การเสนอซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ของบริษัท Seven & i ในญี่ปุ่นโดย Alimentation Couche-Tard เจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ Circle K จากแคนาดา สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วญี่ปุ่น เพราะบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่แบบนี้ไม่เคยถูกบริษัทต่างชาติซื้อมาก่อน มีแต่บริษัทญี่ปุ่นเข้าไปเทกโอเวอร์ธุรกิจต่างชาติ
เรามีสาขามากกว่าแม็คโดนัลด์หรือสตาร์บัคส์เสียอีก
ริวอิจิ อิซะกะ ซีอีโอ Seven & i Holdings ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNN
7-11 คือเชนร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสาขารวมกันกว่า 85,000 ร้านใน 20 ประเทศและดินแดนทั่วโลก โดยราว 1 ใน 4 อยู่ในญี่ปุ่น และอีกราว 10,000 สาขาในสหรัฐฯ
ขณะที่ Circle K มีสาขาเกือบ 17,000 แห่งใน 31 ประเทศและดินแดน โดยมากกว่าครึ่งอยู่ในอเมริกาเหนือ แต่มีมูลค่ามากกว่า Seven & i เกือบ 2 เท่าคือ 58,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินเยนที่อ่อนลงด้วย
หากดีลซื้อขายครั้งนี้สำเร็จจะเป็นการซื้อบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นของบริษัทต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา มากกว่าการเทกโอเวอร์กิจการชิปของ Toshiba โดยบริษัท Bain Capital มูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2017 และการควบรวมกิจการของ Seven & i กับ Couche-Tard จะสร้างเครือข่ายร้านสะดวกซื้อมากกว่า 100,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งถือเป็นร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดและขยายวงกว้างที่สุดในโลก
รัฐบาลญี่ปุ่นหนุนควบรวมกิจการ
ข้อเสนอซื้อกิจการนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหม่ให้บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นปฏิเสธข้อเสนอเทกโอเวอร์กิจการได้ยากขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ด้วยความหวังว่าจะกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น โดยกำหนดให้บอร์ดบริษัทที่ได้รับข้อเสนอซื้อกิจการพิจารณาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และต้องพิจารณาข้อเสนอ “อย่างจริงใจ” แทนที่จะรีบปฏิเสธตั้งแต่ต้น
ด้านนักวิเคราะห์มองว่าการที่ค่าเงินเยนอ่อนลงและอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมากช่วยทำให้การซื้อบริษัทญี่ปุ่น รวมทั้ง Seven & i มีราคาที่จับต้องได้สำหรับบริษัทต่างชาติ ผลก็คือ มีบริษัทต่างชาติซื้อกิจการญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
ข้อมูลของ LSEG พบว่า ตลอดทั้งปีนี้มีการประกาศซื้อขายกิจการมูลค่ารวม 15,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจาก 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 ที่ซื้อขายกันรวม 21,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดีลอาจถูกสกัด
นีล ซอนเดอร์ส กรรมการผู้จัดการบรัทวิเคราะห์ข้อมูลและที่ปรึกษา GlobalData เผยกับ CNN ว่า การควบรวมกันจะทำให้ Seven & i กับ Couche-Tard ควบคุมตลาดร้านสะดวกซื้อเกือบ 1 ใน 5 ของสหรัฐฯ และนั่นอาจจะดึงดูดให้หน่วยงานด้านการผูกขาดตลาดอย่างคณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) ของสหรัฐฯ เข้ามาตรวจสอบ เหมือนกับที่บริษัท Kroger ยักษ์ใหญ่ค้าปลีก ต้องยุติดีลควบรวมกับคู่แข่งรายเล็กอย่าง Albertsons มูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2022 เพราะขัดกับกฎหมายต่อต้านการผูกขาด
