ภูเขาไฟนี่นี้ใครครอง? ‘ทารานากิ’ ภูเขาแดนนิวซีแลนด์ที่ได้สิทธิ์ตามกฎหมายในฐานะมนุษย์

12 ก.พ. 2568 - 00:00

  • ภูเขาไฟนี่นี้ใครครอง? ทำไมภูเขาไฟ ‘ทารานากิ’ ได้รับรองสิทธิ์ตามกฎหมายจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ในฐานะมนุษย์

  • การประกาศครั้งนี้เป็นการคืนความยุติธรรมให้ชาวชนเผ่าเมารีที่ต่อสู้เพื่อบรรพบุรุษของพวกเขามาอย่างยาวนาน

  • ภูเขาไฟแห่งนี้ไม่ใช่ที่แรกที่ได้รับการประกาศ แต่ก่อนหน้านี้นิวซีแลนด์เคยประกาศรับรองสิทธิ์ ‘ธรรมชาติ’ ให้เป็น ‘นิติบุคคลมีสิทธิ์เท่าเทียมมนุษย์’ มาแล้ว 2 แห่ง

why-new-zealand-mountain-has-been-granted-personhood-SPACEBAR-Hero.jpg

หากพูดถึง ‘บรรพบุรุษ’ หลายคนอาจนึกถึงญาติผู้ใหญ่ต้นตระกูล ปู่ย่าตายาย แต่สำหรับที่นิวซีแลนด์ไม่ใช่แค่บุคคลเท่านั้นที่พวกเขานับถือ แต่ ‘ภูเขาไฟ’ ก็ถือเป็นบรรพบุรุษของชาวพื้นเมืองด้วย แถมภูเขาไฟแห่งนี้ยังเพิ่งได้รับการรับรองเป็นนิติบุคคลด้วยคะแนนเสียงเป็น ‘เอกฉันท์’ จากสมาชิกรัฐสภา 123 คนเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีสิทธิ์และความรับผิดชอบในฐานะมนุษย์ ครอบคลุมถึงภูมิภาคทารานากิ ยอดเขาและพื้นที่โดยรอบ 

ภูเขาไฟที่ดับสนิทลูกนี้นามว่า ‘ทารานากิ’ (Taranaki Maunga) เดิมชื่อ ‘Mount Egmont’ เป็นหนึ่งในภูเขาไฟรูปกรวยที่มีความสมมาตรมากที่สุดในโลก ตั้งตระหง่านอยู่เหนือที่ราบทารานากิบนชายฝั่งตะวันตกของเกาะเหนือด้วยความสูง 2,518 เมตร ทั้งยังเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม เดินป่า และกีฬาหิมะ 

ว่ากันว่าบริเวณภูมิภาคภูเขามีความสำคัญทางวัฒนธรรมอย่างมากสำหรับชาวเมารี (ชนเผ่าพื้นเมือง) การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างชาวเมารีกับภูเขาไฟทารานากิมาเป็นเวลานาน ซึ่งสอดคล้องกับทัศนคติของชาวเมารีที่ถือว่าธรรมชาติเป็นบรรพบุรุษอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ขนาดใหญ่ 

นอกจากนี้ การรับรองทางกฎหมายดังกล่าวยังเป็นการยอมรับว่าราชวงศ์อังกฤษ (ในเวลานั้น) ได้ขโมยภูเขาไปจากชาวเมารีหลังจากที่นิวซีแลนด์ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเป็นการคืนสิทธิ์การคุ้มครองซึ่งนับเป็นข้อตกลงครั้งที่ 100 ระหว่างราชวงศ์อังกฤษและชาวเมารี อันเป็นการสิ้นสุดการเจรจาที่ยาวนานถึง 9 ปี อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงเยียวยาจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ต่อชาวพื้นเมืองสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับดินแดนดังกล่าวตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 

การที่ภูเขาไฟทารานากิได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมายนั้นไม่เพียงแต่เป็นชัยชนะของชาวเมารีเท่านั้น แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่รับประกันว่าภูมิทัศน์ธรรมชาติจะได้รับการปกป้องด้วยความเคารพทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง  

ทำไมภูเขาแห่งนี้ถึงได้สิทธิพิเศษ?

“ภูเขาแห่งนี้เป็นบรรพบุรุษที่ได้รับความเคารพ และยกย่องมาช้านาน เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงทางกายภาพ วัฒนธรรม จิตวิญญาณ และเป็นสถานที่พักผ่อน”

พอล โกลด์สมิธ สมาชิกรัฐสภาที่รับผิดชอบการตั้งถิ่นฐานระหว่างรัฐบาลและชนเผ่าเมารี กล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.

ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 เจ้าอาณานิคมนิวซีแลนด์ได้นำชื่อ ‘ทารานากิ’ มาใช้ก่อน แต่ในปี 1770 เจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษได้พบเห็นยอดเขาแห่งนี้จากเรือของเขา และตั้งชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า ‘ภูเขาเอจมอนต์’ (Mount Egmont) 

ในปี 1840 ชนเผ่าเมารีและตัวแทนของราชวงศ์อังกฤษได้ลงนามในสนธิสัญญาไวตางี (Treaty of Waitangi) ซึ่งเป็นเอกสารก่อตั้งของนิวซีแลนด์ โดยราชวงศ์สัญญากับชาวเมารีว่าจะรักษาสิทธิ์ในที่ดินและทรัพยากรของพวกเขาไว้ แต่สนธิสัญญาฉบับเมารีและฉบับอังกฤษแตกต่างกัน และทางราชวงศ์เองก็เป็นฝ่ายละเมิดสนธิสัญญาทั้งสองฉบับ ทั้งยังยึดที่ดินทารานากิ 4.8 พันล้านตารางเมตรตามอำเภอใจ รวมถึงภูเขาด้วยซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชาวเผ่าทารานากิที่ต้องอพยพและถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงสถานที่ที่มีความสำคัญต่อบรรพบุรุษ อันเป็นแหล่งอาหารและทรัพยากรดั้งเดิม 

ต่อมาในปี 1865 ดินแดนอันกว้างใหญ่ของทารานากิ รวมถึงภูเขา กลับถูกยึดเพื่อเป็นการลงโทษชาวเมารีที่ก่อกบฏต่อราชวงศ์ ทว่าในศตวรรษต่อมา ชาวเมารีก็ไม่มีสิทธิ์ยุ่งเกี่ยวกับภูเขาไฟทารานากิอีก โดยมีเพียงกลุ่มล่าสัตว์และกีฬาที่มีอำนาจในการบริหารจัดการภูเขา “ทางการห้ามชาวเมารีจัดประเพณีดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับภูเขาแห่งนี้  เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว” โกลด์สมิธ กล่าว  

แต่ชาวเมารีไม่ยอมแพ้และออกมาประท้วงในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับส่งผลให้มีการยอมรับภาษา วัฒนธรรม และสิทธิ์ของชาวเมารีในกฎหมายของนิวซีแลนด์เพิ่มมากขึ้น 

แล้วภูเขาไฟจะใช้สิทธิ์ของตัวเองได้ยังไง...

why-new-zealand-mountain-has-been-granted-personhood-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Shutterstock / N.Minton

“วันนี้ ทารานากิ ภูเขาของเรา ภูเขาไฟของเรา ได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการของความอยุติธรรม ความไม่รู้ และความเกลียดชัง...”

เด็บบี งาเรวา-แพคเกอร์ ผู้นำร่วมของพรรคการเมืองเมารี (Te Pāti Māori) และเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าทารานากิ กล่าว

สิทธิ์ตามกฎหมายของภูเขาแห่งนี้มีไว้เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของภูเขา โดยสิทธิ์ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพื่อยุติการบังคับขาย ฟื้นฟูการใช้งานตามแบบแผนดั้งเดิม และอนุรักษ์เพื่อปกป้องสัตว์ป่าพื้นเมืองที่เติบโตบนภูเขาแห่งนี้ แต่จะยังเปิดให้มีการเข้าชมอยู่ 

ส่วนอื่นๆ ของนิวซีแลนด์มีสถานะนิติบุคคลแบบนี้ด้วยไหม

why-new-zealand-mountain-has-been-granted-personhood-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Shutterstock / Robert Harding Video

นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมรับลักษณะทางธรรมชาติเป็น ‘นิติบุคคลมีสิทธิ์เท่าเทียมมนุษย์’ ซึ่งกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในปี 2014 และภูเขาไฟทารานากิก็เป็นสถานที่แห่งที่ 3 ด้วยที่ได้รับสิทธิ์นี้ 

สำหรับสถานที่แห่งแรก นิวซีแลนด์ได้มอบสิทธิ์ให้กับ ‘เต อูเรเวรา’ (Te Urewera) ในปี 2014 ป่าพื้นเมืองขนาดใหญ่บนเกาะเหนือ ทำให้กรรมสิทธิ์ของรัฐบาลสิ้นสุดลงและตกเป็นของชนเผ่าตูโฮ (Tūhoe) ที่กลายเป็นผู้พิทักษ์ดูแลแทน “เต อูเรเวรา ป้อมปราการแห่งธรรมชาติที่เปี่ยมล้นด้วยประวัติศาสตร์ ทัศนียภาพเต็มไปด้วยความลึกลับ การผจญภัย และความงามอันห่างไกล” ข้อความในกฎหมายระบุ 

ส่วนแห่งที่ 2 นิวซีแลนด์ยกสิทธิ์ให้กับ ‘แม่น้ำวังกานุย’ (Whanganui River) ในปี 2017 แม่น้ำที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นที่เคารพนับถือจากชนเผ่าวังกานุยมานานหลายศตวรรษ และยังเป็นแม่น้ำสายแรกของโลกที่ได้รับการรับรองให้เป็นนิติบุคคลอีกด้วย

Photo : Shutterstock / Itay.G

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์