำเนินคดีอาญา และลี้ภัยออกนอกประเทศไปอยู่จอร์แดนจนถึงปี 2001 อย่างไรก็ดี ข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขาทำให้สหรัฐฯ สั่งห้ามการเข้าประเทศสหรัฐฯ มานานหลายทศวรรษ แต่ก็ถูกยกเลิกไปในปี 2020 หลังจากที่ปราโบโวขึ้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในสมัยประธานาธิบดี โจโก วิโดโด 

ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Aljazeera เมื่อปี 2014 ปราโบโวยอมรับว่า นักเคลื่อนไหวถูกลักพาตัว ซึ่งตัวเขานั้นทำตามคำสั่งและการลักพาตัวดังกล่าว ‘ถูกต้องตามกฎหมาย’ นอกจากนี้ เขายังถูกกล่าวหาว่ามีการ ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ’ เช่น ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการสังหารหมู่นักรบเพื่อเอกราชในติมอร์ตะวันออก แต่ปราโบโวปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ 

ทั้งนี้ ในระหว่างดีเบตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2023 ปราโบโวบอกว่า เขาเป็น ‘ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขัน’ หลังจากเผชิญกับการซักถามจากคู่แข่งเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว “คนที่ถูกควบคุมตัวทางการเมืองในตอนนั้น ตอนนี้พวกเขาคอยสนับสนุนผม อย่าเอาประเด็นสิทธิมนุษยชนไปโยงการเมือง” ปราโบโวกล่าว 

3. กว่าจะได้เป็น ‘ประธานาธิบดี!’

who-is-prabowo-subianto-indonesias-next-president-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP

รายงานของ Jakarta Post ระบุว่า “ในปี 2008 ปราโบโวได้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองขบวนการอินโดนีเซียยิ่งใหญ่ (Gerindra) และถูกเสนอชื่อเข้าชิงเป็นรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2009 แต่เขาแพ้ด้วยคะแนนเสียงประมาณ 26.8%” 

ปราโบโวมีชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2014 สู้กับวิโดโด หรือ โจโควี แต่ก็พ่ายแพ้ด้วยคะแนนเสียง 46.9% หรือน้อยกว่าโจโควีประมาณ 8 ล้านเสียง ในเวลาครั้งต่อมาก็มีการเสนอชื่อเขาชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่ 2 กับโจโควีอีกครั้ง ปราโบโวก็แพ้อีกครั้งด้วยคะแนนเสียง 44.5% ซึ่งน้อยกว่าคะแนนเสียงของโจโควีที่ 55.5% 

และการเลือกตั้งในปีนี้ 2024 ถือเป็นการเสนอชื่อครั้งที่ 3 ของปราโบโวเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดอีกครั้ง ซึ่งดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จเสียด้วย 

4. ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ‘รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม’

ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมของประเทศมาตั้งแต่ปี 2019 ปราโบโวได้พยายามปรับปรุงกองทัพของประเทศให้ทันสมัย ซึ่งรวมถึงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ ‘Rafale’ จำนวน 42 ลำ และความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เพื่อเสริมสร้างการเข้าซื้อกิจการของกองทัพ 

แต่ถึงกระนั้น ความพยายามของเขาก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทั้งหมด เนื่องจากเขาต้องเผชิญกับปัญหาในการจัดซื้อบางอย่าง เช่น เครื่องบินขับไล่มีราฌ ‘Mirage 2000-5’ จำนวน 12 ลำ ซึ่งอินโดนีเซียประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่เพียงพอ 

นอกจากนี้ ปราโบโวยังได้เสนอในระหว่างการประชุมสุดยอดบทสนทนาแชงกรี-ลา (Shangri-La Dialogue) ปี 2023 ที่จัดขึ้นในสิงคโปร์เกี่ยวกับ ‘แผนสันติภาพ’ สำหรับรัสเซียและยูเครนที่เกี่ยวข้องกับการหยุดยิงและการสร้างเขตปลอดทหาร โดยเสนอแนะให้ทั้ง 2 ประเทศถอนตัวจากตำแหน่งรบแนวหน้าของตัวเอง 15 กิโลเมตร แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จาก ‘โจเซป บอร์เรลล์’ นักการทูตสหภาพยุโรป และ ‘โอเล็กซี เรซนิคอฟ’ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน  

5. สลัดภาพจำร้ายๆ แล้วสร้างภาพลักษณ์ใหม่เป็น ‘คุณปู่น่ากอด’

who-is-prabowo-subianto-indonesias-next-president-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP

แม้ว่าปราโบโวอาจมีอดีตที่มืดมนจากข้อกล่าวหาเรื่อง ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ‘การถูกไล่ออกจากกองทัพ’ และ ‘ลี้ภัยในจอร์แดน’ แต่เขาพยายามอย่างหนักเพื่อสลัดภาพจำเหล่านี้ และสร้างภาพลักษณ์ใหม่เพื่อให้เหมาะกับการเป็นผู้นำคนต่อไปของอินโดนีเซีย 

นอกจากนี้ ปราโบโวยังพยายามห่างไกลจากภาพลักษณ์ของเขาในฐานะชาตินิยม-ประชานิยมและสนับสนุนอิสลามิสต์ ซึ่งเขาเคยแสดงจุดยืนไว้ระหว่างการชิงตำแหน่งสูงสุด 2 ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้ เขาเลือกที่เปลี่ยนเป็นภาพลักษณ์ที่ ‘นุ่มนวลกว่า’ หรือเป็น ‘คุณปู่น่ากอด’ นั่นเอง รวมไปถึงการแสดงอารมณ์ขันและพูดติดตลก ซึ่งตรงกันข้ามกับอารมณ์รุนแรงของเขา  

ปราโบโวให้สัญญาหลายประการในระหว่างการหาเสียงของเขา ซึ่งรวมถึงแผน 460 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 1.06 หมื่นล้านบาท) เพื่อแจกจ่ายอาหารกลางวันและนมฟรีให้กับนักเรียนและสตรีมีครรภ์ นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนโรงเรียนแพทย์ในอินโดนีเซียจาก 92 แห่งเป็น 300 แห่งด้วย 

“การให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแก่เด็กๆ ชาวอินโดนีเซียทุกคน ตั้งแต่ตอนที่พวกเขายังอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยเรียน...จะแก้ (ปัญหา) การเสียชีวิตของมารดา เด็กที่ขาดสารอาหาร และภาวะยากจนข้นแค้นอย่างรุนแรง” ปราโบโวกล่าว 

ปราโบโวยังประกาศด้วยว่าเขาจะตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 8% และจะมอบทุนการศึกษาให้นักเรียน 20,000 คนเพื่อศึกษาต่อในระดับนานาชาติ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์