พฤศจิกายนนี้ สหรัฐฯ จะไม่ได้ผู้นำหน้าใหม่? เพราะนี่มันคือการรีแมทช์อีกรอบระหว่าง โจ ไบเดน จากเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน แต่บรรยากาศกลับไม่เหมือนเดิม เมื่อทั้งไบเดนและทรัมป์ต้องเผชิญกับคำวิจารณ์ที่ว่า ‘พวกเขาแก่เกินไป’ โดยเฉพาะไบเดนที่แสดงอาการอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ทรัมป์ก็กลายเป็นแคนดิเดตที่มีมลทิน แต่ชาวอเมริกันจะทำยังไงได้ล่ะ มันมีแค่ 2 ทางเลือกนี่ ที่แน่ๆ ระหว่างนี้ก็ยังมีข่าวลืออยู่หนาหูว่าอาจมีการเปลี่ยนตัวแคนดิเดตกลางคันโดยเฉพาะฝั่งเดโมแครตที่แว่วมาว่าอาจเป็น ‘คามาลา แฮร์ริส’ ลงศึกผู้นำแทน
แต่ตัวเลือกมันมีแค่ 2 พรรคนี้จริงๆ...(?)
จากการสำรวจของบริษัททำโพลแกลลัพ (Gallup) เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า
- ผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 63% เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า พรรครีพับลิกันและเดโมแครตทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวอเมริกันได้ ‘แย่มาก’ จนต้องมีพรรคการเมืองหลักพรรคที่ 3 เข้ามาแทนที่
- ชาวอเมริกันถึง 49% มองว่าตัวเองเป็นอิสระทางการเมือง
แล้วทำไมเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ละทีมักจะมีแค่แคนดิเดตจาก เดโมแครต VS รีพับลิกัน ล่ะ?
ก่อนอื่นต้องเท้าความก่อนว่าพรรคการเมืองหลัก 2 พรรคมีอิทธิพลทางการเมืองในสหรัฐฯ มาช้านาน และตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา พรรคการเมืองหลัก 2 พรรคนี้ก็คือ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน
เหตุใดพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันจึงมักมีตัวเลือกในการลงคะแนนเสียงน้อย? จริงๆ แล้วสหรัฐฯ ใช้ระบบ 2 พรรคหลังจากก่อตั้งประเทศได้ไม่นาน
กลุ่มการเมืองในช่วงเริ่มแรก

ในการวางกรอบการทำงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ในปี 1789 รัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวถึงพรรคการเมืองใดๆ ผู้ก่อตั้งประเทศหลายคนไม่ไว้วางใจกลุ่มพรรคการเมืองดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ เรียกพรรคการเมืองว่าเป็นเหมือน ‘โรคร้ายแรงที่สุด’ ของรัฐบาลที่ได้รับความนิยม ในขณะที่ จอร์จ วอชิงตัน อดีตประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ เตือนในคำปราศรัยอำลาในปี 1796 ว่า “กลุ่มการเมืองต่างๆ จะนำไปสู่ ‘ระบอบเผด็จการที่น่ากลัว’ ”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองต่างๆ เริ่มก่อตัวขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งในเวลานั้น ประเทศเพิ่งจะก่อตั้งใหม่ ในช่วงที่วอชิงตันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ชนชั้นนำทางการเมืองแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ได้แก่
- กลุ่มเฟเดอรัลลิสต์ (Federalist) นำโดย แฮมิลตัน
- และกลุ่มต่อต้านเฟเดอรัลลิสต์ (Anti-Federalist) หรือกลุ่มเดโมแครต-รีพับลิกัน (Democrat-Republicans) นำโดย โทมัส เจฟเฟอร์สัน หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ และอดีตประธานาธิบดีคนที่ 3
ทั้ง 2 กลุ่มนี้โต้เถียงกันอย่างรุนแรงว่ารัฐบาลกลางชุดใหม่ควรมีอำนาจมากเพียงใดเมื่อเทียบกับรัฐต่างๆ
กำเนิดพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน

การเลือกตั้งในปี 1800 เจฟเฟอร์สันเอาชนะ จอห์น อดัมส์ (อดีตประธานาธิบดีคนที่ 2) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของกลุ่มเฟเดอรัลลิสต์ และเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านกลายเป็นพรรคเดโมแครต-รีพับลิกัน ที่เข้ามาครองอำนาจทางการเมืองจนถึงปี 1829
ในช่วงเวลาหนึ่งในสมัยของ เจมส์ มอนโร (ปี 1817-1825) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 5 ได้ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ยุคแห่งความรู้สึกดีๆ’ (Era of Good Feelings) เนื่องจากช่วงเวลานั้นไม่ค่อยมีการแบ่งแยกพรรคการเมืองระดับชาติมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมอนโรพยายามลดความสำคัญของการสังกัดพรรคการเมืองในการเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่ง โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ความสามัคคีของชาติ และการกำจัดพรรคการเมืองทั้งหมดออกจากการเมืองระดับชาติ
แต่นักประวัติศาสตร์บอกว่าวลีนี้สื่อถึงการเสียดสี และความคลางแคลงใจ เนื่องจากประวัติศาสตร์ในยุคนั้นเป็นช่วงที่บรรยากาศทางการเมืองตึงเครียดและแตกแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในรัฐบาลมอนโรและพรรคเดโมแครต-รีพับลิกัน รวมถึงการล่มสลายของกลุ่มเฟเดอรัลลิสต์ด้วย
“ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ คุณจะเห็นการตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นภายในพรรคเดโมแครต-รีพับลิกันพรรคเดียวนี้ แต่ความขัดแย้งยังคงไม่หายไปไหน เหตุการณ์มันเกิดขึ้นอีกครั้งเหมือนกับประเด็นความขัดแย้งในตอนนั้นเกี่ยวกับบทบาทและความแข็งแกร่งของรัฐบาลกลางเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ”
แซม โรเซนเฟลด์ รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอลเกต กล่าว
ต่อมาการเลือกตั้งในปี 1824 ระหว่าง จอห์น ควินซี อดัมส์ (อดีตประธานาธิบดีคนที่ 6) และ แอนดรูว์ แจ็กสัน (อดีตประธานาธิบดีคนที่ 7) ในเบื้องต้น ผลการเลือกตั้งไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ สภาคองเกรสจึงจัดการเลือกตั้งฉุกเฉินโดยให้คณะผู้แทนแต่ละรัฐลงคะแนนเสียง และเป็นอดัมส์ที่ชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น
หลังจากนั้น 4 ปี ผู้สนับสนุนแจ็กสันนำโดย มาร์ติน แวน บิวเรน (อดีตประธานาธิบดีคนที่ 8) ได้ก่อตั้งแนวร่วมใหม่ตามอุดมคติของเจฟเฟอร์ซัน (Jeffersonian ideals) ซึ่งต่อมากลายเป็น ‘พรรคเดโมแครต’ โดยในปี 1828 และ 1832 ก็กลายเป็นแจ็คสันที่ชนะการเลือกตั้งทั้ง 2 สมัยจากพลังการสนับสนุนของพรรคเดโมแครต
ขณะเดียวกันในปี 1833 ผู้ที่ต่อต้านนโยบายของแจ็คสันก็รวมตัวกันจัดตั้งพรรควิก (Whig Party) ซึ่งฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าของไร่ นักปฏิรูปสังคม โปรเตสแตนต์ที่เคร่งศาสนา และชนชั้นกลางในเมืองที่กำลังเติบโต แต่ก็ได้รับการสนับสนุนน้อยมากจากเกษตรกรที่ยากจนและคนงานไร้ฝีมือ
ถึงกระนั้นในท้ายที่สุด พรรควิกก็ล่มสลายลงในช่วงทศวรรษปี 1850 ซึ่งระหว่างนั้นในปี 1854 นักเคลื่อนไหวต่อต้านระบบทาสได้ก่อตั้ง ‘พรรครีพับลิกัน’ ขึ้น และกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองหลักผลัดกันครองเสียงข้างมากกับพรรคเดโมแครตเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวทางและจุดยืนของพรรคจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ทั้ง 2 พรรคก็ยังคงครองอำนาจในสหรัฐฯ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เอื้อประโยชน์ต่อระบบ 2 พรรคอย่างไร?