ซอนเดอร์สเผยอีกว่า “อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งของการควบรวมคือ ความยุ่งยากในการซื้อบริษัทญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีการปฏิรูปเพื่อให้การเทกโอเวอร์ง่ายขึ้น แต่บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะระมัดระวังและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง”

ความเปราะบางของ Seven & i
ข้อเสนอซื้อกิจการโดย Couche-Tard เน้นย้ำให้เห็นความเปราะบางของ Seven & i ในญี่ปุ่น เนื่องจากความพยายามในการปรับโครงสร้างของบริษัทไม่สามารถสร้างความประทับใจให้แก่ตลาดหุ้น
หลังประกาศข้อเสนอซื้อเมื่อวันจันทร์ (19 ส.ค.) หุ้นของ Seven & i พุ่งขึ้นจากวันก่อนหน้า 23% ส่วนมูลค่าการตลาดของบริษัทขยับมาอยู่ที่ 5.6 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นมาเกือบ 1 ล้านล้านเยนจากวันศุกร์ที่ 16 แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต่ำกว่ามูลค่าตลาดของ Couche-Tard
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มูลค่าตลาดของ Seven & i ต่ำกว่า Couche-Tard คือ ประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของ Couche-Tard อยู่ที่ 11% สูงกว่าของ Seven & i ซึ่งได้เพียง 3% ตามข้อมูลของ QUICK FactSet
“เมื่อเปรียบเทียบกับ 7-Eleven แล้ว Alimentation มีร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันในย่านชานเมืองที่ทำกำไรได้สูงกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นความแตกต่างของประสิทธิภาพในการสร้างรายได้” นักวิเคราะห์รายหนึ่งจากบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นเผยกับ Nikkei Asia
Seven & i มีธุรกิจหลากหลาย รวมทั้งร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต (แต่ร้านสะดวกซื้อทำกำไรได้มากกว่า 40% ของกำไรจากการดำเนินการทั้งหมด) แต่การบริหารจัดการแบบกลุ่มบริษัททำให้ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพ และบรรดาผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว (activist shareholder) มักจะกดดันให้บริษัทปฏิรูปโครงการองค์กร
ปี 2015 Third Point บริษัทเฮดจ์ฟันด์จากสหรัฐฯ เข้าซื้อหุ้น Seven & i ในสัดส่วนไม่ถึง 5% และเรียกร้องให้ปฏิรูปองค์กร รวมทั้งการปรับโครงสร้างธุรกิจห้างสรรพสินค้าในเครืออย่าง Sogo & Seibu
และเมื่อปีที่แล้ว ValueAct Capital เฮดจ์ฟันด์อีกเจ้าหนึ่งจากสหรัฐฯ ได้เสนอวาระประชุมเรียกร้องให้แยกซูเปอร์สโตร์อย่าง Ito-Yokado และธุรกิจอื่นๆ ออกไป รวมทั้งเรียกร้องให้ ริวอิชิ อิซะกะ ลาออก
Seven & i ทำตามข้อเรียกร้องหลายอย่าง เช่น ขาย Sogo & Seibu ให้กองทุนสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว และ Ito-Yokado ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัท ได้หยุดจำหน่ายเสื้อผ้าที่ผลิตภายใต้แบรนด์ของตัวเอง และวางแผนที่จะปิด 33 สาขาภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2026
แต่ความพยายามเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การประเมินของตลาดดีขึ้น หุ้นของ Seven & i ร่วง 6% เมื่อวันศุกร์ (16 ส.ค.) จากช่วงสิ้นปีที่แล้ว สวนทางกับค่าเฉลี่ยของดัชนี Nikkei ในช่วงเวลาเดียวกันที่ขยับขึ้น 14%
