ทำไมตุลาคม เป็นเดือนรณรงค์ป้องกันมะเร็งเต้านม และทำไมต้องเป็น‘ริบบิ้นสีชมพู’

17 ต.ค. 2566 - 07:25

  • ตุลาคม เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ตระหนักรู้ในภัยของมะเร็งเต้านม เริ่มต้นในปี 1985 แต่ตอนนั้นยังไม่ใช้ริบบิ้นสีชมพูเป็นสัญลักษณ์

  • ริบบิ้นที่ใช้รณรงค์ในตอนแรกไม่ใช่สีชมพู แต่กลับเป็นสีพีช

Why-october-is-pink-month-or-breast-cancer-awareness-month-why-they-use-pink-ribbons-SPACEBAR-Hero.jpg

ทั่วโลกยกให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนสีชมพู หรือ Pink Month ถ้าไม่เห็นสัญลักษณ์ริบบิ้นสีชมพูเส้นหนึ่งประสานกันเป็นตัว V กลับหัว บางคนอาจนึกไม่ออกว่านี่คือเดือนแห่งการรณรงค์ตระหนักรู้ในภัยของมะเร็งเต้านม และเชิญชวนให้ผู้หญิงหันมาป้องกันมะเร็งเต้านมที่เป็นภัยคุกคามคร่าชีวิตผู้หญิงไปมากมาย 

จุดเริ่มต้นของ ‘เดือนแห่งการรณรงค์ตระหนักรู้ในภัยของมะเร็งเต้านม’ หรือ Breast Cancer Awareness Month เกิดขึ้นเมื่อปี 1985 โดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) ได้เลือกสัปดาห์หนึ่งในเดือนตุลาคมจัดกิจกรรมรณรงค์ ร่วมกับแผนกเภสัชกรรมของ Imperial Chemical Industries ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ AstraZeneca ซึ่งได้พัฒนายาสำหรับรักษามะเร็งเต้านม โดยเป้าหมายแรกของกิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดสัปดาห์ ก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการตรวจเต้านมเบื้องต้น และคัดกรองด้วยแมมโมแกรม 

ผู้หญิงคนแรกที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมคือ เบ็ตตี ฟอร์ด อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ภริยา เจอรัลด์ ฟอร์ด อดีตประธานธิบดีสหรัฐฯ ในฐานะผู้ที่ต่อสู้กับมะเร็งเต้านม เธอได้ช่วยให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคนี้ในกิจกรรมตลอดสัปดาห์ 

เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี จากที่กิจกรรมอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ ได้ขยายไปเป็นตลอดทั้งเดือน และเป้าหมายของเดือนแห่งการรณรงค์ตระหนักรู้ในภัยของมะเร็งเต้านม ก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป เช่น สนับสนุนให้ผู้คนเข้ารับการตรวจโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย การให้ความรู้ผู้คนเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เน้นย้ำถึงความสำคัญของการคัดกรองมะเร็งเต้านมต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี และการระดมทุมสำหรับวิจัยมะเร็งเต้านม 

ทำไมต้องใช้ริบบิ้น 

ในช่วงแรกของการรณรงค์ จนถึงทศวรรษ 1990 ริบบิ้นสีชมพูยังไม่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของเดือนแห่งการรณรงค์ตระหนักรู้ในภัยของมะเร็งเต้านม  แรงบันดาลใจของการใช้ริบบิ้นเกิดขึ้นย้อนไปเมื่อปี 1979 โดยภรรยาของผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันไปที่อิหร่าน ได้ผูกริบบิ้นสีเหลืองไว้รอบต้นไม้หลายต้นที่สวนหน้าบ้านของเธอ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความปรารถนาให้สามีเธอกลับบ้านอย่างปลอดภัย  

หลังจากนั้นหลายปีต่อมา ริบบิ้นก็ถูกนำมาใช้ในช่วงที่โรคเอดส์ระบาด เมื่อนักเคลื่อนไหวทำริบบิ้นสีแดงสด เพื่อสื่อถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ โดยเป็นที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายหลังปี 1991 ในงานประกาศผลรางวัล Tony Awards ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ เมื่อ เจเรมี ไอเอินส์ นักแสดงที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกรได้ปรากฏตัวบนเวทีโดยติดริบบิ้นสีแดงที่ปกเสื้อต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรก

Why-october-is-pink-month-or-breast-cancer-awareness-month-why-they-use-pink-ribbons-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ริบบิ้นสีชมพู สัญลักษณ์การรณรงค์ป้องกันมะเร็งเต้านม

