หรืออาเซียนเป็นลูกชังถึงได้ถูกทรัมป์เก็บภาษีแพงสุด

5 เม.ย. 2568 - 03:00

  •   ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือกลุ่มที่ถูกประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากรหนักที่สุด

  • ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ระดับภาษีศุลกากรที่แตกต่างกันของสหรัฐฯ ที่บังคับใช้ในกลุ่มประเทศอาเซียน อาจทำให้การลงทุนจากต่างประเทศในอินโดจีนซึ่งรวมถึงเวียดนาม ลาว กัมพูชา เป็นต้น ไหลออกไปหาประเทศที่อัตราภาษีต่ำกว่าอย่างฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

why-are-trump-tariffs-southeast-asia-highest-SPACEBAR-Hero.jpg

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือกลุ่มที่ถูกประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากรหนักที่สุด โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับปักกิ่งและการเกินดุลการค้าที่แข็งแกร่งกับวอชิงตันเป็นปัจจัยสำคัญ 

ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนอีกว่า ระดับภาษีศุลกากรที่แตกต่างกันของสหรัฐฯ ที่บังคับใช้ในกลุ่มประเทศอาเซียน อาจทำให้การลงทุนจากต่างประเทศในอินโดจีนซึ่งรวมถึงเวียดนาม ลาว กัมพูชา เป็นต้น ไหลออกไปหาประเทศที่อัตราภาษีต่ำกว่าอย่างฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 

กัมพูชาและลาวเป็นประเทศในเอเชียที่เจอภาษีหนักสุดคือ 49% และ 48% ตามลำดับ ส่วนเวียดนามถูกเก็บ 46% เมียนมา 44% และไทยซึ่งเป็นพันธมิตรสนธิสัญญาด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ ถูกเก็บ 36%  

ประเทศอินโดจีนทั้ง 5 ประเทศ และจีนเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคแม่โขง 

ประเทศอาเซียนอื่นๆ ถูกเรียกเก็บภาษีต่ำกว่า อาทิ อินโดนีเซีย 32% มาเลเซียและบรูไน 24% และฟิลิปปินส์ 17% ส่วนสิงคโปร์ถูกเรียกเก็บภาษีพื้นฐาน 10%  

หลังทรัมป์ประกาศอัตราภาษีใหม่ ประเทศต่างๆ ในอาเซียนต่างพากันออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ โดยบางประเทศมีปฏิกิริยาที่สุภาพกว่าปกติ ในขณะที่บางประเทศ เช่น เวียดนาม กล่าวว่าพวกเขาจะจัดตั้ง "ทีมตอบสนองรวดเร็ว"

why-are-trump-tariffs-southeast-asia-highest-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ปธน.ทรัมป์ ถือชาร์ตรายชื่อประเทศที่จะถูกเก็บภาษีศุลกากรในทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 2 เม.ย. Photo by Brendan SMIALOWSKI / AFP

ปัจจัยด้านจีน 

หูหย่งไท่ นักเศรษฐศาสตร์ชาวมาเลเซีย-อเมริกัน เผยกับสำนักข่าว Channel News Asia (CNA) ว่า ประเทศอินโดจีนถูกหมายหัวเพราะถูกมองว่ามีความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นกับจีน และสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าจีนเป็น “ศัตรูหมายเลขหนึ่ง” ในสงครามการค้าโลก ต้องการสร้างความเจ็บปวดให้ประเทศเหล่านี้

“ทรัมป์กำลังทำสิ่งที่เขาเห็นว่าได้เปรียบกว่าในความสัมพันธ์ด้านการค้าและเขาให้ความสนใจโดยเฉพาะกับประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน”

