ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยมีอยู่ไม่ขาด ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาผ่านนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 11 คน และในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นอีก เมื่อศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยถอดถอน นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จากคดีแต่งตั้งรัฐมนตรีโดยมิชอบ
แต่แม้จะอยู่ท่ามกลางความไม่มีเสถียรภาพเช่นนี้ กลับมีอีกแง่มุมหนึ่งที่เบ่งบานนั่นคือ ระบบสาธารณสุข
ระบบสาธารณสุขของไทยเป็นหนึ่งในระบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก จากข้อมูลล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ คนไทยโดยเฉลี่ยอายุยืนถึง 80 ปี ซึ่งสูงกว่าประเทศบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน (ตัวเลขของอาเซียนอยู่ที่ 73 ปี) และอายุยืนกว่าคนอเมริกันและยุโรปโดยเฉลี่ย (ตัวเลขของสหัฐฯ และยุโรปอยู่ที่ราว 79 ปี)
ปีที่แล้ว 99.5% ของประชากรไทยซึ่งมีทั้งหมด 72 ล้านคนมีประกันสุขภาพ ที่น่าสนใจคือ ไทยประสบความสำเร็จทั้งที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ในปี 2023 รายได้ต่อหัวของคนไทยอยู่ที่ราว 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ (254,870 บาท) น้อยกว่าคนอเมริกันมากกว่า 11 เท่า แม้ในช่วงท่ามกลางการระบาดของโควิดในปี 2021 ไทยกลับมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพียง 6% ของจีดีพี ขณะที่ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 17% และสหภาพยุโรปอยู่ที่ 11%
แล้วอะไรที่ทำให้ไทยทำได้ดีกว่า? ท่ามกลางความกังวลว่าพื้นที่ห่างไกลความเจริญของประเทศจะตกอยู่ใต้แนวคิดคอมมิวนิสต์ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในภูมิภาคในช่วงทศวรรษ 1970 ผู้วางนโยบายของไทยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท ซึ่งระบบสาธารณสุขกลายเป็นความสำคัญอันดับแรก ดังนั้นจึงทุ่มงบประมาณไปกับโครงสร้างพื้นฐาน ภายในปี 1990 ทั้ง 928 ตำบลต่างมีโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง
การลงทุนในมนุษย์ก็มีส่วนช่วย ปี 1972 รัฐบาลเปิดตัวโครงการที่ให้นักศึกษาแพทย์ที่จบการศึกษาแล้วไปทำงานในหมู่บ้านต่างๆ ใน 3 ปีแรก ซึ่ง เอดูอาร์โด แบนซัน จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เผยว่า โครงการนี้นำมาสู่ “ยุคทอง” ของแพทย์
รัฐบาลในสมัยต่อๆ มาทำให้ระบบสาธารณสุขป็นสิ่งที่เอื้อมถึงมากขึ้น ความริเริ่มครั้งใหญ่ครั้งแรกคือ โครงการประกันสุขภาพที่เน้นไปที่คนยากจน ตามด้วยโครงการที่รัฐสนับสนุนสำหรับคนที่ทำงานนอกระบบและเอกชน ความคืบหน้าครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2002 เมื่อรัฐบาลเข็นโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าออกมาให้คนยากจนได้รักษาฟรี และโครงการ 30 บาท การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ระหว่างปี 2000-2002 การเสียชีวิตของทารกลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ปรากฏว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น จนทำให้ชื่อเสียงของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นขจรขจายไปอีก นับจากนั้นก็แทบไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเปลี่ยนแปลงโครงการนี้ ได้แต่ขยายการคุ้มครองแทน ปัจจุบันนี้โครงการนี้ครอบคลุมการรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่เอชไอวีไปจนถึงโรคไต
ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย จากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เผยว่า ลักษณะที่สำคัญไม่แพ้กันของโครงการนี้คือ การมุ้งเน้นไปที่เวชศาสตร์ป้องกัน
สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งคือ โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพียงเอื้อมถึงสำหรับประชาชนเท่านั้น แต่ยังเอื้อมถึงสำหรับรัฐบาลด้วย โครงการนี้ใช้เงินจากภาษีประชาชนแต่มีการควบคุมการใช้จ่าย แต่ละปีโรงพยาบาลประจำตำบลจะได้รับงบประมาณคงที่ต่อผู้ป่วย 1 คนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ว่าผู้ป่วยคนนั้นจะรักษาอะไร
โมเดล “ค่าธรรมเนียมต่อคน” นี้ทำให้เกิดประสิทธิภาพและงบประมาณที่คาดการณ์ได้ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยค่อนข้างคงที่ที่ราว 3-4% ของจีดีพีจนกระทั่งโควิดระบาด แม้ว่าโครงการจะขยายก็ตาม
หลายประเทศต่างต้องการเดินตามรอยประเทศไทย ก่อนหน้านี้ซาอุดีอาระเบียลงนามกับรัฐบาลไทยเพื่อความร่วมมือด้านสาธารณสุข นอกจากนี้คณะผู้แทนไทยยังเดินทางไปทั่วเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายรออยู่ คนไทยมากกว่า 1 ใน 5 อายุเกิน 60 ปี แต่ภายในทศวรรษหน้าสัดส่วนนี้จะกลายเป็น 1 ใน 3 ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระในกับระบบสาธารณสุขและการเงินของรัฐบาล แพทย์หลายคนก็บ่นว่าต้องทำงานหนัก โดยขณะนี้มีความพยายามเพิ่มนักศึกษาแพทย์ และยังมีนโยบายเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุออกมาอีก ดังนั้นระบบสาธารณสุขของไทยจึงอาจเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ได้
AFP / Mladen ANTONOV