การประท้วงรุนแรงในบังกลาเทศที่ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ โดยมีชนวนเหตุจากการต่อต้านการจำกัดโควตาตำแหน่งงานภาครัฐ และลุกลามเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ล่าสุด ชีคฮาสินา นายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศลาออก เดินทางไปอินเดียก่อนจะขอลี้ภัยไปอังกฤษต่อ ปิดฉากการปกครองของเธอที่ดำเนินมานาน 15 ปี มาดูกันว่า อนาคตของผู้นำหญิงแกร่งคนนี้จะเป็นอย่างไรหลังหลุดจากอำนาจแล้ว
นายกรัฐมนตรีฮาสินา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศมาตั้งแต่ปี 2009 ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ (5 ส.ค.)และเดินทางออกนอกประเทศเพื่อความปลอดภัยไปประเทศอินเดีย ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า เธอเตรียมลี้ภัยไปพำนักในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งการก้าวลงจากตำแหน่งของเธอ ถือเป็นชัยชนะของชาวบังกลาเทศทั้งประเทศทั้งที่ออกมาชุมนุมประท้วงและไม่ได้ออกมาประท้วง
การชุมนุมประท้วงในบังกลาเทศมีมานานแล้วและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดผู้ประท้วงบางส่วนบุกเข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงธากา พร้อมทั้งหยิบฉวยทรัพย์สินต่างๆ ภายในทำเนียบไปเป็นจำนวนมาก และวางเพลิงเพื่อทำลายอาคารหลายแห่ง รวมถึงรูปปั้นของมูจิบูร์ เราะห์มาน ประธานาธิบดีคนแรก ที่เป็นบิดาของฮาสินา ก็ถูกทุบทำลาย
ซาจีบ วาเซด จอย บุตรชายของฮาสินาที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของอดีตนายกฯบังกลาเทศจนถึงวันจันทร์ (5 ส.ค.) ให้สัมภาษณ์สื่อบังกลาเทศธากา ทริบูน โดยบอกว่า มารดาของเขาจะไม่กลับมาในเส้นทางการเมืองอีก และรู้สึกผิดหวังอย่างมากที่ประชาชนลุกฮือเพื่อต่อต้านการบริหารประเทศของเธอ รวมทั้งเรียกร้องให้เธอลาออก ทั้งๆ ที่เธอพยายามนำสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ชาวบังกลาเทศ
ด้านประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน ของบังกลาเทศ สั่งปล่อยตัวอดีตนายกรัฐมนตรีคาเลดา เซีย จากเรือนจำ และบรรดานักศึกษาที่ถูกคุมขังระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อเดือนที่แล้ว จากนั้นจึงประชุมกับผู้นำกองทัพและตัวแทนภาคการเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในประเทศ ตามหลักประชาธิปไตยที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นแนวทางที่สหรัฐและชาติตะวันตกสนับสนุน
การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือว่าใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงนองเลือดเมื่อฮาสินาชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกันเมื่อเดือนม.ค. ในการเลือกตั้งที่ฝ่ายค้านหลักบอยคอตไม่เข้าร่วมด้วย และนับจนถึงเดือนก.ค.นี้ มีชาวบังกลาเทศเสียชีวิตจากการประท้วงแล้วกว่า 300 ราย บาดเจ็บหลายพันคน และถูกจับกุมไปประมาณ 10,000 คน จากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น
แต่ก่อนที่อดีตนายกฯบังกลาเทศจะลาออก NDTV สื่ออินเดียรายงานว่า เธอได้พบกับอจิต โดวาล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย ที่ฐานทัพอากาศฮินดอนในเมืองคาซิยาบาด ห่างจากกรุงนิวเดลีประมาณ 30 กิโลเมตร
เตรียมตั้งรัฐบาลชั่วคราว
พลเอกเวคเกอร์-อุซ-ซามาน ผู้บัญชาการกองทัพบังกลาเทศ ประกาศข่าวการลาออกของฮาสินา ทางโทรทัศน์ และระบุว่าจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และให้สัญญาว่าจะคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนกว่า 300 ราย ที่เสียชีวิตระหว่างการประท้วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายพลซามานยังบอกด้วยว่า ได้หารือกับผู้นำพรรคการเมืองใหญ่กลุ่มต่างๆ ยกเว้นพรรคสันนิบาตอาวามี (Awami League) ของฮาสินา และจะเข้าพบประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน เพื่อหารือแผนการในอนาคตในเร็วๆ นี้