หูหย่งไท่ นักเศรษฐศาสตร์ชาวมาเลเซีย-อเมริกัน

“การหมายหัวประเทศเหล่านี้ (อินโดจีน) ถือเป็นการขยายการเผชิญหน้ากับจีน ซึ่งแย่หน่อยที่มันอาจทำผลักประเทศเหล่านี้เข้าสู่อ้อมแขนจีน บางประเทศในอาเซียนเคยระบุก่อนหน้านี้ว่าพวกเขาต้องการรักษาความเป็นกลาง แต่ภาษีศุลกากรเหล่านี้อาจทำให้พวกเขา (สนับสนุนปักกิ่งในสงครามการค้าโลก)” หูหย่งไท่กล่าว 

หูซึ่งเป็นรองประธานเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของขององค์การสหประชาชาติประจำเอเชียกล่าวเพิ่มเติมว่า อาเซียนบางประเทศ โดยฉพาะเวียดนามและกัมพูชา ถูกหมายหัวเพราะทั้งสองประเทศนี้มีการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากยุทธศาสตร์ China Plus One ของจีน 

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบริษัทต่างๆ ที่มีการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกไปก่อนหน้านี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจากจีน โดยย้ายการดำเนินงานไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคด้วยการปกปิดแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ 

ตัวอย่างเช่น เวียดนาม เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากถึง 123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 ตามหลังเพียงจีน สหภาพยุโรป  และเม็กซิโก 

หูกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรดาบริษัท “ที่ก่อนหน้านี้ตั้งอยู่ในจีน” ย้ายไปเวียดนามก่อนจะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงภาษีที่สหรัฐฯ เก็บจากจีนก่อนหน้านี้ 

การประกาศอัตราภาษีรอบล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 3 ตามเวลาสหรัฐฯ ทรัมป์เก็บภาษีจากจีน 34% เพิ่มเติมจากที่เก็บก่อนหน้านี้ 20% โดยทรัมป์อ้างว่า จีนยังยับยั้งการส่งออกเฟนทานิลมายังสหรัฐฯ ไม่มากพอ 

อย่างไรก็ดี หากมองในภาพรวม นักวิเคราะห์ที่ CNA พูดคุยด้วยระบุว่า พวกเขาไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯ คำนวณภาษีตอบโต้สำหรับแต่ละประเทศอย่างไร ซึ่งตัวเลขที่ทรัมป์ประกาศออกมาดูเหมือนว่าจะคำนวณจากภาษีศุลกากรและมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นที่รัฐบาลทรัมป์อ้างว่าประเทศเหล่านี้เก็บจากสหรัฐฯ แล้วหาร 2   

อย่างไรก็ดี จายันต์ เมนอน นักเศรษฐศาสตร์จาก ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์เผยว่า สหรัฐฯ น่าจะคำนวณจากมูลค่าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า (หน่วยเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ)  หารมูลค่า (หน่วยเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่ประเทศนั้นๆ ส่งออกไปสหรัฐฯ แล้วหาร 2 โดยมีอัตราขั้นต่ำที่ 10%  

เมนอนกล่าวเพิ่มว่า นี่อาจบ่งชี้ว่าเหตุใดประเทศในอินโดนจีน ซึ่งบางประเทศเป็นประเทศยากจนที่สุดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จึงได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จำนวนมาก

“ประเด็นสำคัญที่สุดคือ มันเป็นการตัดสินใจโดยพลการและไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการแลกเปลี่ยนทางการค้า และยังทำให้การใช้นโยบายการค้าเป็นอาวุธขยับขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งอาจบีบบังคับให้ประเทศคู่ค้าตัดสินใจลดความเสี่ยง (de- risking) จากสหรัฐฯ ไม่ใช่จากจีน”

จายันต์ เมนอน นักเศรษฐศาสตร์จาก ISEAS-Yusof Ishak Institute

นักลงทุนต่างประเทศอาจเลี่ยงประเทศที่ถูกเก็บภาษีมากสุด 

ผู้เชี่ยวชาญที่ CNA พูดคุยด้วยแนะนำว่า ผลจากภาษีการค้าที่ไม่เท่าเทียมกันของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้การลงทุนเปลี่ยนจากประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภาษีสูง เช่น ประเทศในอินโดจีน ไปสู่ประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภาษีต่ำในภูมิภาคอาเซียน