ส่วนผู้ที่เริ่มใช้ริบบิ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในภัยของมะเร็งเต้านม คือผู้หญิงที่ชื่อ ชาร์ล็อต ฮาลีย์ ในฐานะที่เธอเป็นหลาน น้องสาวหรือพี่สาว และแม่ของผู้หญิงที่ต่อสู้กับมะเร็งเต้านม ในตอนแรกเธอออกแบบริบบิ้นมะเร็งเต้านมเป็นสีพีช แทนที่จะเป็นสีชมพู โดยริบบิ้นทุกเส้นแจกพร้อมกับการ์ดที่เขียนว่า “สถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติ ต้องใช้งบประมาณปีละ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งใช้เพียง 5 % เพื่อการป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยพวกเรากระตุ้นผู้บัญญัติกฎหมายและอเมริกาโดยการติดริบบิ้นนี้”  

เธอสามารถแจกริบบิ้นไปหลายพันชิ้นถือว่าประสบความสำเร็จ ทำให้หลายหน่วยงานและสำนักข่าวติดต่อไปที่เธอเพื่อแสดงริบบิ้นรวมถึงข้อความของเธอ แต่เธอปฏิเสธทุกข้อเสนอ เพราะเชื่อว่าพวกเขาทำในลักษณะเป็นองค์กรมากไป แต่นิตยสาร ‘Self’ ก็สามารถเข้าร่วมกับโครงการนี้ได้ โดยนักกฎหมายของนิตยสารขอให้เปลี่ยนสีของริบบิ้น และในที่สุดก็กลายเป็นริบบิ้นสีชมพู 

ในเดือนตุลาคม ปี 1992 ริบบิ้นสีชมพูได้ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกทั่วประเทศสหรัฐฯ เมื่อแบรนด์ Estée Lauder จัดแสดงสัญลักษณ์นี้ที่เคาน์เตอร์เครื่องสำอางค์ 

นอกจากสีชมพูหลักที่ปกติใช้สื่อถึงเดือนแห่งการรณรงค์ตระหนักรู้ในภัยของมะเร็งเต้านมแล้ว ยังมีสีชมพูเฉดอื่นเพิ่มขึ้นมาด้วย อย่างสีชมพูบานเย็น (Hot Pink) สื่อถึงมะเร็งเต้านมอักเสบ สีเขียวหัวเป็ดกับสีชมพู สื่อถึงมะเร็งที่เกิดจากกรรมพันธุ์และเกี่ยวกับยีน สีชมพูกับฟ้า สื่อถึงมะเร็งเต้านมในผู้ชาย และสีเขียวหัวเป็ด ชมพู และเขียว สื่อถึงมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย  

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตหญิงไทย

จากข้อมูลของของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ปี 2565 พบว่า หญิงไทย เป็นมะเร็งเต้านม มากที่สุด จำนวน 38,559 ราย รองลงมา คือ มะเร็งปากมดลูก จำนวน 12,956 ราย สำหรับโรคมะเร็งเต้านมส่วนมากพบในหญิงอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากที่สุดจำนวน 19,776 ราย รองลงมา คือ อายุ 50 – 59 ปี จำนวน 12,181 ราย และ อายุ 40 – 49 ปี จำนวน 5,177 ราย  

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่าปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปี 

แม้ว่ามะเร็งเต้านมส่วนใหญ่พบในผู้หญิง แต่ก็สามารถเกิดในผู้ชายได้ จากสถิติพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ที่เป็นผู้ชายมีเพียง 0.5 -1 % ต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศหญิง 100 คน และในปี 2021 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กำหนดให้วันที่ 17-23 ตุลาคม เป็น ‘สัปดาห์แห่งการรณรงค์ตระหนักรู้ภัยของมะเร็งเต้านมในผู้ชาย’  

มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทย และตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั่วโลก นับเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เพราะในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด จะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็นเมื่ออยู่ในระยะที่ก้อนมะเร็งมีการอักเสบ และลุกลามไปทั่วแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก  

กรมอนามัยจึงแนะนำให้หญิงไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มฝึกทักษะการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะทำให้รู้ถึงสภาพที่เป็นปกติของเต้านม หากเกิดความผิดปกติของเต้านมจะสามารถพบได้ ตั้งแต่เนิ่นๆ และผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมทุกปี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์