เหตุรถทัศนศึกษาไฟไหม้ที่ส่งผลให้ทั้งครูและนักเรียนเสียชีวิต 23 คนยิ่งตอกย้ำว่าถนนของประเทศไทยคือหนึ่งในถนนที่อันตรายที่สุดในโลก
ทุกๆ ปีมีคนเสียชีวิตราว 20,000 คนบนท้องถนนของประเทศไทย หรือเฉลี่ยวันละกว่า 50 คน
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ท้องถนนของประเทศไทยอันตรายที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชีย เป็นรองเพียงเนปาลเท่านั้น และอันดับ 16 ของโลกเท่ากับชาดและกินีบิสเซา
ปี 2021 มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางจราจร 25.7 คนต่อประชากร 100,000 คนในประเทศไทย ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่เพียง 15 คน
ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือ Thai RSC ระบุว่า เฉพาะปีนี้มีคนเสียชีวิตบนท้องถนนแล้วมากกว่า 10,000 คน และบาดเจ็บอีก 600,000 คน โดยมากกว่า 4 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยนของโลกอยู่ที่ 1 ใน 5
ปี 2021 WHO ระบุว่า อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการจราจรมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมดในไทย โดยราว 75% ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย
ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่ที่ราว 15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022
งานวิจัยเรื่อง “Their lives don't matter to politicians”: The necropolitical ecology of Thailand's dangerous and unequal roads (ชีวิตของพวกเขาไม่สำคัญกับบรรดานักการเมือง: นิเวศวิทยาการเมืองของความตายของถนนที่อันตรายและไม่เท่าเทียมกันของประเทศไทย) ระบุสาเหตุที่ท้องถนนของไทยอันตรายไว้หลายประการ ดังนี้
ถนนที่ออกแบบไม่ดีและขาดการวางแผน
ทั้งวัสดุและการออกแบบล้วนทำให้ถนนเมืองไทยอันตรายกับผู้ขับขี่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการขยายถนนรองรับการจราจรมากกว่าความปลอดภัย
งานวิจัยระบุว่า ถนนที่ดีควรมีลำดับชั้นคือ ทางด่วนที่ใช้ความเร็วได้และเข้าถึงได้น้อย ตามด้วยถนนหลัก ถนนรอง และถนนสายย่อย โดยถนนสายย่อยเข้ามีการเข้าถึงได้มากที่สุดและต้องใช้ความเร็วไม่มาก แต่การสร้างถนนในเมืองไทยนั้นทางการมักจะมองเพีนงเรื่องการส้รางถนน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนการใช้ที่ดิน
การพัฒนาถนนโดยไม่คำนึงถึงลำดับชั้นเป็นอันตราย เพราะยานพาหนะทุกชนิดทุกความเร็วต้องใช้ถนนร่วมกันหมด และยังนำมาสู่การเสียชีวิตในอัตราสูงของคนข้ามถนนด้วย
โดยรวมแล้วตามมาตฐานของโครงการประเมินความปลอดภัยทางถนน (IRAP) 60% ของถนนในไทยไม่ปลอดภัยสำหรับรถยนต์ และ 80-90% ไม่ปลอดภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และคนข้ามถนน
กฎหมายไม่เข้ม การบังคับใช้หย่อนยาน
กฎระเบียบที่ไม่เข้มงวด รวมถึงบทลงโทษที่จำกัด เพดานความเร็วที่ค่อนข้างสูง ช่องโหว่ทางกฎหมาย และการขาดการบังคับใช้กฎระเบียบโดยตำรวจ ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ระมัดระวัง ไม่สนใจว่าจะได้ใบสั่งหรือไม่
ผู้ขับขี่ขาดความรู้ และวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย
พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ดีของผู้ใช้รถใช้ถนน ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจ และการให้ความรู้ในการขับขี่ที่ไม่เพียงพอทำให้ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนหนักขึ้น ผู้ขับขี่หลายคนโดยเฉพาะวัยรุ่นที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่มีใบขับขี่ โดยพบว่าราว 54% ของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุไม่มีใบขับขี่
ปัจจัยทางวัฒนธรรมมีส่วนทำให้การศึกษาและการฝึกอบรมเกี่ยวกับการขับขี่มีจำกัด เนื่องจากคนไทยมักจะหาทางเลี่ยงกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเมาแล้วขับ และมักจะใช้ชีวิตแบบสนุกๆ จนทำให้บางคนขับขี่แบบไม่ระมัดระวัง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และขับขี่ด้วยความเร็ว

ยานพาหนะไม่ปลอดภัย
สภาพความพร้อมของยานพาหนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถจักรยานยนต์ อันเนื่องมาจากการขาดมาตรฐานและกฎเกณฑ์ควบคุมกลายเป็นปัญหาของไทย เนื่องจากไทยมีรถจักรยานยนต์ที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า 22 ล้านคัน และผู้คนก็มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ทำให้มีการใช้กันมากและมีพฤติกรรมขับขี่ที่เป็นอันตราย
งานวิจัยระบุว่า การขับขี่รถจักรยานยนต์ในไทยอันตรายกว่าที่อื่น เพราะถูกออกแบบมาให้ใช้ความเร็วได้สูงกว่า อาทิ รถขนาด 110-115 ซีซี มีความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ประเทศอื่นมีความเร็วเพียง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงมากกว่า
นอกจากนี้ ข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยของไทยยังอ่อนกว่าประเทศอื่นๆ ยานพาหนะเก่าทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ขาดการตรวจสอบและควบคุมที่ดี ทำให้เป็นอันตรายมากกว่า โดยพบว่า กฎเกณฑ์เรื่องการรับรองยานพาหนะขององค์การสหประชาชาติหลายข้อไม่ได้ใช้ในประเทศไทย
อุปสรรคด้านการเมืองและงบประมาณ
อุบัติเหตุจราจรทางถนนที่มีอัตราสูงของประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่มากมาย ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาเป็นเจ้าภาพหลัก ส่งผลให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนไม่มีคุณภาพ ทำให้การประเมินขนาดของปัญหาและสาเหตุยิ่งยากขึ้นไปอีก หากมีการสอบสวนแต่ละหน่วยงานจะทำงานแยกเป็นอิสระจากกันแล้วมีข้อมูลของตัวเอง ไม่มีระบบฐานข้อมูลกลางที่เชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกัน
ข้อจำกัดด้านงบประมาณของแต่ละหน่วยงานยิ่งทำให้ธรรมาภิบาลเรื่องถนนปลอดภัยแย่ลง แม้ว่ากระทรวงคมนาคมจะจัดสรรงบประมาณมหาศาลในแต่ละปี แต่งบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างและขยายถนน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่นำมาใช้กับโครงการถนนปลอดภัย หรือการบำรุงรักษาถนนซึ่งอาจช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น
รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ
ผู้นำของรัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างเพียงพอไม่ว่าจะในรัฐบาลไหน งานวิจัยระบุว่า บรรดานักการเมืองไม่ได้ใช้ทุนทางการเมืองของตัวเองในประเด็นนี้ เพราะมองว่าต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะเห็นผล พวกเข้าก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการลงมือทำสิ่งนี้ นักการเมืองจึงเน้นประเด็นที่มีโอกาสได้กำไรทางการเมืองในระยะสั้น เนื่องจากไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนเกี่ยวกับการเสียชีวิตและบาดเจ็บทางถนน
Photo by LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP