กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ในวงการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลังผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของญี่ปุ่นอย่างนิสสัน และอันดับ 3 อย่างฮอนด้า เจรจากันเพื่อควบรวมกิจการและเพื่อขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ท่ามกลางการแข่งขันในระดับโลก โดยเฉพาะในตลาด EV ที่มีคู่แข่งจากต่างประเทศครองตลาดอยู่
ญี่ปุ่นเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ในศตวรรษที่ 20 ที่ไม่ว่าไปที่ไหนในโลกก็จะเจอรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หรือนิสสัน แต่ตอนนี้จีนต้องการให้ศตวรรษที่ 21 เป็นตลาดของ EV
ตลาด EV ในประเทศจีนเติบโตรวดเร็วได้อย่างไร?
เมื่อปีที่แล้ว จีนครองสัดส่วน 2 ใน 3 ของยอดขาย EV ทั่วโลก โดยรถ EV มากกว่าครึ่งหนึ่งที่จำหน่ายบนท้องถนนทั่วโลกอยู่ในจีน ทำให้จีนกลายเป็นตลาดและผู้ผลิตรถ EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ได้รับแรงหนุนจากการสนับสนุนของรัฐบาลจีน ตั้งแต่ปี 2009-2023 นอกเหนือจากการสนับสนุนนโยบายที่แข็งแกร่งแล้ว รัฐบาลยังทุ่มเงินประมาณ 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.96 ล้านล้านบาท) ให้กับอุตสาหกรรมนี้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแข่งขันที่มากขึ้นยังผลักดันให้บริษัทจีนต้องสร้างสรรค์และผลิตรถที่มีการออกแบบล้ำสมัย เช่น แบตเตอรี่ EV นอกจากนี้ การยอมรับรถ EV ของผู้บริโภคชาวจีนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง และเมื่อการผลิตเกินความต้องการ ผู้ผลิต EV จึงเริ่มส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
ตามรายงานของ Rho Motion ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยรถยนต์ไฟฟ้า ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2024 มีการขายรถ EV ทั่วโลก 15.2 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนหน้า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จีนขายรถ EV ได้ 9.7 ล้านคัน
เหตุใดญี่ปุ่นจึงผลิตรถยนต์ EV ช้า?
ประการแรก คือ ความชื่นชอบของญี่ปุ่นที่มีต่อรถยนต์ไฮบริดที่ใช้น้ำมันและไฟฟ้า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮบริดเป็นอย่างมาก และยอดขายในญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อไปจนถึงปี 2027
โตโยต้า ซึ่งเป็นผู้นำตลาดและเป็นผู้นำเทรนด์ยังคงล่าช้าในการเปิดตัวรถ EV ทำให้ผู้ผลิตอื่นๆ ทั้งหมดดำเนินรอยตาม
ประการที่สอง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อุดหนุนรถ EV เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสีเขียว แต่ในญี่ปุ่นกลับมีแรงจูงใจน้อยกว่าที่จะใช้รถ EV
การศึกษาล่าสุดโดยกลุ่มสิ่งแวดล้อมกรีนพีซแสดงให้เห็นว่า โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน อยู่ในอันดับต่ำสุดในกลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์ 10 อันดับแรกของโลกในด้านความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอน
ตามรายงานของ ‘Climate Group’ องค์กรไม่แสวงหากำไร ระบุว่า GDP ของญี่ปุ่นเสี่ยงลดลง หากไม่เปลี่ยนมาผลิตรถ EV เนื่องจากการผลิตยานยนต์คิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างคนงานจำนวนมากหากอุตสาหกรรมรถยนต์ตกต่ำ
ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นกำลังพยายามดิ้นรนกลับเข้าสู่ตลาดรถ EV ระดับโลก โดยเดิมพันอนาคตไว้กับแบตเตอรี่โซลิดสเตตที่ชาร์จได้เร็วกว่าและใช้งานได้นานกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของจีน
ในเดือนมีนาคม นิสสันและฮอนด้า ได้ตกลงกันที่จะศึกษาความเป็นไปได้ของการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในการผลิตรถ EV และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ต่อมาในเดือนสิงหาคม นิสสันและฮอนด้า ได้กล่าวอ้างว่าจะเปิดตัวรถ EV ภายในปี 2030 และจะร่วมกันพัฒนาซอฟต์แวร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ แผนดังกล่าวยังรวมถึงมิตซูบิชิ มอเตอร์ ด้วย โดยนิสสันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด 27%
หากการควบรวมกิจการเกิดขึ้น ฮอนด้าจะสามารถเข้าถึงผู้ผลิตที่มีรถ EV และแบตเตอรี่ได้ ในขณะที่นิสสันจะได้รับกำลังทางการเงินจากพันธมิตรที่ใหญ่กว่า และสามารถนำเสนอรุ่นที่ดีกว่าในราคาที่ถูกกว่าและดีกว่า “นี่คือสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์” วิเวก ไวทยะ หุ้นส่วนร่วมของบริษัทที่ปรึกษา Frost & Sullivan กล่าว
แต่นิสสันก็มีปัญหาอื่นด้วยไม่ใช่เหรอ?
นิสสันไม่สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้หลังจากที่ คาร์ลอส กอส์น อดีตซีอีโอ ถูกจับในข้อหาละเมิดความไว้วางใจและใช้ทรัพย์สินของบริษัทโดยมิชอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 นับตั้งแต่นั้นมา นิสสันก็ประสบปัญหาผลิตภัณฑ์ไม่ได้รับความนิยม และแผนการพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าก็หยุดชะงัก
เมื่อเร็วๆ นี้ นิสสันรายงานว่า กำไรในปีนี้จะลดลง 70% จากที่คาดไว้ โดยในไตรมาสที่แล้วบริษัทขาดทุน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2 พันล้านบาท) นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว นิสสันยังประกาศเลิกจ้างพนักงาน 9,000 ตำแหน่ง ปรับลดคาดการณ์ยอดขาย และประกาศว่าจะลดกำลังการผลิตทั่วโลกลง 20%
มาโกโตะ อุชิดะ ซีอีโอนิสสันคนปัจจุบันเตือนว่า “สถานการณ์กำลังเลวร้าย” จนเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งบอกกับ Forbes เมื่อเดือนที่แล้วว่า “หากนิสสันไม่ตัดสินใจทำอะไรในนาทีสุดท้าย บริษัทก็อาจต้องล้มละลายภายใน 12-14 เดือน” นำไปสู่การเจรจากับฮอนด้า
มูลค่าตลาดของฮอนด้าอยู่ที่ 5.95 ล้านล้านเยน (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) ในขณะที่มูลค่าตลาดของนิสสันอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านเยน (ราว 2.5 แสนล้านบาท)
แล้วความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าคืออะไร?
ผู้สังเกตการณ์ตลาดได้เตือนว่า วัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและแนวโน้มของการสูญเสียตำแหน่งงานอาจเป็นอุปสรรคต่อแผนการควบรวมกิจการใดๆ
ไวทยะยอมรับว่า _“การแสวงหา ‘ประสิทธิภาพ’ อาจสัมพันธ์กับการสูญเสียตำแหน่งงาน...หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์แล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่บริษัทจะเลิกผลิตแบรนด์หนึ่งและรวมเข้ากับอีกแบรนด์หนึ่ง ทั้งสองแบรนด์อาจยังคงอยู่ในตลาด..._”
เมื่อถูกสำนักข่าว CNA ถามว่า ‘การควบรวมกิจการที่อาจเกิดขึ้นนั้นจะได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐฯ หรือไม่’ ไวทยะตอบว่า “ไม่น่าจะเกิดขึ้นที่ภาษีศุลกากรจะกระทบต่อฐานการผลิตยานยนต์ที่มีอยู่แล้ว ฐานการผลิตใดๆ เช่น เม็กซิโก ไทย แคนาดาซึ่งมีการผลิตจำนวนมากอยู่แล้ว และหากมีการผลิตยานยนต์ที่นั่นและนำเข้ามาในสหรัฐฯ ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ”
“อุปสรรคด้านภาษีศุลกากรส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งพวกเขามองว่าอาจมีการอุดหนุนเกิดขึ้นเบื้องหลัง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคุณจึงเห็นผู้ผลิตรถยนต์จีนส่วนใหญ่เข้ามาที่ประเทศไทย เนื่องจากเป็นฐานการผลิตที่มีอยู่แล้ว และไม่น่าจะถูกเก็บภาษี” ไวทยะ ตอบ
Photo by SCOTT OLSON / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP