เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เกาหลีใต้’?
ประธานาธิบดี ยุนซ็อกยอล ของเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนนี้ (3 ธ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น) สร้างความแตกตื่นแก่ผู้คนในประเทศและทั่วโลกว่าอาจเกิดความรุนแรงขึ้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ในรอบกว่า 4 ทศวรรษ ท่ามกลางการตั้งคำถามว่า “มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?”
ในตอนแรกหลายฝ่ายเชื่อว่าการตัดสินใจที่ไม่คาดคิดของยุนนั้นเป็นเพราะภัยคุกคามภายนอกประเทศจากเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีเหนือ แต่ในเวลาต่อมาก็พบว่าเป็นความขัดแย้งภายในการเมืองของเกาหลีใต้ ซึ่งยุนอ้างว่า ‘ฝ่ายค้านมีพฤติกรรมต่อต้านอำนาจรัฐ และเพื่อกำจัดกองกำลังฝ่ายสนับสนุนเกาหลีเหนือ’
ภายใต้กฎอัยการศึกดังกล่าว :
- กองทัพจะได้รับอำนาจพิเศษ
- สื่อต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกองบัญชาการกฎอัยการศึก
- ประชาชนห้ามประท้วง
- ห้ามนัดหยุดงาน
- แพทย์ที่กำลังนัดหยุดงาน จะต้องกลับมาทำงานภายใน 48 ชั่วโมง ไม่งั้นจะถูกลงโทษ
- ผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายจับ

กองกำลังตำรวจทหารต่างรวมตัวกันสกัดกั้นทางเข้ารัฐสภาไม่ให้เหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เข้าไป แต่ สส.บางคนก็ฝ่าด่านตำรวจและปีนรั้วเข้าไปได้ ขณะที่ประชาชนบางส่วนก็ออกมาประท้วงบริเวณรัฐสภาต่อต้านกฎอัยการศึก พร้อมทั้งช่วยให้ สส.เข้าไปประชุมในสภาได้
ในที่สุด (เวลาประมาณ 01.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น) สภาก็เปิดประชุมได้ และลงมติเป็นเอกฉันท์ ‘คัดค้านกฎอัยการศึก’ 190 เสียงจากที่เข้าประชุมทั้งหมด 190 คน (จาก สส.ทั้งหมด 300 คน) จนกระทั่งช่วงเช้ามืด (4 ธ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น) ยุนก็ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก หลังจากประกาศได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง
การตัดสินใจอย่างกะทันหันของยุนทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องกดดันให้เขาลาออก หลังจากดำรงตำแหน่งได้ 2 ปีกว่า และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า ‘ทำลายประชาธิปไตยของประเทศ’
ทำไม ยุนซ็อกยอล ต้องประกาศกฎอัยการศึก...
การประกาศกฎอัยการศึกครั้งล่าสุดต้องย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วในปี 1979 หลังจากประธานาธิบดีพัคจองฮี ซึ่งดำรงตำแหน่งเผด็จการทหารมาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปี ถูกลอบสังหาร
“กฎอัยการศึกมีความจำเป็นเพื่อกำจัด ‘กองกำลังต่อต้านรัฐ’ อย่างรวดเร็วและ ‘ทำให้ประเทศกลับมาเป็นปกติ’”
ยุน กล่าว
ในปีนี้ ยุนได้รับคะแนนนิยมต่ำตกมาอยู่ที่ประมาณ 17% และถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘ประธานาธิบดีเป็ดง่อย’ เนื่องจากเขาดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศโดยไม่ได้รับเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ
พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน ขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปไตยเกาหลีคว้าที่นั่งไปได้ถึง 175 ที่นั่งจากทั้งหมด 300 ที่นั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลของเขาก็ไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายที่ต้องการได้ และต้องใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายแทน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พรรคฝ่ายค้านซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ได้ลงมติให้ตัดงบประมาณปี 2025 ของยุนเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.03 แสนล้านบาท) ทำให้แผนงานของเขาได้รับผลกระทบ อีกทั้งพรรคฝ่ายค้านยังพยายามถอดถอนอัยการสูงสุด 3 คนออกจากตำแหน่งด้วย นอกจากนี้ สำนักข่าว AP รายงานด้วยว่า ยุนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่อง รวมถึงกรณีที่สตรีหมายเลขหนึ่งถูกกล่าวหาว่าปั่นหุ้น
ถึงกระนั้น แม้ว่ายุนจะยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ประกาศสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์ครั้งล่าสุด เขายังคงวิพากษ์วิจารณ์ผู้คนที่เขามองว่าทำให้แผนงานของเขาล้มเหลว และขอร้องให้รัฐสภา ‘หยุดการกระทำที่ไร้ความรอบคอบที่ทำให้การทำงานของรัฐหยุดชะงักจากการถอดถอน การจัดการด้านนิติบัญญัติ และการจัดการงบประมาณซ้ำแล้วซ้ำเล่า’
ชาวเกาหลีใต้ยังอยู่ในความ...สับสนงุนงง

การประกาศกฎอัยการศึกของยุนทำให้หลายคนตั้งตัวไม่ติด และภายในระยะเวลา 6 ชั่วโมง ชาวเกาหลีใต้ต้องอยู่ในภาวะสับสนว่ากฎอัยการศึกหมายความว่าอย่างไร...
เช้าวันรุ่งขึ้นหลังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองตลอดทั้งคืน...ผู้คนในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่รู้สึกสับสนและเศร้าใจ “สำหรับคนรุ่นเก่าที่ต่อสู้บนท้องถนนเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร กฎอัยการศึกเท่ากับเผด็จการ ไม่ใช่เกาหลีในศตวรรษที่ 21 คนรุ่นใหม่รู้สึกอับอายที่ยุนทำลายชื่อเสียงของประเทศ ประชาชนรู้สึกสับสน”
“ทุกคนต่างสงสัยว่าเป้าหมายสุดท้ายของยุนคืออะไร...ยุนกำลังเผชิญกับการเรียกร้องให้ลาออกหรือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง” The Guardian รายงาน
ในทางการเมือง แรงกดดันต่อยุนยังคงเพิ่มขึ้น หลังจากที่เขาประกาศกฎอัยการศึก และยกเลิกในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา พรรคฝ่ายค้านหลักของเกาหลีใต้เรียกร้องให้ยุนลาออก โดยกล่าวหาว่า ‘ยุนก่อกบฏ’
ขณะที่กลุ่มสหภาพแรงงานหลักของประเทศเรียกร้องให้มี ‘การหยุดงานประท้วงอย่างไม่มีกำหนด’ จนกว่าเขาจะลาออกจากตำแหน่งจาก ‘มาตรการที่ไร้เหตุผลและต่อต้านประชาธิปไตย’
ด้านพรรคพลังประชาชนของยุนเองได้กล่าวถึงความพยายามของเขาในการบังคับใช้กฎอัยการศึกว่าเป็น ‘โศกนาฏกรรม’ และเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ
สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป...

ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกับยุน และผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร? ผู้ประท้วงบางคนที่รวมตัวกันอยู่เมื่อคืนวันอังคารต่างตะโกนว่า “จับยุนซ็อกยอล”
การตัดสินใจอันหุนหันพลันแล่นของเขาสร้างความตกตะลึงให้กับประเทศ ซึ่งมองว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้ามาไกลนับตั้งแต่ยุคเผด็จการ
นี่ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดต่อสังคมประชาธิปไตยในรอบหลายทศวรรษ
ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า “เหตุการณ์นี้อาจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของเกาหลีใต้ในฐานะประเทศประชาธิปไตยมากกว่าเหตุการณ์จลาจล 6 มกราคม 2021 ในสหรัฐฯ เสียอีก”
“การประกาศกฎอัยการศึกของยุนดูเหมือนเป็นทั้งการกระทำที่เกินขอบเขตทางกฎหมายและเป็นการคำนวณทางการเมืองที่ผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจและความมั่นคงของเกาหลีใต้ตกอยู่ในความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น” ลีฟ-เอริค อีสลีย์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอีฮวาในกรุงโซล กล่าว
อีสลีย์ เสริมว่า “เขาฟังดูเหมือนนักการเมืองที่กำลังตกเป็นเป้าโจมตี โดยพยายามเคลื่อนไหวอย่างสิ้นหวังเพื่อต่อต้านเรื่องอื้อฉาวที่เพิ่มมากขึ้น การขัดขวางสถาบัน และการเรียกร้องให้ถอดถอน ซึ่งทั้งหมดนี้มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ”
ดังที่ประธานรัฐสภากล่าวเมื่อวันพุธ (4 ธ.ค.) ว่า “เราจะปกป้องประชาธิปไตยร่วมกับประชาชน”