อิซะกะตั้งเป้าให้ Seven & i เป็นบริษัทค้าปลีกระดับโลกโดยเน้นอาหารเป็นหลัก แต่ตลาดหลักของ Seven & i อย่างญี่ปุ่นและร้านสะดวกซื้อในสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับการชะลอตัว กำไรจากการดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนยอดขายของสาขาเดิมในเดือนกรกฎาคมลดลง 0.6% และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แล้ว
ส่วนธุรกิจร้านสะดวกซื้อในต่างประเทศซึ่งมีสัดส่วน 70% ของรายได้จากการดำเนินการทั้งหมด มีรายได้ลดลง 80% ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ในสหรัฐฯ นั้นกำลังซื้อของครอบครัวที่มีรายได้น้อยลดลงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่หนักหน่วงขึ้น ส่งผลกระทบกับสาขาที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองต่างๆ และทำให้ยอดขายสาขาเดิมลดลงติดต่อกัน 11 เดือนแล้ว
อดีตพนักงานของ 7-Eleven รายหนึ่งเผยกับ Nikkei Asia ว่า “ปีนี้จะครบรอบ 50 ปีที่ 7-Eleven เปิดบริการในญี่ปุ่น แต่บริษัทยังคงพึ่งพาโมเดลความสำเร็จในอดีต” ทำให้ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเต็มที่
บริษัทอื่นๆ อาจตกเป็นเป้าเทกโอเวอร์มากขึ้น
ในขณะที่ Seven & i กำลังพิจารณาว่าจะอยู่ในมือของเจ้าของที่เป็นคนญี่ปุ่นต่อไป หรือจะกลับคืนสู่ถิ่นเก่าในอเมริกาเหนือ (7-Eleven มีต้นกำเนิดในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส) ผู้เชี่ยวชาญกำลังตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากนี้บริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นจะตกเป็นเป้าในการเทกโอเวอร์หรือไม่
มาโนช เจน จากบริษัทเฮดจ์ฟันด์ Maso Capital ในฮ่องกงเผยกับ CNN ว่า ตอนนี้ “คณะกรรมการและทีมบริหารของญี่ปุ่นเต็มใจมากขึ้นในการรับเงินทุนจากต่างชาติและเปิดรับข้อเสนอจากต่างประเทศ” และว่า นักลงทุนต่างชาติอาจสนใจเดินหน้าเข้ามาซื้อบริษัทญี่ปุ่นมากขึ้น
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงการลงทุนของโลกท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังส่งผลต่อโมเมนตัมการซื้อขายบริษัทญี่ปุ่น
ดันแคน คลาร์ก ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน BDA เผยว่า Reuters ว่า “ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเต็มที่ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนอกประเทศจีน การส่งเสริมธุรกิจให้ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศเผด็จการมายังประเทศพันธมิตร (Friendshoring) กำลังกระตุ้นการผลิตในท้องถิ่น การดำเนินธุรกิจไปทั่วโลกของบริษัทญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนเช่นกัน อย่าว่าแต่ประตูกำลังเปิดกว้างเลย ตอนนี้ยังรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปได้” และว่า การสิ้นสุดของภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นอาจนำมาซึ่งโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุน
มุมมองจากคนญี่ปุ่น
คิรินะ หญิงวัยเลข 5 ที่ช็อปปิ้งอยู่ใน 7-Eleven ย่านอาสะคุสะของกรุงโตเกียวเผยกับ Bloomberg ว่า “ฉันอยากให้ร้านดำเนินการโดยบริษัทญี่ปุ่น เพราะพวกเขาสะท้อนรสชาติและความต้องการของพวกเราลงในสินค้าต่างๆ ในราคาจับต้องได้ แต่เมื่องมองในแง่โลกาภิวัฒน์ การซื้อขายหุ้นอาจถูกต้อง เพราะบริษัทญี่ปุ่นจำเป็นต้องแข็งแกร่งในแง่ของการเงินและต้องเป็นสากลมากกว่านี้”
คิตะ สาววัยเลข 2 บอกว่า “ในแง่ของการบริการ พวกเขามีความเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น ฉันจึงกังวลว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนไป แต่ 7-Eleven ไม่ควรอยู่ในญี่ปุ่นและควรขยายออกไปต่างประเทศ”
Photo by AFP / CHARLY TRIBALLEAU