เมื่อพูดถึง ‘ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก’ เราจะนึกถึงประเทศประเทศไหน? ประเทศนั้นจำเป็นต้องเป็นประเทศใหญ่ๆ เสมอไปหรือเปล่า? ค่าครองชีพต้องสูงหรือเปล่า? หรือต้องดูที่คุณภาพชีวิตประชากร? ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในระดับสูง? รวมไปถึงอัตราการว่างงานต่ำ?
หลายคนมักมองว่าประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่อย่างสหรัฐฯ จีน รัสเซีย หรือประเทศผลิตน้ำมันอย่างกาตาร์สหพันธ์รัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น แต่เปล่าเลยเพราะประเทศที่ได้ตำแหน่ง ‘ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกแห่งปี 2023’ นั้นกลับเป็นดินแดนเล็กๆ ในยุโรปที่มีพื้นที่เพียง 2,586.4 ตารางกิโลเมตร และไม่มีแม้แต่ทางออกสู่ทะเล มีประชากรเพียง 650,000 คน โดยพบว่ามี GDP ต่อหัวสูงมากในปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 130,000 ดอลลาร์สหรัฐ

และประเทศนั้นก็คือ ‘ลักเซมเบิร์ก’ นั่นเอง แล้วทำไมดินแดนแห่งนี้ถึงได้ชื่อว่า ‘รวยมาก’ มันมีปัจจัยสำคัญอะไรที่ผลักดันให้ลักเซมเบิร์กกลายเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกซึ่งมีฐานเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว
ฐานเศรษฐกิจเติบโตขึ้นจากอุตสาหกรรมเหล็ก-เหล็กกล้า
ย้อนกลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ลักเซมเบิร์กมีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ โดยประมาณ 80% ของประชากรทำการเกษตรและเหมืองแร่เหล็กเป็นหลัก กระทั่งช่วงกลางศตวรรษเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศขึ้น ประกอบกับลักเซมเบิร์กเข้าร่วม ‘สนธิสัญญาโซลเวเรีย’ (Zollverein) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการภาษีและการค้าเสรีภายในดินแดนที่เป็นพันธมิตรกับเยอรมนี แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กในลักเซมเบิร์กคือ การค้นพบเหล็กไมเนต (Minette)
สิ่งนี้นำไปสู่การก่อสร้างโรงงานเหล็กแห่งใหม่และการขยายตัวของโรงงานเหล็กที่มีอยู่เดิม เนื่องจากลักเซมเบิร์กกลายเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกจนอุตสาหกรรมเหล็กเติบโตไปถึงจุดสูงสุดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีการจ้างงานมากกว่า 50,000 คน
แม้ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 อุตสาหกรรมจะเริ่มลดลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตเหล็กรายใหม่ในประเทศอื่นๆ และต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น แต่ลักเซมเบิร์กก็ยังส่งออกเหล็กจำนวนหนึ่งไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีความต้องการเหล็กสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมาก โดยเหล็กดังกล่าวถูกนำไปใช้ในตึกระฟ้าหลายแห่งในนิวยอร์กซิตี้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี การส่งออกเหล็กช่วยปรับปรุงเศรษฐกิจในช่วงแรกๆ ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ และในปัจจุบันบริษัทผลิตเหล็กข้ามชาติอย่าง ‘อาร์เซลเลอร์ มิททัล’ (ArcelorMittal) ของลักเซมเบิร์กยังเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก
แดนสวรรค์…ถิ่นภาษีต่ำ

ว่ากันว่าลักเซมเบิร์กเป็นดินแดนหลบภาษีสำหรับบริษัทต่างๆ และผู้มั่งคั่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จนผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินสำหรับการค้าพันธบัตรยุโรปนอกชายฝั่ง โดยลักเซมเบิร์กได้รับความนิยมในหมู่บริษัทที่ต้องการออกตราสารหนี้ เนื่องจากไม่มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ และไม่กำหนดให้ผู้ออกตราสารต้องเผยแพร่หนังสือชี้ชวน
สำหรับการจัดเก็บภาษีที่นี่มีลักษณะพิเศษก็คือ ‘ระบบภาษีที่เอื้ออำนวย’ ซึ่งมีส่วนทำให้ประเทศนี้มีชื่อเสียงในฐานะ ‘ดินแดนภาษีต่ำ’ (Tax heaven) ทั้งยังเป็นสถานที่อันพึงปรารถนาสำหรับการทำธุรกิจและบุคคลที่มีรายได้สูง (high-net-worth individuals)
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า 80% ของผลกำไรที่ย้ายจากประเทศในสหภาพยุโรปมักจะหยุดที่ดินแดนภาษีต่ำที่ตั้งอยู่ในสหภาพยุโรป ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ โดยพบว่าลักเซมเบิร์กมีกำไรจากการเคลื่อนย้ายกำไร (shifted profit / หนึ่งในธุรกรรมหลบเลี่ยงภาษี) ในปี 2015 มูลค่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.63 ล้านล้านบาท) ไอร์แลนด์มีมูลค่า 1.06 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.6 ล้านล้านบาท) และเนเธอร์แลนด์มีมูลค่า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.98 ล้านล้านบาท) ในปีเดียวกัน
ลักเซมเบิร์กยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแหล่งหลบเลี่ยงภาษีที่โดดเด่นที่สุดทั่วโลกอีกด้วย โดยมีบริษัทมากกว่า 340 แห่งทั่วโลกที่จัดตั้งบริษัทสาขาในประเทศและแสวงหาการจัดการที่เป็นประโยชน์เพื่อจุดประสงค์ในการขอลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ ลักเซมเบิร์กยังเป็นศูนย์กลางของสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารขนาดใหญ่และบริษัทการลงทุน ซึ่งภาคการเงินคิดเป็น 35% ของ GDP
‘ศูนย์กลาง’ การบริหารความมั่งคั่งของสหภาพยุโรป

