ทำไม ‘การโกหก’ ถึงกลายเป็นเรื่องปกติทาง ‘การเมือง’?

18 ส.ค. 2566 - 10:41

  • บางครั้งการโกหกก็เป็นหนทางไปสู่ ‘ตำแหน่ง’ และ ‘อำนาจ’ แต่ก็ต้องแลกกับความนับถือและความเชื่อใจจากประชาชน

  • ยกตัวอย่าง ‘การโกหกครั้งใหญ่’ ของผู้นำที่กระหายในชัยชนะ กับชีวิตประชาชนที่ต้องเสียไปนับล้านราย

  • จริงๆ แล้วการโกหกทางการเมืองเป็นเรื่องที่ผิดเสมอไปไหม?

why-lying-become-so-normalized-in-politics-SPACEBAR-Thumbnail

เหตุใดการโกหกถึงกลายเป็นเรื่องปกติในทาง ‘การเมือง’? 

เรามักถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า ‘การโกหกเป็นสิ่งไม่ดี’ ทว่าทุกวันนี้ใครหลายๆ คนก็ยังเลือกที่จะพูดโกหกไม่ว่าจะด้วยเจตนาอะไรก็ตาม แต่ที่เห็นได้ชัดกว่านั้นก็คือ ‘การโกหก’ กลับกลายเป็นหนทางไปสู่การบรรลุอำนาจและความสำเร็จซะงั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทาง ‘การเมือง’ 
 
อย่างการเมืองบ้านเราในช่วงนี้คงไม่พ้นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยกลับคำซึ่งก่อนหน้านั้นช่วงหาเสียงเลือกตั้งประกาศชัดว่าจะปิดสวิตซ์ ส.ว. และ 3 ป. แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ก็ประกาศจะร่วมรัฐบาลกับพรรคลุงๆ เสียได้ งานนี้ไม่วายถูกโยงว่าเป็นพรรคการเมืองพูดปดหลอกลวงประชาชน ขณะที่หัวหน้าพรรคบอกว่า ‘ไล่หนูตีงูเห่า’ เป็นเพียงแค่นโยบายหาเสียงเท่านั้น 
 
เข้าข่ายที่ว่า ‘คำโกหกของนักการเมือง’ กลายเป็น ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ไปเสียได้!
 
จริงๆ แล้วที่บอกว่าการโกหกเป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 16 นิโคโล มาเคียเวลลี นักปรัชญาและนักรัฐศาสตร์ได้เขียนไว้ว่า “ ‘ผู้นำที่พยายามจะซื่อสัตย์’ แต่โกหกเวลาพูดความจริงจะทำให้เขาเสียเปรียบ…ผู้คนไม่ชอบการโกหก แต่ ‘คนที่หลอกลวง’ จะพบคนที่ยอมให้ตัวเองถูกหลอกเสมอ” 
 
เมื่อเรื่องราวที่รัฐบาลและผู้นำธุรกิจโกหกถูกปิดเผยออกมา เราอาจมีข้อแก้ตัวให้คิดว่าความซื่อสัตย์นั้นไม่สำคัญเท่ากับที่พ่อแม่ทำให้เราเชื่อ อันที่จริงดูเหมือนว่าความไม่ซื่อสัตย์ในธุรกิจและการเมืองสามารถนำไปสู่ตำแหน่งอำนาจและความสำเร็จที่มากขึ้นได้ 

การโกหกครั้งใหญ่…(เพื่อ) อำนาจและชัยชนะ 

เมื่อเกือบศตวรรษก่อนในยุคที่ผู้นำเผด็จการอย่าง โจเซฟ สตาลิน ของโซเวียตและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ของเยอรมนี ทำให้เกิดศัพท์คำว่า ‘การโกหกครั้งใหญ่’ ไว้ในปี 1925 โดยขึ้นสู่อำนาจด้วยการโกหกว่า ‘ชาวยิวมีส่วนรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1’ 
 
สำหรับเผด็จการเยอรมันและโซเวียตแล้ว การโกหกไม่ใช่แค่นิสัยหรือวิธีที่สะดวกในการขัดเกลาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ต้องการแค่เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังทดสอบและเสริมสร้างความภักดีโดยบังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสนับสนุนข้อความที่พวกเขารู้ว่าเป็น ‘เท็จ’ และรวบรวมการสนับสนุนจากคนธรรมดาที่ฮิตเลอร์ตระหนักว่า ‘พวกเขาเหล่านั้นพร้อมที่จะตกเป็นเหยื่อของการโกหกครั้งใหญ่มากกว่าการโกหกเล็กๆ น้อยๆ’ 
 