โจแอนน์ หลิน นักวิชาการอาวุโสและผู้ปนะสานงานของศูนย์อาเซียนศึกษาของ ISEAS-Yusof Ishak Institute เผยกับ CNA ว่า กัมพูชาและเวียดนามซึ่งถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีสูงกว่า 45% อาจได้เห็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) น้อยลง โดยเฉพาะในภาคส่วนการผลิตที่เน้นการส่งออก 

“การบูรณาการกับห่วงซาอุปทานที่มีจีนเป็นศูนย์กลางของประเทศเหล่านี้อาจสะดุดเช่นกัน” หลินเผย “ด้วยเหตุนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศบางส่วนในกัมพูชาและเวียดนามอาจเปลี่ยนไปที่ประเทศในอาเซียนที่ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีน้อยกว่า อาทิ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซีย” 

อย่างไรก็ดี เมนอนระบุว่า การเปลี่ยนช่องทางการลงทุนมายังสิงคโปร์และมาเลเซียอาจมีเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ไม่ได้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศประเภทเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน 

“อาจมีการย้ายไปฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียบ้าง ในภาคส่วนที่ต้องใช้แรงงานมากกว่า แต่ความแตกต่างของอัตราภาษียังไม่มากพอให้เกิดการย้ายครั้งใหญ่” เมนอนเผย 

หูมองว่า การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนัก รวมไปถึงประเทศในอินโดจีน อาจหยุดชะงักลง

ขณะที่ หูอี้ซัน นักภูมิศาสตร์การเมืองมองว่า แม้ว่าประเทศในอินโดจีนส่วนใหญ่จะไม่อยู่ในแผนที่ของนักลงทุนตะวันตก แต่เวียดนามอยู่และอาจได้รับผลกระทบหนักที่สุดในแง่ของผลกระทบด้านการลงทุนหลังทรัมป์ประกาศอัตราภาษี 

หูอี้ซันเผยอีกว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าบริษัทในเวียดนามอาจย้ายฐานการดำเนินงานไปฟิลิปปินส์ ซึ่งดึงดูดนักลงทุนอเมริกันมากกว่า เนื่องจากฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ  

“เวียดนามซึ่งกำลังเนื้อหอมในแง่ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของชาติตะวันตกในอาเซียน อาจได้รับผลกระทบหนักสุด และเวียดนามอาจต้องลดภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าสหรัฐฯ เพื่อให้อัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากเวียดนามลดลง” หูอี้ซันเผย 

อาเซียนควรตอบสนองอย่างไร

อินโดนีเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนกำลังวางแผนเจรจากับสหรัฐฯ หลังทรัมป์เรียกเก็บภาษี 32% จากสินค้าที่ส่งออกจากอินโดนีเซีย แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียระบุว่า “เราจะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปวอชิงตันเพื่อเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรง” และยังระบุอีกว่า ตั้งแต่ต้นปีอินโดนีเซียเตรียมทั้งยุทธศาสตร์และขั้นตอนต่างๆ เพื่อเตรียมรับมาตรการภาษีของทรัมป์ “รัฐบาลอินโดนีเซียจะดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย” 

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังติดต่อสื่อสารกับมาเลเซียซึ่งเป็นประธานอาเวียนในปีนี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ “ขั้นตอนร่วมกัน” ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศในกลุ่มภูมิภาคนี้ล้วนตกเป็นเป้าหมายภาษีของทรัมป์ 