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1980 ธนาคารในลักเซมเบิร์กเริ่มให้บริการด้านการวางแผนการเงินแบบองค์รวม หรือจะเรียกว่า ‘ระบบนิเวศความมั่งคั่ง’ (Wealth Management Ecosystem) เมื่อเวลาผ่านไปจึงพัฒนาไปสู่ระบบนิเวศการจัดการความมั่งคั่งที่สมบูรณ์ โดยรวบรวมคำแนะนำด้านการลงทุน การจัดการสินทรัพย์ การวางแผนความมั่งคั่ง การจัดการอสังหาริมทรัพย์ การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง และการกุศล
ปัจจุบันลักเซมเบิร์กเป็นที่เลื่องลือว่าเป็นทั้งศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านการบริหารความมั่งคั่ง และศูนย์กลางทางการเงินที่เชื่อถือได้และมีเสถียรภาพ อันเนื่องมาจากเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศและผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ด้วยอัตราการเติบโตที่ ‘สูงกว่า’ ค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปและหนี้สาธารณะที่ ‘ต่ำ’ จนทำให้ลักเซมเบิร์กได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในเรทติ้งระดับ ‘AAA’ อย่างต่อเนื่องจากสถาบันจัดอันดับเครดิตหลัก 3 แห่ง
เพราะลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเงินสูง หน่วยงานธนาคารเอกชนของลักเซมเบิร์กจึงมักถูกกำหนดให้เป็น ‘ศูนย์กลางความเป็นเลิศของสหภาพยุโรปด้านการบริหารความมั่งคั่ง’ อีกด้วย
ระบบนิเวศทางการเงินที่ลักเซมเบิร์กสร้างขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาช่วยดึงดูดนักลงทุนจากภายนอกและภายในสหภาพยุโรป ขนาดที่ว่ากลุ่มสถาบันการเงินต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดจากสหภาพยุโรปอย่างธนาคารฝรั่งเศสและเยอรมันก็ยังได้นำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ตาม
นอกจากนี้ ธนาคารจากประเทศนอกสหภาพยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐฯ และแคนาดายังใช้ลักเซมเบิร์กเป็นประตูสู่ตลาดสหภาพยุโรปสำหรับการบริหารความมั่งคั่ง ตลาดทุน การเงิน และบริการทางการเงินอื่นๆ
ไม่มี ‘ทางออก’ สู่ทะเล เป็น ‘ข้อได้เปรียบ’?