“ประเทศนี้กำลังก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติ ผมให้สัญญาว่า เราจะคืนความเป็นธรรมให้แก่ทุกการฆาตกรรมและความอยุติธรรม ขอให้พวกคุณมีศรัทธาต่อกองทัพของประเทศ” พลเอกซามาน วัย 58 ปี ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา กล่าว
นศ.แห่ฉลองชัยหลายหมื่น
เว็บไซต์ข่าวอัลจาซีราห์รายงานว่า ผู้ประท้วงที่เป็นนักศึกษาหลายหมื่นคนในกรุงธากาต่างพากันเฉลิมฉลองการลาออกของฮาสินา โดยหนึ่งในผู้ประท้วงที่เป็นนักศึกษาชายบังกลาเทศ บอกว่า เขารู้สึกภาคภูมิใจมากที่ทำงานอย่างหนักในการเคลื่อนไหวจนได้ชัยชนะในการถอดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง
บังกลาเทศมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
นักศึกษามหาวิทยาลัยหลายหมื่นคนออกมาประท้วงระบบโควตาสำหรับตำแหน่งงานภาครัฐนานแล้ว โดย 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานในหน่วยงานภาครัฐ ถูกสงวนไว้สำหรับญาติของทหารผ่านศึกจากสงครามประกาศอิสรภาพของประเทศจากปากีสถานในปี 1971 ซึ่งนักศึกษาชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่โต้แย้งว่าระบบนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ และขอให้มีการรับสมัครงานตามความสามารถแต่รัฐบาลยังคงใช้ระบบนี้
แม้ว่าบังกลาเทศจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก แต่นักวิจารณ์ก็มองว่าการเติบโตที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการจ้างงานสำหรับบัณฑิตที่เรียนจบมหาวิทยาลัยและ
มีการคาดการณ์ว่าการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นการประท้วงของพลังหนุ่มสาวบังกลาเทศประมาณ 18 ล้านคน ที่กำลังหางานทำ และบัณฑิตมหาวิทยาลัยที่กำลังว่างงานในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาน้อยกว่า
แม้ว่าบังกลาเทศจะเป็นศูนย์กลางการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยอุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้าสู่ตลาดโลกมีมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอุตสาหกรรมนี้จ้างงานมากกว่า 4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่งานในโรงงานไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ หรือนักศึกษาจบใหม่ได้
เวิลด์แบงก์ประเมินผลกระทบ
เวิลด์แบงก์ หรือธนาคารโลก ระบุว่า กำลังประเมินผลกระทบของเหตุวุ่นวายในบังกลาเทศว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงการสินเชื่อที่ธนาคารให้กับบังกลาเทศ หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศลาออกจากตำแหน่ง และหลบหนีไปประเทศอินเดีย
โฆษกธนาคารโลก แสดงความเสียใจต่อความรุนแรงและการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาในบังกลาเทศ และหวังว่า การแก้ปัญหาจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วและโดยสันติวิธี
“เรากำลังประเมินผลกระทบของสถานการณ์ทีเกิดขึ้นต่อโครงการต่างๆ ของธนาคารโลก และยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความปรารถนาในการพัฒนาของประชาชนชาวบังกลาเทศ” โฆษกธนาคารโลก ระบุ
เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการของธนาคารโลกได้อนุมัติโครงการ 2 โครงการ มูลค่ารวม 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับบังกลาเทศ เพื่อช่วยเสริมสร้างนโยบายภาคการเงินและการคลัง รวมทั้งปรับปรงุโครงสร้างพื้นฐานในเมือง เพื่อให้มั่นใจว่าบังกลาเทศจะเติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
Photo by K M ASAD / AFP