ขณะที่มาเลเซียซึ่งถูกทรัมป์เรียกเก็บภาษี 24% ดูเหมือนจะยังนิ่งๆ และ “จะไม่เก็บภาษีตอบโต้” แต่จะ “แสวงหาแนวทางแก้ไขที่จะรักษาจิตวิญญาณของการค้าเสรีและเป็นธรรมไว้” โดยกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซียระบุว่า “เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีศุลกากร มาเลเซียจะขยายตลาดการส่งออกด้วยการให้ความสำคัญกับภูมิภาคที่เติบโตสูง และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ รวมทั้งความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)” 

ส่วนไทย นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เผยว่า ไทยมี “แผนที่แข็งแกร่ง” เพื่อรับมืออัตราภาษีใหม่ 36% และจะเจรจากับสหรัฐฯ และจะไม่ปล่อยให้สถานการณ์ไปถึงจุดที่ “จีดีพีพลาดเป้า”  

นายกรัฐมนตรี ฝั่ม มิญ จิ๊ญ ของเวียดนาม เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีด่วนในเช้าวันพฤหัสบดี (3 เม.ย.) และกระทรวงพาณิชย์จะเสนอรายงานผลกระทบจากภาษีศุลกากรต่อการส่งออกและคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของเวียดนาม 

นักวิเคราะห์เผยกับ CNA ว่า แต่ละประเทศในอาเซียนอาจไม่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะตอบโต้ภาษีสหรัฐฯ แต่หากรวมกลุ่มกันก็สามารถพันธมิตรทางการค้าอื่นได้ทั่วโลก เพื่อต่อต้านมาตรการคุ้มครองทางการค้าของสหรัฐฯ

“ประเทศอาเซียนควรอดทนอดกลั้นต่อความเย้ายวนของการตอบโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากภาษีศุลกากรส่งผลกระทบต่อประเทศที่เรียกเก็บภาษีมากกว่าประเทศอื่นๆ นี่คือการตอบสนองที่ถูกต้องจากมุมมองทางเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์อาจแตกต่างกันในแง่การเมือง หากการตอบโต้ถูกมองว่าจำเป็นในทางการเมือง อาเซียนควรร่วมมือกันตอบโต้ เมื่อรวมกันมากๆ ก็ย่อมมีน้ำหนักมากกว่า”

จายันต์ เมนอน นักเศรษฐศาสตร์จาก ISEAS-Yusof Ishak Institute

หูหย่งไท่เผยว่า อาเซียนควรสร้างความร่วมมือทางการค้ากับกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป หรือแม้แต่ประเทศแถบอ่าวอาหรับ โดยยกตัวอย่างว่า มาเลเซียซึ่งส่งชิปเซมิคอนดักเตอร์ไปสหรัฐฯ ควรส่งชิปเหล่านั้นไปยุโรปและจีนด้วย และยังแนะนำว่า ให้กลุ่มอาเซียนทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปเพื่อหาโอกาสในการขยายตลาด

“คนอเมริกันกำลังนำลูกฟุตบอลกลับบ้าน และพวกเขาก็จะไม่เล่นฟุตบอลกับคุณ ดังนั้น (อาเซียน) ต้องมีเกมของตัวเอง”

หูหย่งไท่ นักเศรษฐศาสตร์ชาวมาเลเซีย-อเมริกัน

หลินกล่าวเพิ่มว่า การกำหนดภาษีศุลกากรอาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอาเซียนที่จะ “เสริมสร้างความสามัคคีในภูมิภาค” ผ่านการแถลงการณ์ร่วมหรือการดำเนินการที่ประสานงานกันเพื่อเสริมสร้างการค้าและการลงทุนภายในประเทศสมาชิก ขณะเดียวกันหลินยอมรับว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวนมากอาจไม่เต็มใจที่จะเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวนมากในสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวต้องใช้เงินทุนจำนวนมากและต้องใช้เวลา 

“เนื่องจากรัฐบาลทรัมป์สามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงสี่ปี หลายคนอาจต้องการรอจนกว่าจะผ่านไปมากกว่าที่จะเริ่มปรับโครงสร้างครั้งใหญ่” หลินกล่าว 

Photo by Bullit Marquez / POOL / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์