ที่ผ่านมา พรรคการเมืองภายนอก หรือพรรคการเมืองที่ 3 มักมีบทบาทเล็กๆ น้อยๆ ในวงการเมืองของประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้จะมีแคนดิเดตโผล่มาเป็นครั้งคราวแต่แทบจะไม่มีโอกาสได้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเลย นอกจากนี้ พรรคการเมืองเหล่านี้ยังแทบไม่เคยแข่งขันชิงที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มีสมาชิกไม่เกิน 2 คนจากทั้งหมด 535 คนที่ไม่ใช่รีพับลิกันและเดโมแครต
ทว่าในกรณีนี้ยกเว้น เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกสภาอิสระจากรัฐเวอร์มอนต์ที่แม้ไม่ได้สัดกัด 2 พรรคนี้แต่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาคองเกรสตั้งแต่ปี 2007 และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งอยู่ ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐสภาสหรัฐฯ
แล้วเหตุใดมันจึงมีแค่ 2 พรรคหลักที่มีอิทธิพลล่ะ?...คำตอบก็คือ ระบบการเมืองของสหรัฐฯ ถูกกำหนดขึ้นสำหรับพรรคการเมืองหลัก 2 พรรค เนื่องจากระบบนี้มอบที่นั่งในรัฐสภาและตำแหน่งประธานาธิบดีโดยใช้หลักการที่ว่า ‘ผู้ชนะกินรวบ’ กล่าวคือผู้สมัครรับเลือกตั้งรัฐสภาต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากเท่านั้นจึงจะได้รับการเลือกตั้ง โดยใน 48 จาก 50 รัฐ แคนดิเดตประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมดของรัฐ
มอริส ดูแวร์แฌ นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสได้สร้างทฤษฎีขึ้นในช่วงทศวรรษปี 1950 ว่า “การจัดระบบแบบนี้จะนำไปสู่ระบบ 2 พรรคอย่างแท้จริง”
กฎของดูแวร์แฌ (Duverger’s law) ระบุว่า
“พรรคการเมืองที่ 3 ไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากไม่มีรางวัลสำหรับผู้ชนะ การเลือกตั้งมักจะจบลงด้วยการแข่งขันระหว่างแคนดิเดต 2 คน สิ่งนี้ทำให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจเลือกแคนดิเดตที่มีแนวโน้มจะชนะมากที่สุด แม้แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุนพรรคการเมืองที่ 3 ก็อาจตัดสินใจสนับสนุนแคนดิเดตที่จะชนะ แทนที่จะลงคะแนนให้กับบุคคลที่พวกเขาคิดว่า ‘ไม่น่าจะชนะ’ ”
หลายครั้งที่พรรคการเมืองที่ 3 ลงสนามแข่ง แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน...

