‘ทำไมมนุษย์เราถึงฆ่าคน?’ วิทยาศาสตร์-จิตวิทยามีคำตอบ

22 ม.ค. 2567 - 09:44

  • วิทยาศาสตร์อธิบายว่าส่วนหนึ่งของความรุนแรงมาจาก ‘บรรพบุรุษ’ ที่รบราฆ่าฟันเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์สืบต่อกันมาเรื่อยๆ

  • แต่จิตวิทยาบอกว่ามันอยู่ที่สภาพแวดล้อมและสังคมที่หล่อหลอมพฤติกรรมมนุษย์ต่างหาก

why-do-people-kill-other-people-SPACEBAR-Hero.jpg

จากกรณี ‘ฆาตกรรมป้าบัวผัน’ ที่เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี 5 คนเป็นผู้กระทำผิด ท่ามกลางการถกเถียงกันของสังคมเกี่ยวกับบทลงโทษว่าควรให้รับโทษแบบผู้ใหญ่และกฎหมายคุ้มครองเยาวชนว่าควรยกเลิกหรือไม่ ไหนจะเคสล่าสุดอย่าง ‘ฆ่าหั่นศพ’ ย่านบางขุนเทียนอีก หรือแม้แต่เหตุกราดยิงที่ผ่านๆ มา  

คดีสะเทือนขวัญเหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ‘คนคนหนึ่งจะสามารถบันดาลโทสะฆ่าคนตายได้ง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ?’ ‘ทำไมบางคนถึงฆ่าคนได้ง่ายๆ ราวกับเป็นผักปลา?’  

และนี่คือคำอธิบาย… 

ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต นักการเมือง และนักข่าวต่างก็เสนอเหตุผลว่า ‘ทำไมคนคนหนึ่งจึงมีแรงจูงใจที่จะฆาตกรรม?’ แรงจูงใจบางส่วนที่ได้รับการรายงานโดยทั่วไป (แต่ไม่ใช่สาเหตุ) ได้แก่  

  • อนาธิปไตย  
  • การแก้แค้นส่วนตัว  
  • การตอบโต้การถูกละเมิด 
  • ความเสื่อมทรามทางศีลธรรม 
  • การถูกครอบงำโดยจิตสำนึกอันเลวร้าย 
  • การขาดมโนธรรม 

…แต่วิทยาศาสตร์อธิบายว่า… 

-สืบทอดจากบรรพบุรุษ-

why-do-people-kill-other-people-SPACEBAR-Photo01.jpg

วิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่เรียกว่า ‘ชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ’ ซึ่งบอกเล่าถึงพฤติกรรมต่างๆ มากมาย และอธิบายเหตุผลที่ ‘เราฆ่าก็เพราะว่าบรรพบุรุษของเราถูกฆ่า บรรพบุรุษของเรากำจัดคู่แข่งและรับประกันความอยู่รอดของลูกหลานของพวกเขา’ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ‘เราใช้ความรุนแรงเพราะบรรพบุรุษของมนุษย์ถูกสังหารโดยผู้ที่ใช้ความรุนแรง เราสืบทอดมันมาจากรุ่นก่อนๆ’ 

-ผลจากสภาพแวดล้อม และสังคม- 

ถึงกระนั้นมุมมองนี้ก็ไม่ได้เป็นสากลแต่อย่างใด นักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายสาขาได้วิพากษ์วิจารณ์ชีววิทยาวิวัฒนาการ โดยกล่าวว่า “ชีววิทยานี้ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เรียบง่ายเกินไป และทำหน้าที่เป็นข้อแก้ตัวทางพันธุกรรมสำหรับพฤติกรรมที่ไม่ดี แม้ว่ามีความเห็นพ้องต้องกันทางวิทยาศาสตร์ว่าสมองของมนุษย์เป็นผลมาจากวิวัฒนาการ” 

ข้อโต้แย้งประการหนึ่งต่อชีววิทยาวิวัฒนาการระบุว่า “จิตใจของเรามีการปรับตัวและพัฒนาได้เร็วกว่าที่ชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการจะอธิบายได้ ความแตกต่างในวัฒนธรรมทั่วโลกชี้ให้เห็นว่าไม่มีธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสากล แต่ละวัฒนธรรมมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง” 

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าคำอธิบายว่า ‘ทำไมเราถึงฆ่าคน’ จะกลายเป็นข้อโต้แย้งระหว่าง ‘ธรรมชาติ’ กับ ‘สังคม’ ซึ่งข้อโต้แย้งที่อ้างสาเหตุมาจากธรรมชาติบอกว่า ‘โดยธรรมชาติแล้วเราเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง และไม่น่าแปลกใจเลยที่บางครั้งเราจะฆ่ากันเอง’ แต่ข้อสนับสนุนที่บอกว่าเป็นเพราะสังคมบอกว่า ‘เราเป็นสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้ และสภาพแวดล้อมของเรา รวมถึงทุกอย่างตั้งแต่โครงสร้างครอบครัวไปจนถึงอิทธิพลทางการเมือง ล้วนกำหนดพฤติกรรมของเรา’  