ทั้งนี้ การสนับสนุนความเท็จจำนวนมหาศาลของฮิตเลอร์นั้นได้กลายเป็น ‘ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย’ 
 
ภายใต้การปกครองของฮิตเลอร์และสตาลินเต็มไปด้วยการนองเลือด พลเมืองกว่า 14 ล้านรายต้องสังเวยชีวิตให้พวกเขา และโดยเฉลี่ย 1 ล้านรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนชราถูกสังหารทุกปี แม้ว่าในปี 1939 ดินแดนเหล่านี้จะกลายเป็นสนามรบ แต่ก็ไม่มีใครใน 14 ล้านคนที่เสียชีวิตจากการสู้รบ เพราะพวกเขาตกเป็นเหยื่อของ ‘นโยบายสังหาร’ ไม่ใช่เหยื่อของสงครามน่ะสิ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/18Ahl0tKyFCljCgYRnzMjc/401107cd789030f8b7b258b6fac7694b/why-lying-become-so-normalized-in-politics-SPACEBAR-Photo02
“ที่นี่ มนุษย์เป็นผู้ตัดสินว่าอะไรจริงและอะไรเท็จ” จอร์จ เคนัน นักการทูตชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซียผู้ซึ่งอยู่ที่มอสโกในห้วงเวลานั้นได้กล่าวไว้เมื่อปี 1944 
 
ความจริงไม่มีอะไรมากไปกว่าแบบแผนของอำนาจ หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เป็นความจริงนั้นจะสามารถต้านทานแรงดึงดูดของการเมืองได้หรือไม่? ขณะที่นาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตเองก็พยายามที่จะควบคุมประวัติศาสตร์ 
 
อย่างไรก็ดี ลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติเป็นวิสัยทัศน์อันเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด หลายคนอาจเชื่อว่าเจตจำนงและปัญหาเชื้อชาติจะขจัดออกไปในอดีตได้ ขณะที่หลายคนเองก็เชื่อว่าอาชญากรรมของระบอบนาซีนั้นยิ่งใหญ่จนอยู่นอกเหนือจากประวัติศาสตร์ไปแล้ว 
 
นี่เป็นเสียงสะท้อนที่น่าหนักใจในความเชื่อของฮิตเลอร์ที่จะเอาชนะข้อเท็จจริงต่างๆ คนอื่นๆ ยืนยันว่าอาชญากรรมของสตาลินแม้จะน่าสยดสยอง แต่ก็ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจำเป็นในการสร้างหรือปกป้องรัฐสมัยใหม่ ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้นึกถึงมุมมองของสตาลินที่ว่าประวัติศาสตร์มีเพียงแนวทางเดียวที่เขาเข้าใจ และทำให้นโยบายของเขาถูกต้องตามกฎหมายเมื่อมองย้อนกลับไป 
 
และนี่เป็นตัวอย่างหายนะจาก ‘คำโกหก’ ของผู้นำที่บ้าคลั่งชัยชนะ แม้แต่ชีวิตประชาชนก็ยอมแลก ความจริงในภาวะสงครามที่ประชาชนไม่เคยได้รับจากผู้นำของพวกเขา 

แล้วการโกหกทางการเมืองนั้นถือว่า ‘ผิด’ เสมอหรือไม่?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1qZ7rVqXYylIGgYiocPPWW/4d837490ffcd6616aef6d5566413c85f/why-lying-become-so-normalized-in-politics-SPACEBAR-Photo03
ใครๆ ก็ไม่ชอบการโกหกทั้งนั้นแหละ ยิ่งกับนักการเมืองที่ตอนหาเสียงพูดอีกอย่าง แต่หลังจากได้ตำแหน่งทำอีกอย่างหรือก็ทำไม่ได้อย่างที่สัญญาไว้ และดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วล่ะ 
 
ทว่าบางครั้งนักการเมืองก็อาจมีเหตุผลในการโกหกประชาชนด้วยเหมือนกัน “การหลอกลวงดังกล่าวสามารถทำได้หากเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มุ่งร้ายผลักดันให้เกิดนโยบายซึ่งเป็นอันตรายและกดขี่” เจสัน เบรนแนน นักปรัชญาชาวอเมริกันกล่าว 
 