ในบางครั้งการเมืองสหรัฐฯ มักจะมีผู้ว่าการรัฐหรือวุฒิสมาชิกจากพรรคการเมืองที่ 3 โผล่มาอยู่บ้างแต่ก็บ่อยครั้งที่พรรคการเมืองเหล่านี้มีอิทธิพลจำกัดและประสบความยากลำบากในการก้าวขึ้นเป็นขบวนการระดับชาติ ส่วนหนึ่งของปัญหานี้มาจาก :
- ความยากลำบากในการชนะการเลือกตั้งของพรรคการเมืองในช่วงแรก
- อิทธิพลของพรรคการเมืองหลัก 2 พรรคทำให้แคนดิเดตจากพรรคการเมืองที่ 3 ผ่านการคัดเลือกในการเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่งได้ยาก
- ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ อนุญาตให้แต่ละรัฐกำหนดว่า แคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะผ่านการคัดเลือกได้อย่างไร นั่นหมายความว่าโดยทั่วไปแล้วแคนดิเดตจากพรรคการเมืองที่ 3 จะต้องเป็นคนร่ำรวยที่สามารถระดมทุนสำหรับการรณรงค์หาเสียงให้ตัวเองได้
แม้ว่าผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ 3 และแคนดิเดตหลายคนจะเคยลงสมัครเลือกตั้งมาแล้วในอดีต แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนมากพอ และยังได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งจากรัฐต่างๆ
รอสส์ เพโรต์ นักธุรกิจชาวอเมริกันซึ่งมีชื่อเสียงจากการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 สมัยในฐานนะแคนดิเดตอิสระ (ไม่สังกัดพรรค) ในปี 1992 และในฐานะแคนดิเดตจากพรรคปฏิรูปสหรัฐฯ (พรรคการเมืองที่ 3) ในปี 1996 ทั้งนี้พบว่าในปี 1992 เพโรต์ไม่ชนะการเลือกตั้งใดๆ แม้ว่าเขาจะได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 19.7 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 19% ของคะแนนนิยม
แต่หากแคนดิเดตเหล่านี้ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง มันก็มักจะเกิดความตึงเครียดด้านเชื้อชาติ ยกตัวอย่างเคสของ จอร์จ วอลเลซ แคนดิเดตจากพรรคอิสระอเมริกัน หรือ AIP (อดีตผู้ว่าการรัฐแอละแบมา) ผู้ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง 46 เสียงในปี 1968 และ สตรอม เธอร์มอนด์ แคนดิเดตจากพรรคเดโมแครตเพื่อสิทธิของรัฐ หรือ ดิกซีแครต (อดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐ) ผู้ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง 39 เสียงในปี 1948) ซึ่งแคนดิเดตทั้ง 2 คนนี้เป็นชาวใต้ที่ลงสมัครในฐานะผู้ต่อต้านอย่างแข็งกร้าวในการรวมชาวอเมริกันผิวดำและผิวขาวเข้าด้วยกัน และเป็นแคนดิเดต 2 คนสุดท้ายที่ ‘ไม่ใช่’ รีพับลิกัน และ ‘ไม่ใช่’ เดโมแครต ที่ชนะการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ แคนดิเดตประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่เคยไม่ลงสมัครในสังกัดพรรคการเมืองหลัก 2 พรรค (ที่มีสิทธิ์ชนะเลือกตั้งทั่วไป) ก็คือ ทีโอดอร์ รูสเวลต์ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 26 ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 32 ปี 1912 เขาลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่ในครั้งนั้นรูสเวลต์เป็นแคนดิเดตจากพรรคก้าวหน้า หรือพรรคบลูมูส (Progressive Party) ทว่าก่อนหน้านี้ในปี 1901 รูสต์เวลต์เป็นตัวแทนจากรีพับลิกัน
ในปีนั้นเป็นการแข่งขันระหว่าง 3 พรรคการเมือง ได้แก่
- วูดโรว์ วิลสัน แคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต
- วิลเลียม โฮเวิร์ด แทฟต์ แคนดิเดตจากรีพับลิกัน (อดีตประธานาธิบดีคนที่ 27)
- รูสเวลต์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวหน้า (พรรคการเมืองที่ 3)
ในท้ายที่สุด รูสเวลต์ ก็ไม่ชนะการเลือกตั้งในปี 1912 ได้คะแนนโหวตคิดเป็น 27.4% และเป็น วิลสัน ที่ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 28 ด้วยคะแนนโหวตคิดเป็น 41.8%
นั่นเป็นการตอกย้ำว่าเหตุใดพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคในสหรัฐฯ จึงมีแรงจูงใจที่จะคงระบบ 2 พรรคเอาไว้ ยิ่งในปัจจุบันก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทั้ง ‘เดโมแครต’ และ ‘รีพับลิกัน’ มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองสหรัฐฯ ทั้งยังผลัดกันครองอำนาจมานานหลายทศวรรษ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เลือกตั้งแต่ละทีแทบจะไม่มีแคนดิเดตจากพรรคการเมืองที่ 3 โผล่มาเลย