หากว่ากันไปตามประวัติศาสตร์ผู้คนในอดีตมักมองว่าการที่บ้านเมืองไม่ติดแม่น้ำ และไม่มีทางออกสู่ทะเล หรือที่เรียกว่า ‘แลนด์ล็อค’ นั้นไม่เหมาะกับการทำการค้า ไม่สามารถเข้าถึงตลาดโลก เพราะเดินทางเข้าถึงได้ยาก ทั้งยังไม่มีความอุดมสมบูรณ์มากนัก และมักเป็นสาเหตุของความพ่ายแพ้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทำให้การเติบโตของประเทศลดลง
น่าแปลกที่อุปสรรคดังกล่าวกลับทำอะไรประเทศเล็กๆ อย่างลักเซมเบิร์กไม่ได้เลย แถมยังสร้างประโยชน์ให้ประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย
พรมแดนของลักเซมเบิร์กไม่มีชายฝั่งและถูกรายรอบไปด้วย 3 ประเทศสำคัญๆ ได้แก่ เบลเยี่ยม (ทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือ) เยอรมนี (ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออก) และฝรั่งเศส (ทางทิศใต้) แต่กลับพบว่ามีการเติบโตอย่างมาก และลักเซมเบิร์กยังสามารถถสร้างประโยชน์จากดินแดนแลนด์ล็อคได้เสมอ
อันที่จริงแล้ว ชื่อเมืองหลวง ‘ลูซิลินเบอร์ฮุก’ (Lucilinburhuc) ในภาษาแซ็กซอนโบราณแปลว่า ‘ป้อมปราการเล็กๆ’ หมายถึงตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่ทอดคร่อมเส้นทางทหารสายหลัก โดยรวมแล้วประเทศนี้จึงเป็นจุดติดต่อระหว่างอาณาจักรแฟรงก์ (ฝรั่งเศส) และเจอร์มานิก (เยอรมัน) ซึ่งนั่นเป็นเหตุให้ลักเซมเบิร์กใช้ภาษาประจำชาติ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาลักเซมเบิร์ก เยอรมัน และฝรั่งเศส ทั้งยังเป็นข้อพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของ 3 ประเทศ
ในศตวรรษที่ 20 ลักเซมเบิร์กกลายเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สำคัญบางแห่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์ (Benelux Economic Union) ร่วมกับเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ จนในที่สุดก็กลายเป็นแกนหลักของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งต่อมากลายเป็นสหภาพยุโรป
นอกจากบริการด้านการธนาคารและบริการทางการเงินระหว่างประเทศแล้ว ลักเซมเบิร์กยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ (noncommercial activities) เช่น การจัดกิจกรรมทางการเมืองภายในยุโรปในศตวรรษที่ 20 ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ช่วยขับเคลื่อนความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ และกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ ลักเซมเบิร์กยังเป็นที่ตั้งของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป สำนักเลขาธิการรัฐสภายุโรป และศาลผู้ตรวจสอบบัญชียุโรป
การลงทุนทั้ง ‘ใน’ และ ‘นอก’ ประเทศ
ลักเซมเบิร์กมีกองทุนรวมที่น่าประทับใจถึง 16,777 กองทุน ครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่การร่วมลงทุนไปจนถึงการจัดการสินทรัพย์ เมื่อรวมกันแล้ว กองทุนเหล่านี้สามารถบริหารจัดการเงินจำนวน 4.5 ล้านล้านยูโร (ราว 172 ล้านล้านบาท) ได้อย่างน่าประทับใจ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของลักเซมเบิร์กในฐานะศูนย์กลางสำหรับกิจกรรมทางการเงินและการลงทุน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนภายในของรัฐในด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาถนน สะพาน ระบบขนส่งสาธารณะ และพลังงาน
นอกจากนี้ รัฐบาลลักเซมเบิร์กยังได้ขยายความพยายามด้านการลงทุนออกไปนอกขอบเขตของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคกร็องแต็สต์ของฝรั่งเศส ซึ่งมีทั้งการลงทุนที่ขยาย-ปรับปรุงถนนและทางรถไฟร่วมกับฝรั่งเศส รัฐบาลเชื่อว่าการลงทุนเชิงกลยุทธ์เหล่านี้จะส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดน รวมถึงมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
สาเหตุที่ลงทุนมากมายเช่นนี้เป็นเพราะลักเซมเบิร์กมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพลเมือง และรักษาสถานะของประเทศที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกไว้
มหาเศรษฐีชอบเก็บ ‘ขุมทรัพทย์’ ไว้ในประเทศนี้!

ลักเซมเบิร์กมี ‘เงิน’ เท่าไหร่?
ลักเซมเบิร์กมีงบประมาณราว 500 ล้านยูโร (ราว 191 แสนล้านล้านบาท) ซึ่งได้รับการจัดการโดยกระทรวงการคลังและแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักได้แก่
- งบประมาณทั่วไป = ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น เงินเดือน เงินบำนาญ และค่ารักษาพยาบาล
- งบประมาณพิเศษ = ค่าใช้จ่ายพิเศษมักเกิดขึ้นน้อยกว่าและมักเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือโครงการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การตอบสนองฉุกเฉิน และการดำเนินการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภาระทางการเงินที่ไม่คาดคิด (unexpected financial burdens) ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามปกติ
แหล่งที่มาของ ‘รายได้หลัก’ ของรัฐบาลลักเซมเบิร์กคือ ‘ภาษี เงินสมทบประกันสังคม และเงินปันผลจากรัฐวิสาหกิจ’ ในส่วนของ ‘ค่าใช้จ่ายหลักๆ’ ของรัฐบาล ได้แก่ ‘ประกันสังคม ค่ารักษาพยาบาล การศึกษา และการบริหารราชการ’

แล้วคุณล่ะ? คิดว่าไง? อยากย้ายไปอยู่ลักเซมเบิร์กไหม?