ตัวอย่างเช่น หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งหัวรั้นนั้นสนับสนุนระบบทาสหรือการแบ่งแยกเชื้อชาติ ผู้สมัครรับเลือกตั้งอาจจะใช้วิธีแสร้งทำเป็นสนับสนุนไปก่อน แต่หลังจากนั้นจึงปฏิเสธคำสัญญาในการหาเสียงตอนที่เข้ารับตำแหน่งก็เป็นได้ 
 
โดยทั่วไปแล้วการโกหกทางการเมืองเป็นสิ่งที่ผิด! เช่นเดียวกับการแสวงหาประโยชน์จากความไม่รู้ แต่บางครั้ง การโกหกอาจเป็นวิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงความชั่วร้ายที่รุนแรงกว่านี้ได้ 
 
ที่กล่าวว่า การโกหกและการแสวงประโยชน์จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสาธารณชนเป็นประจำอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดระแวงและความเกลียดชังในหมู่พรรคพวกซึ่งทำให้ความคิดเห็นของสาธารณชนดูโง่เขลาและไร้เหตุผลมากกว่าที่เป็นอยู่ 
 
แต่ด้วยโครงสร้างของระบบการเมืองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหลอกลวงอย่างกว้างขวางอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นักการเมืองที่ปฏิเสธการโกหกและแสวงประโยชน์จากความไม่รู้ของสาธารณชนจะเสียเปรียบโดยอัตโนมัติเมื่อเทียบกับผู้ที่มีศีลธรรมน้อยกว่า และจะทำให้พวกเขาชนะการเลือกตั้งน้อยลงเพราะเหตุนี้ด้วย 
 
ถึงกระนั้น ความไม่รู้ของสาธารณชนที่ผลักดันให้ ‘การโกหกเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ’ นั้นยากที่จะเอาชนะได้  
 
ประเด็นก็คือการพูดความจริงในฐานะนักการเมืองนั้นมักจะเป็นปัญหา หรืออาจอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะพูด เพราะอาจมีข้อมูลที่กระทบต่อราคาตลาดหุ้น อาจมีท่าทางการเจรจาที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ หรือแม้แต่มีบุคคลภายในที่ไม่เห็นด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บางครั้งนักการเมืองต้องเก็บงำความจริงไว้เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง จนเรียกได้ว่านี่คือ ‘ปรากฏการณ์การเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่’ นั่นเอง  
 
“สำหรับรัฐบุรุษแล้ว คำพูดบางครั้งต้องทำหน้าที่ปกปิดข้อเท็จจริง” นิโคโล มาเคียเวลลี นักการทูตและนักปรัชญาชาวอิตาลีกล่าว นอกจากนี้ ทอมัส อไควนัส บาทหลวงโรมันคาทอลิกก็เคยตั้งคำถามเป็นครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 13 ว่า ‘การโกหกอย่างตรงไปตรงมานั้นเลวร้ายทางศีลธรรมมากกว่าการหลอกลวงแบบอื่นหรือไม่?’  
 
ขณะที่นักปรัชญาสมัยใหม่ไม่เห็นด้วยว่า ‘การโกหกและการหลอกลวงเป็นเรื่องศีลธรรมหรือไม่?’ เพราะในแง่หนึ่ง เจตนาที่อยู่เบื้องหลังการพูดโกหกและการพูดที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดนั้นเหมือนกัน ซึ่งก็คือ การหลอกล่อผู้ฟังให้เชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง 
 
แต่ โจนาธาน เว็บเบอร์ จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์แย้งว่า “แม้ว่าการหลอกลวงทุกรูปแบบโดยทั่วไปจะผิด แต่ ‘การโกหกก็เป็นรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด’…สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับชื่อเสียง หากนักการเมืองโกหกและถูกจับได้ ความเชื่อใจในตัวนักการเมืองคนนี้ก็จะถูกบั่นทอนลง” 
 
แล้วคุณคิดยังไง? คุณคิดว่าการโกหกในหมู่มวลนักการเมืองควรจะเป็นเรื่องที่ปกติไหม? หรือจริงๆ แล้วประชาชนเพียงต้องการแค่นักการเมืองที่พูดจริง ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ และอยู่เคียงข้างพวกเขา? ในท้ายที่สุดเราอาจจะชินกับการโกหกหน้าตายของนักการเมืองไปแล้วหรือเปล่า? สิ่งที่เราทำได้คืออะไรล่ะ นอกจาก ‘การประท้วง’! 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์