อาจเป็นเพราะ ‘ความผิดปกติทางจิต’

why-do-people-kill-other-people-SPACEBAR-Photo02.jpg

กลุ่มคนจำพวกที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ไม่เข้าอกเข้าใจผู้อื่น หรือโรคจิต จะมีความรู้สึกทางอารมณ์น้อยมาก ซึ่งนั่นอาจทำให้พวกเขาเลือกที่จะแสวงหาสถานการณ์ที่อันตรายหรือน่าตื่นเต้นเพื่อตอบสนองทางอารมณ์ เมื่อกระทำการลงไปแล้ว พวกเขามีแนวโน้มที่จะไม่รู้สึกละอายหรือรู้สึกผิด แม้ว่าพวกเขาอาจรับรู้ว่าสิ่งนี้ถูกสิ่งนี้ผิด แต่พวกเขาก็อาจไม่ได้สนใจถึงความแตกต่าง 

การรู้ผิดชอบชั่วดีเป็นสิ่งสำคัญในโลกกฎหมายที่จะคัดแยกคนมีสติออกจากคนบ้า ซึ่งตามคำจำกัดความทางกฎหมายระบุว่า คนวิกลจริตคือคนที่ไม่สามารถแยกแยะความเป็นจริงจากจินตนาการ หรือไม่สามารถควบคุมการกระทำของตัวเองได้ เพียงเพราะคนคนหนึ่งแสดงพฤติกรรมต่อต้านสังคมไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นเสียสติ 

ไม่ว่าความผิดปกติทางบุคลิกภาพและต่อต้านสังคมโดยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะที่สืบทอดมาหรือเป็นผลมาจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมนั้นยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นผลจากทั้งสองอย่าง และไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมแล้วจะแสดงพฤติกรรมความรุนแรง แต่มันเป็นผลจากการที่พวกเขาขาดความเห็นอกเห็นใจและเกิดแรงจูงใจในการแสวงหาความตื่นเต้นที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรงได้ ซึ่งฆาตกรต่อเนื่องและฆาตกรสังหารหมู่จำนวนมากตกอยู่ในสภาวะนี้ พวกเขาฆ่าคนเพราะพวกเขาขาดความยับยั้งชั่งใจ 

แล้วการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ล่ะ? ตามสมมติฐานที่ตั้งโดย เออร์วิน สตอว์บ นักจิตวิทยา ระบุว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นผลมาจากการผสมผสานระหว่างสิ่งแวดล้อมและการเผชิญปัญหาทางจิตวิทยา ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผู้คนจะมองหาข้อแก้ตัวหรือแพะรับบาป ซึ่งอาจรวมถึงกลุ่มย่อยของประชากรจำนวนหนึ่งว่าต้องรับผิดชอบต่อความยากลำบากที่ชุมชนกำลังประสบ…การกำจัดประชากรดังกล่าวจึงเป็นวิธีหนึ่งในการรับมือกับความยากลำบาก เป็นวิธีการในการแก้ปัญหา” แต่สตอว์บชี้ให้เห็นว่ากระบวนการนี้ซับซ้อนและต้องใช้เวลา โดยทั่วไปไม่ใช่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเอง 

อาชญากรรมจาก ‘บันดาลโทสะ’

why-do-people-kill-other-people-SPACEBAR-Photo03.jpg

ถ้าคนคนนั้นมีจิตใจปกติล่ะ? แล้วอะไรกันที่เป็นแรงจูงใจให้เราฆ่าคน? เนื่องจากการตัดสินใจของเราขึ้นอยู่กับทั้งอารมณ์และเหตุผล บางครั้งเราจึงเห็นชอบซึ่งกันและกันได้ ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ เราอาจปล่อยให้ตัวเองกระทำการอย่างหุนหันพลันแล่นโดยไม่สนใจเหตุผล หรือที่เรียกว่า ‘อาชญากรรมที่เกิดจากบันดาลโทสะ’ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากฆาตกรและเหยื่อที่มีสายสัมพันธ์หรือรู้จักกัน 

ตามรายงานของสำนักงานสถิติยุติธรรมแห่งสหรัฐฯ พบว่า 30% ของเหยื่อฆาตกรรมหญิงทั้งหมดถูกคู่ครองสังหาร อีก 18.3% ถูกฆ่าโดยอดีตคู่สมรส และมีเพียง 8.7% ของเหยื่อผู้หญิงทั้งหมดที่ถูกฆ่าโดยคนแปลกหน้า 

สาเหตุของอาชญากรรมจากบันดาลโทสะมีหลายประการ และแรงจูงใจที่พบบ่อยได้แก่  

  • ความอิจฉาริษยา  
  • การแก้แค้น  
  • ความกลัว  
  • และความโกรธ  

ความรู้สึกเหล่านี้อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ และการฆ่าอาจเกิดขึ้นเองหรือโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า ฆาตกรอาจถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมหรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา หรืออาจได้รับการยกเว้นโทษหากศาลพบว่าฆาตกรกระทำการป้องกันตัว หรือเป็นเยาวชน (ในบางประเทศได้รับการคุ้มครอง) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ฆาตกรอาจอ้างว่าอาชญากรรมที่เกิดจากบันดาลโทสะนั้นเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดอาการวิกลจริตชั่วคราว ซึ่งเป็นอาการที่ยากต่อการพิสูจน์ในศาลก็เป็นได้ 

และนี่คือหนึ่งในคำอธิบายที่หยิบยกมา แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ทำให้ ‘มนุษย์’ ต่างจาก ‘สัตว์’ ก็คือ ‘สติปัญญาในการไตร่ตรองและการแยกแยะผิดชอบชั่วดี’ หากขาดสิ่งเหล่านี้ไปแล้วจะไปต่างอะไรกับ ‘เดรัจฉาน’ เล่า

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์