ไม่มีที่แห่งใดรอดภาษีศุลกากรสุดโหดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไปได้แม้แต่หมู่เกาะห่างไกลที่มองหาใครก็ไม่เจอ มีแต่ ‘เพนกวินและแมวน้ำ’ เท่านั้นที่อาศัยอยู่ที่นั่น ดินแดนที่ว่านี้ก็คือ ‘เกาะเฮิร์ดและหมู่เกาะแมกดอนัลด์’ เกาะห่างไกลจากออสเตรเลียไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 4,000 กิโลเมตร (2,485 ไมล์) ที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยเรือโดยสารจากเมืองเพิร์ธเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งไม่มีมนุษย์มาเยือนเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว
ทรัมป์จะเก็บภาษีกับเพนกวินหรือไง?
เกาะเฮิร์ดและหมู่เกาะแมกดอนัลด์เป็นเกาะรกร้างปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งที่ไม่มีคนอาศัยอยู่เลย และเป็นที่ตั้งของบิ๊กเบน (Big Ben) ภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดและแห่งเดียวของออสเตรเลียที่ยังคุกรุ่นอยู่ แต่ส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง
เชื่อกันว่าครั้งสุดท้ายที่ผู้คนเดินทางไปยังเกาะเฮิร์ดและหมู่เกาะแมกดอนัลด์คือ ในปี 2016 ที่มีกลุ่มคนชื่นชอบวิทยุสมัครเล่น ซึ่งออกอากาศจากที่นั่นโดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลออสเตรเลีย หมู่เกาะเหล่านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในฐานะตัวอย่างของ ‘ระบบนิเวศหายากซึ่งไม่เคยถูกรบกวนจากพืช สัตว์ หรือผลกระทบจากมนุษย์’
“มีนกเพนกวิน แมวน้ำช้าง และนกทะเลนานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก” ศาสตราจารย์ไมค์ คอฟฟิน จากมหาวิทยาลัยแทสเมเนียผู้ศึกษาภูมิศาสตร์ใต้น้ำของเกาะต่างๆ กล่าว เขาได้มองดูสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็นชายหาดจากระยะไกล แต่ปรากฏว่ามีเพียงทราย กับสิ่งมีชีวิตที่น่าจะเป็นนกเพนกวินประมาณ 100,000 ตัว
“ทุกครั้งที่เรือแล่นไปที่นั่นและได้สังเกตดู ก็จะมีลาวาไหลลงมาตามด้านข้างของภูเขาไฟบิ๊กเบน...ลาวาไหลผ่านน้ำแข็งและส่งเป็นไอน้ำขึ้นมา” ศาสตราจารย์คอฟฟิน กล่าว
“พวกเพนกวินแก่ๆ ที่น่าสงสาร ผมไม่รู้ว่าพวกมันไปทำอะไรให้ทรัมป์ แต่ดูเอาเถอะ ถ้าพูดตามตรง นะ ผมคิดว่านั่นเป็นการบ่งชี้ว่า นี่เป็นกระบวนการที่เร่งรีบ...การกำหนดภาษีศุลกากรดังกล่าวเป็น ‘ความผิดพลาด’ อย่างชัดเจน”
ดอน ฟาร์เรล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของออสเตรเลีย กล่าว
เขตดินแดนของออสเตรเลียจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภาษีในครั้งนี้ เกาะเฮิร์ดและหมู่เกาะแมกดอนัลด์ หมู่เกาะโคโคส (คีลิง) และเกาะคริสต์มาส ต่างก็ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 10% ส่วนเกาะนอร์ฟอล์ก ซึ่งเป็นดินแดนของออสเตรเลียและมีประชากรประมาณ 2,200 คนนั้นถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 29%
“สิ่งนี้แสดงให้เห็น...ว่าไม่มีที่ใดบนโลกที่ปลอดภัยจากเหตุการณ์นี้”
แอนโทนี แอลบานีส นายกฯ ออสเตรเลียกล่าว
ทำไมทรัมป์ต้องเรียกเก็บภาษีบนเกาะเพนกวินแห่งนี้...
ศาสตราจารย์คอฟฟินเคยเดินทางไปยังน่านน้ำรอบเกาะแล้ว 7 ครั้งเพื่อทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และมีความสงสัยเกี่ยวกับการมีอยู่ของสินค้าส่งออกหลักจากเกาะแห่งนี้ไปยังสหรัฐฯ
แต่ก็พบว่า “ไม่มีอะไรอยู่ที่นั่น” ศาสตราจารย์คอฟฟินบอกกับสำนักข่าว BBC เท่าที่เขารู้ มีเพียงบริษัทออสเตรเลีย 2 แห่งเท่านั้นที่จับและส่งออกปลาฟันปาตาโกเนียน (ปลากะพงชิลี) และปลาแมคเคอเรลน้ำแข็ง
เป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเกาะเฮิร์ดและหมู่เกาะแมคโดนัลด์กับสหรัฐฯ
ตามข้อมูลการส่งออกของธนาคารโลกระบุว่า หมู่เกาะเหล่านี้มักจะส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐฯ ในปริมาณเล็กน้อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2022 สหรัฐฯ ได้นำเข้ามูลค่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 47 ล้านบาท) จากดินแดนดังกล่าว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ ‘เครื่องจักรและไฟฟ้า’ ที่ไม่ได้ระบุชื่อ
สำนักข่าว The Guardian ยังรายงานอีกว่าการวิเคราะห์ข้อมูลการนำเข้าและบันทึกการขนส่งของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า “ภาษีที่เรียกเก็บกับเกาะเฮิร์ดและหมู่เกาะแมกดอนัลด์ รวมถึงเกาะนอร์ฟอล์ก ล้วนใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” ทั้งนี้พบว่า การจัดส่งถูกติดฉลากว่ามาจากดินแดนแห่งนี้ซึ่งมันไม่ถูกต้อง และไม่ใช่สถานที่ต้นทางที่แท้จริง
ฮาวเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ อธิบายว่า “การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือหนึ่งไปยังอีกท่าเรือหนึ่งโดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า ‘การถ่ายโอนสินค้า’ ถือเป็นเรื่องปกติในการค้าโลก แต่ ‘Pew Charitable Trusts’ ซึ่งเป็นองค์กรด้านนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า ‘วิธีการนี้อาจทำให้ผู้ไม่หวังดีสามารถปกปิด หรือบิดเบือนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งได้’”
พวกเขาประมาณการว่าปลาทูน่าและปลาชนิดเดียวกันมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐถูกถ่ายโอนอย่างผิดกฎหมายโดยใช้วิธีนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและตอนกลางทุกปี